แม้ในปัจจุบันบริการถอนเงินไม่ใช้บัตร (Cashless ATM) จะมีให้บริการผ่านโมบายแบงกิ้่งธนาคารชั้นนำทุกแห่ง นับตั้งแต่เริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการธนาคารเมื่อปี 2560 แต่เมื่อธนาคารต่างๆ ลดจำนวนเครื่องเอทีเอ็มลง เพราะต้นทุนการบริหารเครื่องเอทีเอ็มสูงขึ้น สวนทางกับการโอนเงินและชำระเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม มีแนวโน้มลดลง รายได้จากค่าธรรมเนียมก็ลดลงไปด้วย
อีกทั้งแม้บริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคารจะมีให้บริการมาประมาณ 2-3 ปี โดยมีบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ พัฒนาระบบ ITMX’s Single Payment และ ATM Switching ในรูปแบบ OTP แต่ที่น่าสนใจก็คือ จากเดิมจะมีเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก มาปีนี้ก็เริ่มมีธนาคารขนาดใหญ่เข้ามาให้บริการบ้างแล้ว เพื่อเพิ่มช่องทางกดเงินไม่ใช้บัตรนอกเหนือจากธนาคารตนเอง
ล่าสุด เครื่องเอทีเอ็ม SCB ATM ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการแก่ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือทีทีบี เป็นรายล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา คิดค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อรายการ ทำให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน ttb touch กว่า 5 ล้านราย สามารถถอนเงินผ่าน SCB ATM ที่มีจุดให้บริการ 10,955 เครื่องทั่วประเทศ
ปัจจุบัน SCB ATM ให้บริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคารแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ผ่านแอปฯ LHB YOU, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ผ่านแอปฯ KKP Mobile, เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านแอปฯ BAAC Mobile, ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ผ่านแอปฯ alpha by Thai Credit และทีทีบี
สำหรับค่าธรรมเนียมถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร พบว่าแต่ละธนาคารคิดค่าธรรมเนียมแตกต่างกันไป อาทิ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ผ่านแอปฯ LHB YOU ครั้งละ 15 บาทต่อรายการ หรือ ธ.ก.ส. ผ่านแอปฯ BAAC Mobile ครั้งละ 15 บาทต่อรายการ ส่วนบางธนาคารให้ทำธุรกรรมฟรีตามจำนวนครั้งที่กำหนด แล้วจึงคิดค่าธรรมเนียม ซึ่งพบว่าเป็นธนาคารขนาดเล็ก
อาทิ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ผ่านแอปฯ KKP Mobile ไม่มีค่าบริการสำหรับ 10 รายการแรกของเดือน ส่วนรายการที่ 11 เป็นต้นไป คิดค่าบริการครั้งละ 10 บาทต่อรายการ และธนาคารไทยเครดิต ผ่านแอปฯ alpha by Thai Credit ปกติครั้งละ 15 บาทต่อรายการ แต่ช่วงแนะนำ ไม่คิดค่าธรรมเนียมการทำรายการ 4 ครั้งต่อเดือน รวมทุกบัญชีบนแอปฯ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
เป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีจุดให้บริการ SCB ATM นับหมื่นแห่ง ถือเป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบัน ขณะที่มีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ SCB EASY ราว 14 ล้านราย ที่กดเงินไม่ใช้บัตรผ่าน SCB ATM ฟรีค่าธรรมเนียม จากฐานลูกค้า 17 ล้านราย
การเปิดโอกาสให้ลูกค้าธนาคารอื่นเข้ามาใช้บริการกดเงินไม่ใช้บัตรผ่าน SCB ATM นอกจากลูกค้าธนาคารอื่นจะมีทางเลือกมากขึ้นแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียม หากได้รับความนิยมก็เพียงพอกับต้นทุนการบริหารเครื่องเอทีเอ็ม ทดแทนการโอนเงินและชำระเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ที่ผู้คนหันมาใช้โมบายล์แบงกิ้งมากกว่า เพราะฟรีและสะดวก
การถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร ผ่านเครื่องเอทีเอ็มธนาคารอื่น เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับลูกค้าที่ยังคงมีความต้องการเงินสด นอกจากการทำธุรกรรมโดยการโอนเงินผ่านแอปฯ ธนาคาร การสแกนจ่ายกับร้านค้า หรือการถอนเงินผ่านแบงกิ้งเอเยนต์ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ขณะที่การเพิ่มจำนวนเครื่องเอทีเอ็มมีแนวโน้มทำได้ยาก เพราะมีต้นทุนการบริหารเครื่องเอทีเอ็มที่สูง
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อ Ibusiness review สืบค้นข้อมูลจำนวนเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารชั้นนำ 6 แห่ง ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่าปัจจุบัน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีจำนวนเครื่องเอทีเอ็มมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง 10,955 เครื่อง
รองลงมาคือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 9,100 เครื่อง อันดับสาม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประมาณ 8,000 เครื่อง อันดับสี่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 7,260 เครื่อง อันดับห้า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประมาณ 5,621 เครื่อง และอันดับหก ทีทีบี ประมาณ 3,015 เครื่อง
ในอดีตที่ผ่านมา ในแวดวงการธนาคารเคยมีการผลักดันโครงการเอทีเอ็มสีขาว (White Label ATM) เป็นระบบเอทีเอ็มกลางที่รับบัตรของทุกธนาคาร แต่ด้วยการดำเนินการต้องมีขนาดใหญ่พอสมควรจึงจะมีต้นทุนที่ถูกลง ขณะที่พฤติกรรมการใช้เครื่องเอทีเอ็ม ประชาชนนิยมถอนเงินไม่ใช้บัตรมากกว่าใช้บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิตที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
เมื่อบริการถอนเงินไม่ใช้บัตรได้รับความนิยมมากขึ้น น่าคิดว่าเมื่อถึงคราวที่ธนาคารชั้นนำ มีจำนวนเครื่องเอทีเอ็มอยู่ในจุดสมดุล อาจได้เห็นธนาคารขนาดใหญ่ เปิดรับธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้บริการถอนเงินไม่ใช้บัตรเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการใช้เงินสด ไม่ต้องการเดินทางไปยังจุดบริการที่ไกล และธนาคารเจ้าของเครื่องเอทีเอ็มมีรายได้จากค่าธรรมเนียมอีกทางหนึ่ง
(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)