xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” เร่งถก กทม.ปมชดเชยรถไฟฟ้า 20 บาท "สุริยะ" ดัน "ร่าง กม.ตั๋วร่วมฯ-รฟม." เข้าสภาฯ 7 ส.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"สุริยะ" เร่งหารือ กทม.ทำความเข้าใจรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมดันร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมและ พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯเข้าสภาฯ 7 ส.ค. มั่นใจใช้ทัน 1 ต.ค.นี้ ตั้งกองทุนตั๋วร่วม ดึงรายได้สะสม รฟม.ชดเชยส่วนต่างรายได้ ด้าน กทม.ติง ชดเชยสีเขียว 2,500 ล้านบาทต่ำเกินจริง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาได้ประชุมหารือร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะทำงานรวมถึงภาคเอกชนผู้ได้รับสัมปทานแล้ว โดยในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และมีความยินดีที่จะสนับสนุนพร้อมที่จะผลักดันมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการตามแผนที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 ประชาชนจะได้ใช้อย่างแน่นอน โดยจะครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 8 สาย รวม 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร (กม.) ทั้งสิ้น 194 สถานี

สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ.…. ในการดำเนินการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เตรียมนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 7 ส.ค. 2568 และจะดำเนินการทูลเกล้าฯ พร้อมกับออกกฎหมายลูกในการบังคับใช้ รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป


ส่วนแหล่งเงินทุนหลังจากแก้ไข พ.ร.บ.ตั๋วร่วมแล้ว ทาง รฟม.จะนำรายได้สะสมส่งเข้ากระทรวงการคลัง และนำเข้ากองทุนภายใต้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อนำเงินไปชดเชยส่วนต่างของรายได้ค่าโดยสารให้แก่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ลดลงจากการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสายซึ่งประเมินจำนวนผู้ใช้บริการ มั่นใจว่าจำนวนเงินชดเชยมีเพียงพอ

ภายในช่วงเดือนสิงหาคม 2568 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” โดยจะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย ระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่ลงทะเบียน) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้า ซึ่งบัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียนจะได้สิทธิโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ดำเนินการจัดทำฟีดเดอร์ โดยจะนำรถประจำทางมาใช้วิ่งระยะสั้น เพื่อรับ-ส่งประชาชนตามแนวรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น


@กทม.ติง ชดเชยสีเขียว 2,500 ล้านบาทต่ำเกินจริง

ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล (ระยะที่ 2) ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. 2568 ว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ถูกลง ซึ่ง กทม.ไม่มีข้อขัดข้องใด

แต่ กทม.มีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ ส่วนของสัมปทานของเอกชนที่มีสัญญาอยู่กับกทม.มีเรื่องรายได้ที่หายไป ที่จะมีการชดเชยอย่างไร โดยตัวเลขที่กระทรวงคมนาคมประมาณการไว้ 2,500 ล้านบาท น้อยจากความเป็นจริง เพราะปัจจุบันค่าโดยสารเฉลี่ยในส่วนสัมปทานสายสีเขียว อยู่ที่ 34 บาทต่อคน โดยมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 7 แสนคนต่อวัน กรณีเก็บ 20 บาท ต้องชดเชย 14 บาทต่อคน หรือประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี แต่เป็นไปได้ที่ราคา 20 บาท อาจทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เช่นเพิ่มเป็น 1 ล้านคนต่อวัน จำนวน 3 แสนคนที่เพิ่มขึ้นจะมีการคิดหรือมีการชดเชยกันอย่างไร อีกกรณีคือ การใช้บริการข้ามสาย เช่น สายสีน้ำเงินต่อสีเขียว จะมีการชดเชยอย่างไร ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องไปหารือในรายละเอียดส่วนต่างเรื่องตัวเลขอีกครั้งว่ามีหลักคิดอย่างไร และจะชดเชยอย่างไร และวงเงินเป็นเท่าไร

อีกส่วนเป็นเส้นทางต่อขยายสายสีเขียว ที่ กทม.จ้างเอกชนเดินรถอยู่ก็ต้องดูว่าจะชดเชยอย่างไร เพราะมีตัวเลขต้นทุนที่แท้จริงที่ กทม.จ้างเอกชนเดินรถประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่มีรายรับประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ต้องหารือกันว่ารัฐบาลจะชดเชยที่ต้นทุนการเดินรถ หรือค่าโดยสาร ต้องให้เกิดความยุติธรรม เพราะหากตกลงเรื่องค่าชดเชยไม่ได้ กทม.ก็อาจจะถูกเอกชนฟ้องได้

รายงานข่าวแจ้งว่า การหารือของคมนาคมกับ กทม.ยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากกรอบการชดเชยยังไม่ตรงกัน ซึ่ง กทม.กังวลผลกระทบต่อสัญญาบีทีเอสและนำไปสู่การฟ้องร้องได้ โดยจะมีการหารือกันอีกในวันที่ 21 ก.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น