ความก้าวหน้าของการพัฒนา SAF หรือ “น้ำมันอากาศยานยั่งยืน” ไทยเป็นหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคด้วยทรัพยากรชีวมวลที่อุดมสมบูรณ์ แต่จำเป็นต้องได้การสนับสนุนจากภาครัฐต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่ ล่าสุดบางกอกแอร์เวย์ส ดีเดย์ใช้จริงจังตั้งแต่ 1 ก.ค. กลุ่มบางจากในฐานะผู้ผลิตชี้สองปมปัญหาสำคัญ ขณะที่ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ย้ำถึงความร่วมมือจะนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions
น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เนื่องจากสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้สูงสุด 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเจ็ตแบบเดิม และยังเปิดโอกาสให้กับธุรกิจชีวภาพในยุคเศรษฐกิจใหม่
ด้วยจุดแข็งของไทยที่มีวัตถุดิบหลากหลายจากภาคเกษตร สามารถนำมาผลิต SAF ได้ เช่น กากน้ำตาล ฟางข้าว แกลบ ซังข้าวโพด น้ำมันพืชใช้แล้ว และแม้แต่มูลสัตว์ มาถึงตอนนี้มีหลายโครงการในไทยที่เริ่มต้นผลิต SAF แล้ว เช่น โครงการของบางจาก ที่ใช้น้ำมันพืชใช้แล้ว มาผลิต SAF บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ที่เริ่มผลิต SAF ด้วยเทคโนโลยีการกลั่นร่วม
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแผนผลักดันการใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน โดยมีเป้าหมายจะใช้ SAF อย่างน้อย 1% ของปริมาณน้ำมันทั้งหมดในเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เข้าเงื่อนไขโครงการ CORSIA (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ภายในปี 2568
CORSIA เป็นมาตรฐานการชดเชยคาร์บอนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทาย เพราะ CORSIA เปรียบเสมือน ‘ข้อตกลงลดโลกร้อน’ ของอุตสาหกรรมการบิน โดยสายการบินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินกว่าที่กำหนด จะต้องชดเชยด้วยการ ‘ซื้อเครดิตคาร์บอน’ หรือใช้ SAF ในสัดส่วนที่กำหนด
ขณะที่ความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานจากสายการบินต่างๆ ล่าสุด บางกอกแอร์เวย์ส เริ่มนำ SAF มาใช้ในเที่ยวบินเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 จากที่ก่อนหน้านี้ การบินไทย และไทยเวียดเจ็ท ได้เริ่มใช้ SAF ด้วยเช่นกัน
• บางกอกแอร์เวย์ส ชูเป้าหมายท้องฟ้าโลว์คาร์บอน
กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การนำเชื้อเพลิง SAF มาใช้ในเที่ยวบินเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ถือเป็นก้าวสำคัญของบางกอกแอร์เวย์สในการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emissions) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายด้านความยั่งยืนในภาคการบิน
จากปี 2567 ที่ผ่านมา สายการบินฯ ได้นำเชื้อเพลิง SAF มาใช้ในเที่ยวบินนำร่อง เส้นทางสมุย - กรุงเทพ ส่วนในปีนี้ จะนำ SAF มาใช้ในเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ จากกรุงเทพ (สุวรรณภูมิ) สู่จุดหมายปลายทางระหว่างประเทศ ได้แก่ พนมเปญ เสียมเรียบ หลวงพระบาง และมัลดีฟส์
ทั้งนี้ เชื้อเพลิงที่นำมาใช้จะเป็นเชื้อเพลิง SAF ในสัดส่วน 1% ผสมกับเชื้อเพลิง Jet A-1 สัดส่วน 99% ซึ่งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยประมาณ 128 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเที่ยวบิน
• บางจาก เปิดสองปมปัญหาถ่วงการพัฒนา SAF
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบริษัทบางจากขานรับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และมีความยินดีที่หน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรภาคธุรกิจให้การสนับสนุนการผลิต SAF กุญแจสำคัญสู่การลดคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบิน โดยมีความพร้อมในฐานะผู้บุกเบิกการผลิต Neat SAF 100% ในประเทศไทยด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ภายใต้ระบบที่ได้รับการรับรองระดับสากล International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน คือ 1) การสร้างความหลากหลายของวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF และ 2) การกำหนดนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนหรือ mandate เพื่อผลักดันการใช้ SAF ในประเทศโดยเร็ว
“ผมขอเสนอแนวทางต่อหน่วยงานภาครัฐในการพิจารณา mandate เช่นการกำหนดสัดส่วนการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน ควบคู่กับการออกมาตรการสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ และจูงใจให้เกิดการลงทุนในระบบนิเวศของ SAF อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย แต่ยังสร้างโอกาสในการยกระดับประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภูมิภาคในอนาคตได้”
• ENTEC สวทช. ผนึกกำลังพันธมิตร ผลักดันสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินหน้ายกระดับบทบาทด้านพลังงานสะอาด ด้วยการร่วมจัดและเข้าร่วมใน 2 เวทีสำคัญระดับภูมิภาค ได้แก่ SEA SAF Forum และงานสัมมนาภายใต้กรอบ ASIA Sustainable Energy Week 2025 (ASEW2025) โดยมีเป้าหมายผลักดันการใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน (SAF) และนวัตกรรมด้านไฮโดรเจนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบพลังงานในอนาคตของประเทศไทยและอาเซียน
เวที SEA SAF Forum : เปิดมุมมองใหม่สู่การบินสะอาด ทาง ENTEC สวทช. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหน่วยงานพันธมิตร จัดงานสัมมนา SEA SAF Forum: From Waste to Wings – Thailand’s Role in Sustainable Aviation Fuel (SAF) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทิศทางการพัฒนา และแนวทางการผลักดัน SAF ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วนร่วมอภิปรายในประเด็นสำคัญ อาทิ แผนที่ทางการพัฒนา SAF ของประเทศไทย บทบาทของ SAF ในการลดคาร์บอนของภาคการบิน การยกระดับมาตรฐานและการผลิต SAF ในประเทศ และความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อสร้างระบบนิเวศ SAF ที่ยั่งยืน ซึ่งเน้นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ในอุตสาหกรรมการบิน
ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการ ENTEC กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเร่งเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านจากระบบพลังงานแบบเดิมที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่ระบบพลังงานที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความมั่นคงในระยะยาว
เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เป็นหนึ่งในห้าเทรนด์เทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่จะมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานแห่งอนาคต การวิจัยและพัฒนา SAF จากวัตถุดิบหมุนเวียนในประเทศ เช่น น้ำมันเหลือใช้หรือชีวมวล ร่วมกำหนดนโยบายและส่งเสริมการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบินไทย
ENTEC จะเดินหน้าด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งสู่ผลลัพธ์เชิงรูปธรรม โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนางานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์ บริการ และโอกาสทางธุรกิจใหม่ เสริมระบบนิเวศนวัตกรรมพลังงานไทยให้เติบโตยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
เทรนด์โลกไปทางไหน?
SAF กำลังได้รับการผลักดันอย่างกว้างขวางในระดับโลก องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากอุตสาหกรรมการบินเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และนโยบายระดับโลกต่างก็ขับเคลื่อนการใช้ SAF เช่น
• ฝรั่งเศส : บังคับให้เที่ยวบินที่ออกจากประเทศผสม SAF ขั้นต่ำ 1% ตั้งแต่ปี 2022 และเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2050 |อ้างอิง
• สหภาพยุโรป : เริ่มบังคับใช้ SAF ในปี 2025 ด้วยสัดส่วนขั้นต่ำ 2% และเพิ่มขึ้นเป็น 70% ภายในปี 2050 |อ้างอิง
• สหรัฐอเมริกา : สหรัฐฯ ตั้งเป้าผลิตเชื้อเพลิงการบินยั่งยืน (SAF) ให้ได้ 3 พันล้านแกลลอนภายในปี 2030 โดยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 50% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเป็น 100% ของความต้องการเชื้อเพลิงการบินทั้งหมดภายในปี 2050
ไม่เพียงเท่านี้ รายงานของ cCarbon ได้คาดการณ์ว่าการผลิต SAF ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 30 เท่า ภายในปี 2030 และมูลค่าตลาดจะพุ่งแตะ 29.7 พันล้านดอลลาร์ โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสำคัญ ด้วยสัดส่วน 17% ของการผลิต SAF ทั่วโลกจากการเป็นภูมิภาคที่มีการขนส่งทางอากาศขนาดใหญ่และเติบโตเร็วที่สุด