คราวที่แล้ว iBusiness Review กล่าวถึงเครื่องเอทีเอ็ม SCB ATM ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่มีจุดให้บริการเครื่องเอทีเอ็มมากที่สุดในประเทศไทย โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 10,952 เครื่องทั่วประเทศ ให้บริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคารมากถึง 5 ธนาคาร มาคราวนี้ถึงคิวของสองธนาคารยักษ์ ให้บริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคารระหว่างกันแล้ว
เริ่มจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ผู้ใช้บริการโมบายแบงกิ้งกว่า 10 ล้านราย สามารถถอนเงินไม่ใช้บัตรผ่าน เครื่อง K-ATM ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีจุดให้บริการ 9,100 เครื่องทั่วประเทศ ไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ถอนเงิน ได้สูงสุด 50,000 บาทต่อวัน ค่าธรรมเนียมปกติ 10 บาทต่อรายการ แต่ช่วงแนะนำฟรีค่าธรรมเนียมถึง 31 กรกฎาคม 2567
ส่วน ธนาคารกสิกรไทย ให้ผู้ใช้บริการแอปพลิเคชัน K PLUS กว่า 21.7 ล้านราย สามารถถอนเงินไม่ใช้บัตรผ่าน ตู้ ATM ธนาคารกรุงเทพ ที่มีจุดให้บริการ 8,000 เครื่องทั่วประเทศ โดยได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่กับแอปฯ เวอร์ชันล่าสุดไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ค่าธรรมเนียมปกติ 10 บาทต่อรายการ แต่ช่วงแนะนำฟรีค่าธรรมเนียมถึง 31 พฤษภาคม 2567
ความน่าสนใจก็คือ บริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคารของทั้งสองธนาคาร เลือกจังหวะให้บริการก่อนเทศกาลสงกรานต์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เดือนพฤษภาคม ลูกค้าสามารถใช้บริการได้ฟรี โดยลูกค้าของทั้งสองธนาคารมีจำนวนผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้งมากกว่า 20 ล้านราย และหากนับจำนวนเครื่อง ATM ทั้งสองธนาคารรวมกัน จะพบว่ามีมากกว่า 17,000 เครื่องเลยทีเดียว
โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ธนาคารกรุงเทพจัดสรรเงินสดสำรอง 40,000 ล้านบาท ผ่านสาขาและเอทีเอ็ม พร้อมแผนดูแลการเติมเงินสดในตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในชุมชน และจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ ส่วนธนาคารกสิกรไทย สำรองเงินสดสำหรับให้บริการผ่านเครื่องเอทีเอ็ม 22,800 ล้านบาท แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 8,300 ล้านบาท และภูมิภาค 14,500 ล้านบาท
บริการถอนเงินไม่ใช้บัตรในไทยมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การทำรายการแบบ QR Code โดยธนาคารออมสินนำมาให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2560 เป็นธนาคารแรกในไทย จุดเด่นตรงที่ความปลอดภัย เพราะลูกค้าเป็นผู้สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อถอนเงินด้วยตัวเอง ปัจจุบันมีธนาคารให้บริการถอนเงินแบบ QR Code รวม 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ
อีกลักษณะหนึ่ง คือการทำรายการแบบ One-Time-Password (OTP) ธนาคารส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีนี้เพราะทำรายการง่าย เพียงแค่กดรหัส OTP ที่แสดงที่แอปพลิเคชันบนเครื่องเอทีเอ็ม และยังสามารถแจ้งรหัสแก่ผู้อื่นเพื่อถอนเงินสดแทนเจ้าของบัญชีอีกด้วย เริ่มต้นมีให้บริการผ่านเอทีเอ็มของตัวเอง 4 ธนาคาร ก่อนที่ธนาคารขนาดเล็กจะร่วมถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร
ความน่าสนใจก็คือ ธนาคารที่ให้บริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร ใช้ระบบ ITMXs Single Payment ATM Switch ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการถอนเงินข้ามธนาคาร พัฒนาโดย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (ITMX) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบตั้งแต่การโอนเงิน ORFT ผ่านเครื่องเอทีเอ็มในอดีต มาสู่การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ที่ให้บริการมานานถึง 7 ปี
ITMX มองว่า ที่ผ่านมาลูกค้าถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มด้วยโทรศัพท์มือถือได้แล้ว แต่ต้องนำเงินสดจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารเจ้าของแอปพลิเคชันเท่านั้น จึงมีโครงการ Cardless ATM Withdrawal ของ ITMX เพื่อต่อยอดบริการถอนเงินแบบไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร ให้ลูกค้าธนาคารสามารถทำธุรกรรมข้ามธนาคารได้ โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564
ปัจจุบันมีธนาคารสมาชิกใช้ระบบ ITMXs Single Payment ATM Switch แล้ว 7 แห่ง โดยใช้คำสั่งมาตรฐานของระบบ ITMX’s ATM switch และมีแผนพัฒนาบริการให้รองรับทั้งแบบ One-Time-Password (OTP) และแบบ QR Code
ข้อดีของบริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคารก็คือ เพิ่มปริมาณการใช้งานเครื่องเอทีเอ็ม และเพิ่มความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการเครือข่ายเอทีเอ็ม (ATM network) สำหรับบริการถอนเงินแบบไม่ใช้บัตร ให้แก่ธนาคารผู้ให้บริการโมบายแบงกิ้ง รวมทั้งเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าของธนาคาร ให้สามารถทำธุรกรรมข้ามธนาคารได้ และสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารอีกทาง
สำหรับธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ แม้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าใช้ระบบ ITMXs Single Payment ATM Switch หรือไม่ เพราะเป็น 2 ใน 3 ของธนาคารที่ใช้คำสั่งถอนเงินด้วย QR Code แต่สำหรับค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อรายการ เป็นไปตามที่ธนาคารเจ้าของแอปพลิเคชัน คือ โมบายแบงกิ้งธนาคารกรุงเทพ และ K PLUS ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้กำหนด
หากทั้งสองธนาคาร จะร่วมกับธนาคารที่เหลือให้บริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร ที่ส่วนใหญ่ใช้ระบบ OTP ธนาคารเจ้าของแอปฯ จะต้องพัฒนาแอปฯ เพิ่มเติม โดยใช้มาตรฐานของ ITMX ส่วนธนาคารเจ้าของเครื่องเอทีเอ็ม จะต้องพัฒนาเครื่องเอทีเอ็มเพิ่มเติม ให้รองรับบริการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร โดยใช้มาตรฐานของระบบ ITMX’s ATM switch
หากทำได้จริง จะยิ่งเปิดกว้างให้เพิ่มจำนวนผู้มาใช้บริการเอทีเอ็มมากขึ้น แทนที่บัตรพลาสติกที่ผู้ถือบัตรมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
อ่านประกอบ : #iBusinessReview : กดเงินไม่ใช้บัตรข้ามแบงก์ SCB ATM รวม 5 ธนาคาร จุดบริการ 1 หมื่นเครื่องทั่วไทย (27 ก.พ. 2567)
(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)