xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : เยือนนครคุนหมิง ส่องการค้าไทย-ยูนนาน ทุเรียนรับอานิสงส์รถไฟลาว-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



มณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ไม่มีทางออกทะเล มีพรมแดนติดต่อกัน 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว และเวียดนาม ความยาว 4,060 กิโลเมตร มีประชากรราว 46.93 ล้านคน จาก 26 ชาติพันธุ์ โดยมีเมืองเอกคือ นครคุนหมิง ถือเป็นประตูเชื่อมระหว่างประเทศจีนตอนใต้และตะวันตก กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยูนนานถือเป็นมณฑลของจีนที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด เพราะมีระยะทางบนเส้นทางสาย R3A จากด่านโม่ฮานในเขตฯ สิบสองปันนา ผ่านประเทศลาว ถึงด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพียง 247 กิโลเมตร รวมถึงการขนส่งทางน้ำจากท่าเรือกวนเหล่ย กับท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 จังหวัดเชียงราย และเที่ยวบินตรงคุนหมิง-กรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษ

อีกทั้งยังมีโครงการรถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 จากสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงสถานีบ่อเต็น ยังขยายบริการขบวนรถข้ามแดน เปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารที่สถานีบ่อหาน ไปถึงสถานีคุนหมิงใต้ นอกจากจะขนส่งผู้โดยสารแล้ว ยังมีการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอนาคตจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟไทย-ลาว-จีน


ประเทศไทยกับมณฑลยูนนานมีความสัมพันธ์ในเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ ไทยใช้ยูนนานเป็นประตูเข้าสู่ตลาดจีนตอนใต้และตะวันตก อาศัยระบบคมนาคมภายในจีนเชื่อมโยงต่อไปยังภูมิภาคอื่น เช่น รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป ส่วนยูนนานใช้ไทยเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)


ไทยถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 4 ของมณฑลยูนนาน รองจากเมียนมา ซาอุดีอาระเบีย และเวียดนาม โดยภาพรวมการค้าช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นยูนนานนำเข้าจากไทย 599 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนยูนนานส่งออกไปไทย 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังมีสัดส่วนน้อยมาก เพียงแค่ 1.5% เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าไทย-จีน

สินค้าส่งออกจากไทยไปยูนนาน ได้แก่ ผลไม้ (ทุเรียน มังคุด ลำไย) ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง (ผ่านด่านท่าเรือในมณฑลอื่น เช่น มณฑลกวางตุ้ง) เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนเครื่องมือไฟฟ้าแบบพกพา และแร่ดีบุก ส่วนสินค้านำเข้าจากยูนนานมาไทย ได้แก่ ผัก (ต้นคะน้า) ผลไม้ (ส้ม องุ่น) ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (DAP) ผักแปรรูป และแผ่นโซลาเซลล์ชนิดผลึกซิลิคอนเชิงเดี่ยว

ที่น่าสนใจก็คือ ผลไม้ประเภททุเรียน มังคุด และลำไย เป็นสินค้าที่ยูนนานนำเข้าจากไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันมานานหลายปี ส่วนใหญ่ขนส่งโดยใช้เส้นทาง R3A ผ่านด่านโม่ฮาน และเมื่อด่านรถไฟโม่ฮานสามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ นับตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการขนส่งผลไม้ที่สะดวกรวดเร็วขึ้น


ที่ศูนย์สินค้ากล่อง สถานีหวังเจียหยิงตะวันตก (Wangjiaying West Container Center) นครคุนหมิง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,239 หมู่ หรือประมาณ 516 ไร่ ถือเป็นสถานีต้นทางของตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลยูนนาน เป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ของจีน และเป็นจุดวันสตอปเซอร์วิสด้านพิธีการศุลกากร ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศครบวงจร

ขีดความสามารถของที่นี่ สามารถขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานได้ 20,000 ตู้ในเวลาเดียวกัน คิดเป็น 1,600,000 ตู้ต่อปี จากจุดนี้สามารถส่งออกสินค้าได้หลายช่องทาง ทั้งรถไฟจีน-ลาว ท่าเรือกว่างซี และไปยังจุดหมายต่างๆ ของจีน โดยสินค้ามากกว่า 50% ส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


การเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ทำให้การขนส่งผลไม้จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยเป็นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับสินค้าผลไม้ไทย นับตั้งแต่ฤดูผลไม้ในเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา มีปริมาณ 2,600 ตู้ โดยเฉพาะทุเรียนภาคตะวันออก นับตั้งแต่ล้งมาถึงตลาดค้าส่งในนครคุนหมิง ใช้เวลาขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิเพียง 37 ชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าจากไทย เมียนมา ลาว เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ส่งมายังปลายทางที่สถานีแห่งนี้ รวมถึงสินค้าอีคอมเมิร์ชที่ค้าขายผ่านทางออนไลน์ส่งจากสถานีนี้เช่นกัน อาทิ ลาซาด้า ชอปปี้ อาลีบาบา เจดี เป็นต้น


แม้ยูนนานนำเข้าผลไม้จากไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง แต่ผลไม้ไทยมีคู่แข่งมากขึ้น หลังจีนให้สิทธินำเข้าผลไม้กับหลายประเทศมากขึ้น อาทิ ให้สิทธินำเข้ามังคุดกับไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม ให้สิทธินำเข้าลำไยกับไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา ล่าสุดอนุญาตให้เวียดนามและฟิลิปปินส์นำเข้าทุเรียนสดได้

สำหรับการลงทุนระหว่างไทย-ยูนนาน พบว่า ณ สิ้นปี 2565 มีบริษัทจากมณฑลยูนนานเข้าไปลงทุนในไทยรวม 57 ราย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการเกษตร โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนบริษัทจากไทยได้รับการอนุมัติให้เข้ามาลงทุนแล้ว 232 ราย แต่ยังคงประกอบธุรกิจ 83 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม สุรา เกษตรกรรม อาหารสำเร็จรูป พลังงานไฟฟ้า เทรดดิ้ง

โดยกลุ่มธุรกิจไทยรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุน เช่น กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ลงทุนธุรกิจเหล้าขาว และโรงแรม 2 แห่งในนครคุนหมิง ได้แก่ โรงแรมคราวน์พลาซ่า คุนหมิง ซิตี้ เซ็นเตอร์ และโรงแรมฮอลิเดย์อินน์ คุนหมิง ซิตี้ เซ็นเตอร์


เครือเจริญโภคภัณฑ์ ลงทุนฟาร์มไก่ไข่ ฟาร์มเลี้ยงสุกร โรงงานอาหารสัตว์ ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก จัดจำหน่ายรถขุดและอะไหล่แบรนด์ Caterpillar การลงทุนด้านพลังงานใหม่ในเขตเมืองใหม่เตียนจง อาคารสำนักงานบริเวณเขตกวนตู้ ศูนย์การค้าและอุตสาหกรรมอัจฉริยะอาเซียนที่เขตกวนตู้ ร่วมทุนกับบริษัทฟู่ลี่ (R&F Properties) บริษัทอสังหาริมทรัพย์จากนครกว่างโจว




มณฑลยูนนานมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยุทธศาสตร์ “ไพ่สามใบ” มุ่งเน้นการพัฒนามณฑลใน 3 ด้าน ได้แก่ อาหารสีเขียว (Green Food) พลังงานสีเขียว (Green Energy) และจุดหมายปลายทางรักษ์สุขภาพ (Healthy Lifestyle Destination) รวมถึงประกาศที่จะสร้าง “ดิจิทัลยูนนาน” (Digital Yunnan) เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

พร้อมกันนี้ ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมทันสมัย เร่งสร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าระดับล้านล้านหยวน 5 อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าระดับแสนล้านหยวน 8 อุตสาหกรรม โดยมีเขตลงทุนพิเศษของมณฑลยูนนาน มีพื้นที่ทดลองการค้าข้ามพรมแดน เขตปลอดอากร เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงแห่งชาติ และรวมถึงเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งชาติ


น.ส.ภาวีวรรณ นรพัลลภ กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง กล่าวว่า คนไทยอาจรู้จักยูนนาน ผ่านเมนูอาหาร เช่น สุกี้ยูนนาน แฮมยูนนาน ทางภาคเหนือของไทย แต่การไปมาหาสู่นั้น สมัยก่อนจะเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งดีขึ้น จากเดิมทางรถยนต์ก็มีทางรถไฟลาว-จีน แล้วต่อทางรถยนต์ไปยังประเทศไทย เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจจีน เดิมคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะเจริญเติบโตที่ 5% แต่ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มว่าจะเกินกว่า 5% สิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ ความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้นในจีน ถือเป็นสัญญาณที่ดี ปีนี้จีนพยายามกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนหลายมาตรการ และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เพื่อสร้างระบบอุปสงค์อุปทาน และการจ้างงาน




ปัจจุบัน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้จัดงานเทศกาลไทยเป็นประจำทุกปี เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้ามาแสดงสินค้าเพื่อทดลองตลาดรวมถึงหาคู่ค้าฝ่ายจีน รวมถึงงานแสดงสินค้านานาชาติอื่นๆ เช่น งาน Top Thai Brands ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิงจัดขึ้น

ถือเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับนักลงทุนภาคเอกชนไทย ในการเปิดตลาดจีน โดยเริ่มต้นจากมณฑลยูนนานซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนไทยมากที่สุดแห่งนี้


หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งจากการศึกษาดูงาน "โครงการมองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ รุ่นที่ 5" ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2566 ซึ่งจัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทางเว็บไซต์ ibusiness.co เฟซบุ๊ก Ibusiness และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ทุกวันจันทร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น