xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ร่วมขับเคลื่อน "เศรษฐกิจชีวภาพ" ช่วย BEDO คัด 21 ผู้ประกอบการ คว้า "B MARK ปี2568"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO จัดงาน “มหกรรมทรัพยากรชีวภาพและการสร้างโอกาสทางการตลาด” ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2568 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทยผ่านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน 

ภายในงานมีการประกาศผลและมอบรางวัลเครื่องหมาย B MARK ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน โดย สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ หรือ SERI ได้รับมอบหมายจาก BEDO ในการประเมินและตรวจการรับรองผลิตภัณฑ์ที่สมควรได้รับรางวัลเครื่องหมาย B MARK


การประกาศผลและมอบรางวัล “เครื่องหมาย B MARK” ประจำปี 2568 ให้แก่ผู้ประกอบการจากทั่วประเทศจำนวน 21 ราย ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 85 รายการ ซึ่งล้วนผ่านกระบวนการประเมินอย่างเข้มข้น ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรับผิดชอบ การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนในเชิงอนุรักษ์ การประเมินคุณสมบัติของผู้ประกอบการในครั้งนี้ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้แสดงบทบาทสำคัญทั้งในการออกแบบ พัฒนา และปรับปรุงเกณฑ์การประเมิน B MARK ให้มีความทันสมัย เที่ยงตรง และสามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

เครื่องหมาย B MARK จึงมิได้เป็นเพียงตรารับรองผลิตภัณฑ์ แต่เป็นกลไกเชิงระบบที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยประเมินตามหลักการ BEDO 3 ประการ ได้แก่ 1) การใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีคุณค่า 2)การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) การปันรายได้กลับไปอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศในท้องถิ่น นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดให้มีการแสดงผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับการรับรอง B MARK พร้อมกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพทางการตลาด เช่น กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การเสวนาองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และการสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่นจากชุมชนทั่วประเทศ

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “เครื่องหมาย B MARK เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพไทยภายใต้กรอบ BEDO- BCG และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs โดย BEDO ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทางวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง SERI เพื่อพัฒนาเกณฑ์ให้เข้มข้น และกระบวนการประเมินให้มีความน่าเชื่อถือสูงสุด เรามองว่า “การสร้างรายได้ควบคู่กับการอนุรักษ์ คือ หัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “B MARK คือ คำตอบที่จับต้องได้ในทางปฏิบัติ”

นางสุวรรณา ย้ำว่า “ในกระบวนการคัดเลือกและตรวจประเมินทีมวิจัยได้ลงพื้นที่จริงเพื่อสัมภาษณ์ เก็บข้อมูล ตรวจสอบแหล่งทรัพยากร กระบวนการผลิต และผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชนโดยรอบ เพื่อให้ผลประเมินมีความแม่นยำ โปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค”

รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ SERI
รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ SERI
กล่าวถึงบทบาทของทีมวิจัยในครั้งนี้ว่า “ภารกิจของเรา คือ การยกระดับมาตรฐานของเกณฑ์ B MARK ให้สามารถสะท้อนภาพรวมของ “การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างมีจิตสำนึก” ได้อย่างแท้จริง เราได้ปรับปรุงเครื่องมือประเมินให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเน้นทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ได้รับเครื่องหมายนี้ไม่เพียงดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ แต่ยังมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม”

“ในปีนี้เป็นปีแรกที่สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ ได้เข้ามาร่วมงานกับ BEDO
ในการประเมินและตรวจการรับรองผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ B MARK ซึ่งเกณฑ์ในปีนี้ได้มีการปรับปรุงในเรื่องการใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นโดยนำความหลากหลายทางชีวภาพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องการจัดการมลพิษของสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงาน น้ำ การจัดการขยะ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สถาบันฯ ได้เข้าไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการต่างๆ ในรูปของวิสาหกิจชุมชนให้มีการจัดการเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเน้นย้ำการนำความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนมาใช้ควรจะมีการให้ประโยชน์คืนกลับไปยังท้องถิ่นด้วย” รศ.ดร.พันธวัศ กล่าว

งาน “มหกรรมทรัพยากรชีวภาพและการสร้างโอกาสทางการตลาด”
ผู้ประกอบการจากทั่วประเทศ จำนวน 21 ราย ซึ่งได้รับรางวัล “เครื่องหมาย B MARK”ประจำปี 2568 มีดังนี้

ภาคตะวันออก จำนวน 3 ราย 1.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) 2.
วิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพตำบลวันยาว 3. บริษัท วิสาหกิจชุมชนไม้กฤษณาระยอง
จำกัด

ภาคตะวันตก จำนวน 2 ราย 4.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปใยพืชและต่อยอดนวัตกรรมอากาเว่ บ้านยางคู่ 5. บริษัท ภาลักษณ์เจริญ จำกัด

ภาคเหนือ จำนวน 7 ราย 6.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง 7.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงธรรมชาติแม่อิง 8. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยายหม่อม ฟู้ดโปรดักส์ 9.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อศรีดอนชัย 10. บริษัท เวิลด์ โกรว์ จำกัด 11. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะไฟจีนบ้านกอก 12. วิสาหกิจชุมชนบ้านสวนงอกงาม

ภาคกลาง จำนวน 6 ราย 13.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านท่าช้าง พิษณุโลก 14.
วิสาหกิจชุมชนยาสีฟันเอนไซม์เฮิร์บบุปผาวัน 15.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมบ้านชุมตาบง 16. บริษัท อารยโชคทรัพย์ จำกัด

ภาคใต้
จำนวน 5 ราย 17. วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์กระจูดบ้านพรุกาบแดง 18.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีสานเสื่อกระจูดบ้านโคกพะยอม (Najmee Brand)19. วิสาหกิจชุมชนBARAHOM BARZAAR20. วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมกลุ่มน้ำพริกหอยทะเลบ้านบางติบ และ21.วิสาหกิจชุมชนศูนย์แปรรูปข้าวไร่ดอกข่า บ้านแร่

การประกาศผลและมอบรางวัล B MARK ในครั้งนี้เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับมาตรฐานของผู้ประกอบการไทยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ BEDO มุ่งมั่นที่จะต่อยอดความสำเร็จนี้ในระยะยาว โดยเตรียมขยายแนวทาง B MARK ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ พร้อมพัฒนาระบบสนับสนุนเชิงนโยบาย การเข้าถึงตลาด การสร้างแบรนด์ และการต่อยอดนวัตกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจจากฐานชีวภาพไทยก้าวสู่การพัฒนาที่มั่นคง ครอบคลุม และยั่งยืนในทุกมิติ
กำลังโหลดความคิดเห็น