“ตอนเราไปออกงานใหม่ ๆ ลูกค้าจะถาม ถามของประเทศอะไร? ซึ่งเขาคิดว่าเป็นงานต่างประเทศ เขาคิดว่าเราแค่รับมาขายเขาไม่เชื่อว่าอันนี้คืองานไทย หลาย ๆ คนเลยจะถาม พอบอกว่างานไทย อึ้ย! งานไทยเหรอ ซึ่งอันนี้ไทยล้วน ๆ เลยแต่เขาคิดว่าเป็นงานต่างประเทศ งานเกาหลี งานญี่ปุ่น
ส่วนหนึ่งเราก็ดีใจ ที่เขามองว่ามันเป็นงานต่างประเทศแต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังคิดอยู่ว่า ทำไมล่ะงานแค่นี้คนไทยทำไม่ได้เหรอ จริง ๆ ผมมองว่าคนไทยทำได้นะ ไม่เห็นมันจะซับซ้อนอะไรมากมายคนไทยก็มีฝีมือ แล้วหลาย ๆ คนที่อยู่ในวงการแคมป์ที่ทำแบรนด์ของตัวเองก็ดีไซน์ออกมาดี ดีมาก ไม่ได้แพ้งานต่างประเทศเลย อาจจะด้วยดีไซน์ ราคาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ลูกค้าตัดสินใจเพราะงานต่างประเทศจะแพงมาก” คุณเอ๋-สมหมาย วัฒนะภาราดา เจ้าของแบรนด์ “A Camp” ซึ่งทำเกี่ยวกับงานอะคริลิกเกี่ยวกับไฟเป็นงาน Handmade ที่ผลิตขึ้นมาในไทยและก็ขายให้กับคนไทยใช้ สำหรับงานตกแต่งแคมป์เพื่อให้แคมป์มีความสวยงาม คุณเอ๋เล่าให้ฟังว่า เดิมทีผมทำงานบริษัท อยู่กับบริษัทเกี่ยวกับผลิต “โคมไฟ” ผมจะอยู่ในส่วนของงานออกแบบผมเคยทำงานเกี่ยวกับทางนี้มา 22 ปี“แล้วก็ในช่วงของโควิดฯ งานมันก็มีปัญหาทำให้เราต้องออกจากงาน พอออกจากงานปุ๊บเราก็เลยดูว่าเราจะหาอะไรทำ เริ่มจริง ๆ ผมรับของที่เป็นของแคมป์ที่จีนผลิตแล้วเราก็เอาเข้ามาขาย ไม่ว่าจะเป็นตะเกียง เป็นโป๊ะ เป็นไฟ อะไรพวกนี้ซึ่งในช่วงของการระบาดหนัก ๆ โควิดตอนนั้นเนี่ย คนจะไม่ค่อยไปโรงแรมจะหนีออกมากางเต็นท์กันเพราะว่ามันเป็นการเว้นระยะห่าง ตามมาตรการด้วย ช่วงนั้นก็วงการแคมป์ก็จะบูมมากไม่ว่ารับอะไรมาขาย ขายได้หมด ขายได้ ๆ” หลังจากโควิดฯ เริ่มซาไป ทุกอย่างดร็อปหมดเลย ของที่เราว่าเคยขายได้ของแบบทั่ว ๆ ไปมันก็เริ่มขายไม่ได้ ออร์เดอก็ตก หลังจากนั้นผมก็มาเห็นงานของต่างประเทศที่เป็นงานอะคริลิกเราก็เห็นว่า ตัวนี้มันน่าจะ (เราก็น่าจะมีความสามารถพอ) ที่จะทำได้เพราะเดิมเราจับเรื่องงานออกแบบมาอยู่แล้วก็เลยเริ่มหันมาจับงานอะคริลิก เริ่มออกแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ดูจากของต่างประเทศบ้าง ออกแบบเองบ้าง แล้วเราก็ปรับเป็นงานของเรา
แต่น้องใหม่โนเนมงานยังไม่โดนใจ ทำอย่างไรให้ไปต่อในธุรกิจได้?
ในช่วงแรก ๆ ก็ยังไม่ค่อยจะสำเร็จเท่าไร เพราะว่างานที่เราขายเราเน้นขายผ่านออนไลน์แล้วก็ไม่มีคนที่รู้จักเรา ทำให้เราไม่ค่อยมีลูกค้าประจำหรือว่าลูกค้าไม่ได้เห็นสินค้าของเรา“แรก ๆ เนี่ยอุปสรรคก็คือเราออกแบบงานออกมา จะไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้าเท่าไร เหมือนดีไซน์เรายังไม่ดีพอ(ยังไม่โดนใจ) ยังไม่โดน แรก ๆ อาจจะออกแบบเป็นกลม ๆ ง่าย ๆ หรืออะไรอย่างเงี้ย แต่ว่าพอลูกค้าไม่โดนใจเหมือนมันต้องปรับ เราก็เริ่มศึกษางานต่างประเทศมากขึ้น ว่าเขามีรูปทรงประมาณไหนอะไรยังไง บางอย่างก็มีลูกค้าถามเรามาว่าเขาอยากได้ประมาณนี้ คุณทำได้ไหม อันนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งเราก็ทำตามที่ลูกค้าอยากได้ ผมได้มาจากนี้ ตรงนี้ก็ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เพราะว่าเวลาเราเดินตามความต้องการของลูกค้าเนี่ย บางทีลูกค้าเขาก็มาเป็นความต้องการของตลาดอยู่แล้วเราก็เลยจะทำ ทำให้เขาและก็ลองขายดู” เนื่องจากว่าเราผลิตเอง เราทำเอง เราก็ทำแค่ชิ้นสองชิ้นลองโพสต์ดู ถ้าโพสต์แล้วขายได้ เราก็จับมาเป็นผลิตภัณฑ์มาตรฐานแล้วก็โพสต์ขายไปเรื่อย ๆ“แต่หลัก ๆ ที่เราขายไม่ได้ผมมองว่าไม่มีใครที่รู้จักแบรนด์ “เอแคมป์”เรายังไม่เป็นที่รู้จักของตลาดแคมป์ หลังจากที่เราดูว่าตลาดมันก็ไม่ค่อยไปสักเท่าไรเราก็มองหาว่า เราก็มองว่าคนอื่นเขาทำกันยังไงก็เริ่มหาช่องทาง” ก็เริ่มหาช่องทางด้วยตัวเองว่า เราควรจะไปออกงานต่าง ๆ นะเหมือนโร้ดโชว์ ผมก็เริ่มจากงานแคมป์ที่เป็นกลุ่มมีทติ้งแคมป์ ที่เวลาเขาจัดงานมีทติ้งอะไรพวกนี้ คนก็ 300 บ้าง 500 หรือ 1,000 เราก็ไปเริ่มจากงานพวกนี้ ไปแจมกับเขา
“ก่อนหน้านี้ผมก็เป็นคนที่ชอบกางเต็นท์คนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็จะอยู่ในกลุ่มกางเต็นท์ประมาณหนึ่ง เขาก็จะมี 3-4 กลุ่ม ที่เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เลย เราก็เริ่มไปดูว่าเขาจัดงานเมื่อไหร่ พอเขาจัดงานปุ๊บเราก็ทักไปที่แอดมินว่าผมสนใจจะไปขายของ แล้วเราก็เป็นสปอนเซอร์ให้เขาก็คือเอาของที่เราทำนี่แหละ แจกไปด้วยเป็นสปอนเซอร์ด้วย ไปแจกของด้วย แล้วก็เอาของไปโชว์ไปขายในงานด้วย” ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ไม่ค่อยเยอะเท่าไร
ฟังความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เน้นงาน Handmade ที่ยังมีโอกาสแข่งขัน
ส่วนใหญ่เวลาไปขายตามงานลูกค้าจะไม่ค่อยซื้อตรงนั้น แต่เขาจะรู้แล้วว่ามีแบรนด์นี้มีอยู่ในแอปส้ม แอปฟ้า แอปดำนะ เขาก็จะแล้วแต่สะดวกในแอปไหนเขาก็จะตามเข้ามาซื้อ เราก็แสตนบายในแอปอยู่ตลอด ออกงานก็ออกงานก็เหมือนไปโชว์สินค้า แล้วออร์เดอส่วนใหญ่ก็จะตามมาในแอป หรือขายหน้างานก็มีเป็นบางงาน“ก็เติบโตมาด้วยสไตล์แบบนี้จนทุกวันนี้ก็ประมาณ ตั้งแต่เริ่มออกงานนะครับปีนี้ก็เข้าปีที่ 2 แต่ว่าแบรนด์เอแคมป์ทำมาประมาณ 4 ปีแล้ว” อีกตลาดหนึ่งที่เอแคมป์ทำอยู่เป็นงาน custom อย่างโคมบางตัวมันจะมีพื้นที่พอ ลูกค้าบางทีมี “โลโก้” มีแบรนด์ มีช่องเป็นของตัวเอง หรืออยากใส่รูปอะไรที่ตัวเองชอบก็เอามาให้เราทำ เราก็ใส่ให้ ก็จะเป็นของลูกค้าโดยเฉพาะ รวมถึง “ป้ายไฟ” ก็มีลูกค้าสั่งทำ ล่าสุดก็เป็น ที่ขายได้เยอะที่สุดก็จะเป็น ลิเวอร์พูล ที่เขาเพิ่งจะได้ถ้วยฯ ก็ทำเป็นป้ายไฟตามที่ลูกค้าสั่ง“จริง ๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดที่บางทีเรามองเห็น หรือว่าบางทีก็คิดว่าแบบนี้ get idea ขึ้นมาว่าน่าจะทำแบบนี้ แล้วเราก็ทำเลย ออกแบบ ทำเสร็จปุ๊บเอามาลองโพสต์ดู เพราะเราผลิตเองเราไม่ต้องไปจ้างใคร” เอแคมป์จะดูตลาดมากกว่าว่าลูกค้าอยากได้อะไร เทรนด์ก็มีด้วยมันจะมาเป็นช่วง ๆ ส่วนใหญ่เทรนด์มันจะมาจากตัว “ไฟ” ถ้ามันมีไฟตัวใหม่ออกมา เราก็ต้องไปตามไฟตัวนั้น มันมี 2 อย่าง ออกแบบใหม่เลย กับอะแด๊ปตัวที่เรามีอยู่ให้ไปใส่กับไฟตัวนั้นได้ อันนี้ต้องตามให้ทันว่า ณ ปัจจุบันเขานิยมตัวไหน
ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดปัจจุบัน และสินค้าจากจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ราคา” ที่สามารถขายได้ถูกกว่าทำให้จูงใจของผู้บริโภคได้มากกว่า แต่สำหรับสินค้ากลุ่มของงานคราฟท์ งานฝีมือหรือว่า Handmade โดยที่แบรนด์ A Camp จะรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย คิดว่าตรงนี้เป็น “โอกาส” ของผู้ผลิตในไทยที่จะสามารถแข่งขันได้มากน้อยแค่ไหน? ซึ่งคุณเอ๋ก็บอกด้วย อะไรที่ผลิตยาก “จีน” เขาไม่ทำอยู่แล้ว เขาจะทำอะไรที่มันเป็นจำนวน ผลิตง่าย ๆ ขายได้เยอะ ๆ ซึ่งตรงนี้เรามันก็เลยกลายเป็น จุดที่เรายังสู้ยืนอยู่ในตลาดได้เพราะว่าของ(สินค้า) ที่มันจะตีราคามาจากจีนมันไม่มี เพราะงานพวกนี้มันเป็นงานฝีมือ ต้องมานั่งประกอบทีละชิ้น ทีละชิ้น ตัดออกมาเสร็จต้องมานั่งอย่างอันนี้ต้องมานั่งขึงเอ็นกว่าจะเสร็จได้แต่ละอัน ถ้าอย่างนี้คือจีนไม่ทำ
ความแตกต่างของ “A Camp” คือ การดีไซน์
ก็มีแบรนด์อื่นแต่งานของเขาก็จะไม่ได้มีเยอะเท่ากับของแบรนด์ “A Camp” เขาอาจจะสั่งผลิต ไม่ได้ผลิตเอง ในบ้านเราก็มีคนที่พยายามจะทำแต่ว่ายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเขาอาจจะออกแบบไม่ได้ คิดต่อไม่ได้ ออกแบบไม่ได้แค่ให้มันมาเป็นของเราเอง หรือแม้กระทั่งออกแบบที่เป็นโปรดักของตัวเองเขาอาจจะเดินไปไม่ถึง“ทุกครั้งที่เราไปออกงานเราก็จะเห็น ลูกค้าเราที่เขาใช้ของเราเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จนคิดว่าปีนี้เราอาจจะออกงานน้อยลง ออกที่มันสำคัญ ๆ แต่ว่าอาจจะไม่ไปขายของแต่เราจะเอาของไปโชว์เฉย ๆ เพราะส่วนใหญ่เราจะขายได้ในออนไลน์มากกว่า” เวลาผมนำเสนอในออนไลน์ผมก็จะมีเพจเฟซบุ้กส่วนตัว(เพจ: A Camp) เราก็จะโพสต์งานที่ลูกค้าสั่งทำบ้าง อันนี้ลูกค้าผลิตพิเศษสำหรับลูกค้าคนนี้ แบบนี้เป็นต้น เราก็จะโพสต์งานพวกนี้ใส่ลงไป หรือว่าบางทีเรามีสีส้ม ลูกค้าสั่งสีเหลืองอันนี้ก็คือเป็น custom เราก็จะโพสต์ลงไปว่า ทำได้นะ สนใจตัวนี้เป็นสีของตัวเองทำได้นะ อยากทำเป็นโลโก้ตัวเองทำได้นะ หรืออยากได้สีนั้นสีนี้ติดต่อสอบถามมา เราทำให้
งานฝีมือคนไทยที่ไม่แพ้แบรนด์ต่างชาติ ด้วย “ราคา” ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า
ถ้าจำนวนจริง ๆ เราสามารถทำได้เยอะ แต่ถ้าเอาเฉพาะที่ขายได้ก็ตีเฉลี่ยวันหนึ่งก็ประมาณ 2 ชุด เดือนหนึ่งก็ 60 อันนี้คือได้อยู่แล้ว หรือช่วงพีค ๆ เลยบางวันมันก็ออกทีหนึ่ง 10 ตัวก็มี“ส่วนใหญ่ของที่มันขายได้เยอะเรามีจะสต็อก อย่างละ 5 ตัว 5 ตัว พอมีออร์เดอมาเราก็หยิบ หยิบ หยิบ สมมติถ้าวันที่มันมา 2 ชิ้นเราก็ขาย 2 ชิ้นนั้นไป เสร็จปุ๊บเราก็นั่งทำ สต็อก สต็อก อันนั้นจะทัน ถ้าเราส่งไม่ทันเราก็จะเลทประมาณ 2 วัน 3 วัน ก็ส่งทัน” แต่ถ้าเราผลิตทั้งวันจริง ๆ จะได้เยอะ แต่ว่าเราจะไปแบกสต็อกเพราะด้วยว่า ผลิตภัณฑ์เราหลากหลายรูปแบบมันก็เลย เราจะสต็อกเยอะไม่ได้
ราคาของเราส่วนใหญ่ อันนี้จะไม่รวมตัวไฟด้วย ราคาจะอยู่ที่เริ่มต้นคือ 220 บาท/ชิ้น ขึ้นอยู่กับไซซ์ แบบ(ทำง่าย-ทำยาก) แพงสุดคือ 1,100 บาท นี่คือแพงสุดของผมเลยแต่ว่าถ้าราคาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 400-600 บาท เพราะว่าความยากในการทำของมัน ทั้งปริมาณอะคริลิกที่ใช้ เวลาที่จะต้องทำ ความยากง่ายในการผลิต“ต้องบอกว่าของที่เอแคมป์ผลิตเนี่ยเมื่อก่อน เป็นของที่คนแคมป์ทั่ว ๆ ไปจับไม่ได้เลย เพราะว่าแพงมาก ต้องบอกว่าชิ้นนึงเนี่ยผมว่าถูกสุดจะต้องมี 1,500-1,800 ตัวแพง ๆ ก็ 3,000 อัพ อะไรประมาณนี้ อย่างงานบางตัวที่ผมทำมา ถ้าเป็นงานต่างประเทศที่ผมดูน่าจะเป็นของญี่ปุ่น เขาขายอยู่ประมาณ 1,600 เป็นงานลูกปัด แต่ผมทำขายเนี่ย 550 เข้าถึงได้ง่ายกว่า ซึ่งตอนทำไม่ได้ดูหรือเห็นของต่างประเทศเลยนะเราทำเราก็คิด เขาก็ทำของเขาขึ้นมา แล้วเราก็เหมือนเอารูปของเราไปเสิร์ชในอินเตอร์เน็ต อ้าว! มันก็มีของต่างประเทศก็ทำคล้าย ๆ แบบนี้ เป็นงานญี่ปุ่น คล้าย ๆ กัน พอตีเป็นค่าเงินไทยปุ๊บเขา 1,000 กว่า ประมาณ 1,600 เราก็นำมาใช้อ้างอิงในการตั้งราคาขายของเราได้” เราก็ดูราคาให้มันสมเหตุสมผลที่ลูกค้าคนไทยสามารถซื้อได้ มันก็เลยกลายเป็นว่าเอแคมป์มาเปิดตลาดทางนี้ในไทยเป็นเจ้าแรก ๆ
พร้อมต่อยอดสู่การนำไปใช้งานได้ไม่จำกัดเฉพาะแคมป์ปิ้งเท่านั้น
คุณเอ๋-สมหมาย วัฒนะภาราดา เจ้าของแบรนด์ “A Camp” ยังบอกด้วย เริ่มโอเคขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนหน้านี้จะไม่ค่อยโอเคเท่าไรอย่างที่บอกว่าผมเพิ่งออกงานได้ประมาณ 2 ปี ก่อนหน้านั้นไม่โอเคพอเราเริ่มออกงานแล้วมันเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อก่อนจะมีปัญหาช่วงที่คนไม่ออกไปกางเต็นท์ ก็คือช่วงหน้าร้อน หน้าฝน คนจะไม่ค่อยออกพอไม่ออกเขาก็จะไม่ซื้อ ช่วงนี้เขาเรียก Low Season ของแคมป์จากรายได้สมมติเราเคยมียอดอยู่ 3 หมื่นยอดมันจะตกมาเหลือประมาณไม่ถึง 15,000 มันหายไปครึ่งหนึ่งเลยหรือมากกว่าครึ่ง“แต่ ณ ปัจจุบันเรายังคงได้อยู่อย่างเช่น หน้าร้อนที่ผ่านมาจนจะเข้าหน้าฝนเนี่ย ออร์เดอเรายังสม่ำเสมอเรื่อย ๆ” ตอนนี้เรากำลังคิดที่จะผลักดันงานพวกนี้ ให้ไปเป็นงานที่ใช้ในบ้าน แทนที่จะเอามาใช้อุปกรณ์ที่เป็น “ไฟฉาย” ไฟแคมป์หรืออะไรอย่างเงี้ย ก็อาจจะไปปรับอีกทีหนึ่งตอนนี้เราคิดอยู่แต่เรายังไม่ได้เริ่มทำ เป็นไฟประดับตามบ้าน ใช้ในห้องนอน ใช้บนโต๊ะกินข้าว ซึ่งจริง ๆ แล้วไฟพวกนี้มันคือใช้ได้เลยสมมติว่าเราตั้งบนหัวนอนมันก็โอเคเลย เป็นโคมไฟสวย ๆ เพียงแต่ว่าเราต้องปรับเรื่องของหลอดของไฟฉายไปใช้ไฟที่มันแมนนวลกว่านี้ ทั่ว ๆ ไปมากกว่านี้ ที่เราคิด
“ล่าสุดก็มีลูกค้าที่เป็น เขาเป็นคราฟท์เบียร์เขาก็สั่งงานเราไปตั้ง เหมือนเขาจัดร้านสไตล์แคมป์อะไรประมาณนี้ มันก็เริ่มไปอย่างน้อยมันก็ไปอยู่ในร้านอาหาร อย่างป้ายไฟมันไม่ใช่แคมป์แล้วบางทีเขาขายของ เขาก็ทำเป็นโลโก้เขาตั้ง ร้านกาแฟมี บางทีก็สั่งไปร้านติดฟิล์มโทรศัพท์มี ซึ่งไม่ใช่งานแคมป์เขาก็เอาไปใช้ ใช้กับงานอื่น ๆ ตลาดมันก็ไปเรื่อย ๆ” สำหรับผมแล้วงานที่เป็นงาน custom โอเคมันยากก็จริง มันเสียเวลาก็จริง แค่ชิ้นเดียว แต่ว่าบางทีงาน custom มันก็ทำให้เราได้ Products ใหม่ ๆ ขึ้นมาเหมือนกัน
ต่อยอดการดีไซน์สู่ธุรกิจใหม่ “เอแคมป์” อุปกรณ์แคมป์ปิ้งแบรนด์ไทยงานไอเดีย & ทำมือ ในราคาหลักร้อย! ขอบคุณแรงบันดาลใจดี ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานและการเป็นตัวอย่างของการค้นพบตัวเอง เพื่อเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่วิกฤตมาเยือนแต่ยังสามารถขับเคลื่อนชีวิตให้เดินหน้าต่อไปได้ โอกาสของงานไอเดีย งานแฮนด์เมด งานคราฟท์ต่าง ๆ ที่ยังมีช่องทางในการทำตลาดได้สำหรับยุคนี้ ติดตามผลงานหรือสนใจสั่งซื้อสินค้าติดต่อสอบถามไปได้ที่ คุณเอ๋-สมหมาย วัฒนะภาราดา เจ้าของแบรนด์ A Camp โทร.092-449-4787 หรือเพจ: A Camp
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *