นับตั้งแต่โครงการรถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 จากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงสถานีบ่อเต็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนจะเปิดบริการข้ามประเทศถึงนครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวนผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เริ่มมีความต้องการแรงงานในระบบขนส่งทางรางเกิดขึ้น
วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง (Kunming Railway Vocational and Technical College) หรือ KRVTC เป็นสถาบันการศึกษาระดับอนุปริญญา ที่ผลิตบุคลากรซึ่งมีความสนใจด้านระบบราง ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้พัฒนารถไฟและระบบขนส่งทางรางชั้นนำของโลก และมีเส้นทางรถไฟนับแสนกิโลเมตร
เมื่อวันก่อน คณะสื่อมวลชนใน "โครงการมองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ รุ่นที่ 5" ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้มาเยือนวิทยาลัย KRVTC ตั้งอยู่ที่ เมืองชาวชิบา (Xiaoshiba) เขตกวนตู (Guandu District) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน
ที่นี่ถูกจำลองให้เป็นสถานีรถไฟขนาดย่อม สำหรับนักศึกษาฝึกปฏิบัติ มีตั้งแต่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ที่พักผู้โดยสาร ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบซ่อมบำรุง โปรแกรมจำลองการขับรถไฟ (Simulator) รวมไปถึงรถไฟความเร็วสูง รุ่น CR400 และรถไฟธรรมดา รุ่น YZ25G รวมทั้งจำลองรางรถไฟ สะพานรถไฟ และอุโมงค์รถไฟให้เห็นเสมือนจริงอีกด้วย
วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟคุนหมิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยมีรัฐบาลท้องถิ่นเทศบาลนครคุนหมิงให้การสนับสนุน มีที่ตั้งอยู่ 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตเขตชาวชิบา (Xiaoshiba) และวิทยาเขตหยางฟู (Yangfu) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 25.5 เฮกตาร์ พื้นที่อาคาร 170,000 ตารางเมตร มีอาจารย์ 1,400 คน นักศึกษา 6,700 คน เปิดสอน 5 แผนก ได้แก่
- ล้อเลื่อนรถไฟ (Railway Rolling Stock)
- วิศวกรรมไฟฟ้าระบบราง (Railway Electrical Engineering)
- การขนส่งทางราง (Railway Transport)
- วิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกล (Electrical & Mechanical Engineering)
- วิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Engineering)
โดยมีการเปิดสอนใน 24 วิชา ครอบคลุมทางด้านหัวรถจักรรถไฟ, เทคโนโลยีการจ่ายพลังงานให้กับรถไฟ, การบริหารจัดการระบบอาณัติสัญญาณ, การบริหารจัดการระบบปฎิบัติการด้านการขนส่งทางราง, เทคโนโลยียานพาหนะ วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ระบบขนส่งทางรางในเขตเมือง (Urban Rail Transit หรือ URT) และการบำรุงรักษารถไฟอีเอ็มยู (EMU) เป็นต้น
วิชาเอกประกอบด้วย 1. การประยุกต์ใช้และการบำรุงรักษาหัวรถจักรรถไฟ (Railway Locomotive Application and Maintenance) สำหรับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและบำรุงรักษาระบบหัวรถจักร รับเฉพาะนักศึกษาชายเท่านั้น 2. การบริหารจัดการปฏิบัติการเดินรถการขนส่งทางราง (Railway Transportation Operation Management) สำหรับองค์กรการรถไฟแห่งชาติหรือรถไฟภูมิภาค
การเรียนที่นี่จะมีระยะเวลา 3 ปี มีค่าใช้จ่ายประกอบด้วย ค่าเล่าเรียนปีละ 10,000 หยวน ค่าธรรมเนียมหอพักนักศึกษาปีละ 1,200 หยวน ค่าประกันสุขภาพปีละ 800 หยวน และค่าธรรมเนียมใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (Resident Permit) ปีละ 800 หยวน รวมประมาณ 12,800 หยวนต่อปี หรือตลอดหลักสูตร 38,400 หยวน แต่รัฐบาลคุนหมิงมีทุนการศึกษาให้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย
ที่ผ่านมา วิทยาลัยฯ มีความร่วมมือกับต่างประเทศ ที่สอดคล้องกับนโยบาย หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) และการเปิดประตูคุนหมิงสู่เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการส่งอาจารย์ไปยังเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ประเทศเคนยา และรถไฟจิบูตี-แอดดิสอาบาบา ในประเทศเอธิโอเปีย เพื่อฝึกอบรมบุคลากรรถไฟในท้องถิ่น
โดยก่อนหน้านี้ วิทยาลัยฯ ได้มีกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับ สปป.ลาว ด้านการพัฒนาบุคลากรระบบขนส่งทางราง โดยเริ่มจากให้ทุนการศึกษาแก่อาจารย์ในวิทยาลัยเทคนิคจากแขวงต่างๆ ของ สปป.ลาว ทั้งหมด 40 คน เพื่อกลับไปเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิควิชาชีพทางรถไฟแห่งแรกใน สปป. ลาว ที่จะเปิดการเรียนการสอนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ตัวแทนนักศึกษาลาว กล่าวว่า ได้รับทุนจากโครงการรถไฟลาว-จีนให้มาศึกษาต่อที่นี่ โดยมีอาจารย์ 18 คน นักศึกษา 22 คน เมื่อจบออกไป จะเป็นอาจารย์ชุดแรกที่วิทยาลัยเทคนิคใน สปป.ลาว ซึ่งจะเปิดสอนใน 6 สาขาวิชา แก่เยาวชนลาวที่สนใจเพื่อก้าวเข้าสู่การทำงานด้านระบบรางใน สปป.ลาว เช่น โครงการรถไฟลาว-จีน ถือเป็นการยกระดับรายได้แก่ประชาชนลาวด้วย
ขณะที่ผู้บริหารวิทยาลัย KRVTC กล่าวว่า มั่นใจว่าความต้องการของนักเรียนมีจำนวนมาก จากการพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว พบว่ารูปแบบความร่วมมือค่อนข้างเห็นผล จึงยังมีการสร้างบุคลากรเพิ่มเติม ขณะที่ปัจจุบันรถไฟลาว-จีนมีพนักงานลาวประมาณ 1 ใน 3 โดยมีชาวจีนเป็นพี่เลี้ยง แต่ต่อไปจะมีพนักงานลาวทั้งหมด จึงยังมีความต้องการแรงงานเพิ่มเติม
สำหรับเยาวชนไทยที่สนใจเรียนรู้ด้านระบบรางที่ประเทศจีน มณฑลยูนนานได้อนุมัติงบประมาณแก่วิทยาลัยฯ เพื่อเป็นทุนการศึกษา โดยมีโควตานักศีกษาต่างประเทศทั้งหมด 10 คน ในปีการศึกษา 2566 สำหรับคุณสมบัติ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ต้องมีพื้นฐานภาษาจีน เพราะจะมีการเรียนภาษาจีนที่นครคุนหมิง 6 เดือน ก่อนสอบวัดระดับพื้นฐานภาษาจีน
โดยสามารถศึกษารายละเอียด (เป็นภาษาจีน) ได้ที่เว็บไซต์ http://www.kmtdzy.cn และส่งใบสมัครขอรับทุนการศึกษา ได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ที่อีเมล ktzydwc@126.com
หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งจากการศึกษาดูงาน "โครงการมองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ รุ่นที่ 5" ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2566 ซึ่งจัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
อ่านประกอบ : เยือนนครคุนหมิง ส่องการค้าไทย-ยูนนาน ทุเรียนรับอานิสงส์รถไฟลาว-จีน
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทางเว็บไซต์ ibusiness.co เฟซบุ๊ก Ibusiness และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ทุกวันจันทร์)