xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทอีวีจีนดาหน้าบุกตลาดโลก พลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


Avatr 06 ของฉางอานในงานเซี่ยงไฮ้ ออโต้ โชว์ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 เม.ย. ถึง 2 พ.ค.
ค่ายรถจีนพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์โลกครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดเกมบุกตลาดต่างแดนอย่างรวดเร็ว ผ่านกลยุทธ์การตั้งฐานการผลิตในประเทศต่างๆ การเข้าซื้อกิจการและโรงงาน การจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่น และสุดท้ายคือการเสนออีวีราคาย่อมเยาที่มาพร้อมดีไซน์โฉบเฉี่ยวและระบบไฮเทคล้ำสมัยอัดแน่นห้องโดยสาร

ฟาสต์ คอมปานีรายงานว่า บริษัทอย่างบีวายดี, เกรท วอลล์, และจีลี่ กำลังสยายปีกออกสู่ต่างแดนเพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดท่ามกลางการต่อสู้เชือดเฉือนในประเทศ

ที่สำคัญ บริษัทเหล่านี้ไม่ใช่กิจการของรัฐบาลจีนอย่าง SAIC, BAIC และกวางโจว ออโตโมทีฟ แต่เป็นบริษัทเอกชนที่ไต่เต้าเติบโตมาด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่น จีลี่ที่เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทผลิตตู้เย็นมาก่อน

หรือบีวายดีที่สั่งสมประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ที่กลายเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่สุดของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ นอกจากนั้นยังมีบริษัทเทคโนโลยีที่หันมาจับมือกับผู้ผลิตรถเพื่อนำเสนอระบบขับขี่อัตโนมัติ และต่อไปนี้คือเหล่าผู้เล่นสำคัญในแวดวงอีวีจีน

เกรท วอลล์ มอเตอร์

เกรท วอลล์ มอเตอร์ เจ้าของแบรนด์ฮาวาล, เวย์, ออรา, โพเออร์ และแทงก์ เดิมพันกับยอดขายในต่างประเทศเพื่อรักษาอัตราการเติบโต หลังจากยอดขายในจีนตกลงเกือบ 15% เมื่อปีที่แล้ว แม้กำไรสุทธิพุ่งโด่งกว่า 80% ก็ตาม

บริษัทอีวีชั้นนำแห่งนี้มีโรงงานในรัสเซีย ไทย และบราซิล โดยส่งกระบะไฮบริดโพเออร์ชนกับโตโยต้า ไฮลักซ์ นอกจากนั้นยังมีเอสยูวีไฮบริดตัวเก่งคือ ฮาวัล เอช6

เกรท วอลล์เปลี่ยนผ่านสู่การผลิตในต่างแดนราบรื่นด้วยดีโดยใช้วิธีซื้อโรงงานของบริษัทอื่น เช่น โรงงานของเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ในไทย และโรงงานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในบราซิล

เว่ย เจี้ยนจวิน ประธานกรรมการเกรท วอลล์ ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องมีการผลิตในปริมาณมากเพื่อควบคุมไม่ให้ต้นทุนสูงเกินไป

เว่ยเกิดที่ปักกิ่ง แต่ย้ายไปอยู่ใกล้ๆ มณฑลเหอเป่ยซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเกรท วอลล์ เขาเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านจากการดัดแปลงรถมาเป็นผู้ผลิตรถ และกลายเป็นผู้ผลิตรถกระบะใหญ่ที่สุด รวมถึงผู้ผลิตเอสยูวีชั้นนำของจีน

นอกจากนั้นเกรท วอลล์ยังมีกิจการร่วมทุนผลิตอีวีกับบีเอ็มดับเบิลยู

เชอรี่ ออโตโมบิล

เชอรี่ ซึ่งเป็นกิจการของรัฐบาลจีน เป็นบริษัทรถจีนแห่งแรกที่ส่งออกรถไปต่างประเทศ มียอดขายในต่างแดนกว่า 15 ล้านคันจากแบรนด์เชอรี่, เอ็กซีด, โอโมดา และเจทัวร์ ส่วนใหญ่มาจากประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่

ยอดขายนอกประเทศปีที่แล้วอยู่ที่ 2.6 ล้านคัน และบริษัทคาดหวังให้เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคันในปีนี้ โดยกำลังเร่งขยายการผลิตในประเทศต่างๆ เช่น โดยการเข้าไปตั้งโรงงานในรัสเซียและสเปน เชอรี่ยังขยายตัวอย่างรวดเร็วในละตินอเมริกา

เชอรี่จับมือกับผู้ผลิตอีวี วิชันนารี วิฮิเคิล เพื่อดันยอดขายในอเมริกาเหนือ และร่วมทุนแบบ 50-50 กับจากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของทาทา มอเตอร์ของอินเดียที่ผลิตจากัวร์และแลนด์ โรเวอร์ในจีน นอกจากนั้นยังเป็นพันธมิตรกับหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ และอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ

บริษัทในเครือของเชอรี่คือ เชอรี่ นิว อิเนอร์จี ผลิตรถเล็กอย่าง eQ1 หรือสมอลล์ แอนต์ และ QQ Ice Cream แต่ผลิตภัณฑ์หลักคือ เอสยูวีทิกโก และซีดานอาร์ริโซ

อย่างไรก็ตาม ยอดขายส่วนใหญ่ของเชอรี่ในขณะนี้ยังมาจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป

บีวายดี

ปีที่แล้วบีวายดีผลิตอีวีมากกว่าเทสลา เฉพาะในจีนมียอดขาย 3.52 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากปลั๊ก-อินไฮบริดที่เป็นจุดแข็งของบริษัท ขณะที่คนจีนหันหลังให้รถใช้น้ำมันมากขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ บีวายดีที่มีฐานธุรกิจอยู่ในเซินเจิ้น เปิดตัวระบบชาร์จเร็วพิเศษที่สามารถชาร์จอีวีรุ่นล่าสุดเต็มภายใน 5-8 นาที พอๆ กับเวลาที่ใช้ในการเติมน้ำมัน และมีแผนสร้างสถานีชาร์จใหม่กว่า 4,000 แห่งทั่วจีน

บริษัทแห่งนี้เริ่มต้นมาจากการผลิตแบตเตอรี่ และปรับปรุงเทคโนโลยีแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงานอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการสร้างอาณาจักรยานยนต์ที่กำลังสยายปีกออกไปเติบโตนอกบ้านเกิด

แม้อีวีรุ่นพรีเมียมที่สุดถูกคาดหมายว่า จะตั้งราคาที่ราว 40,000 ดอลลาร์ แต่บีวายดียังมีรุ่นราคาประหยัดอย่างซีกัลที่ขายในจีนในราคาเพียง 12,000 ดอลลาร์โดยประมาณ

ปีที่ผ่านมาบีวายดีผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่มากกว่าเทสลาเล็กน้อยคือ 1,777,965 คัน เทียบกับ 1,773,443 คัน

เช่นเดียวกับบริษัทอีวีจีนอีกหลายแห่ง บีวายดีมีแผนขยายตัวเชิงรุกในตลาดต่างประเทศ ล่าสุดได้เริ่มสร้างโรงงานในกัมพูชาที่คาดว่า จะขึ้นสายการผลิตได้ปลายปีนี้โดยมีกำลังการผลิตปีละ 10,000 คัน

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น บีวายดีมีโรงงานอยู่แล้ว 1 แห่งในไทยที่มีกำลังผลิต 150,000 คัน และมีแผนสร้างโรงงานอีกแห่งในอินโดนีเซียด้วยเงินทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้

จีลี่ ออโต้

จีลี่ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดยหลี่ ซูฝู โดยเริ่มต้นจากการผลิตตู้เย็นในเมืองไท่โจวทางตะวันออกของจีนที่ก่อนหน้านี้เป็นฮับอุตสาหกรรมเอกชน

ปี 2010 หลี่เริ่มเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์ในต่างประเทศด้วยการซื้อวอลโว่ คาร์ของสวีเดนมาจากฟอร์ด มอเตอร์ และต่อมาได้ซื้อหุ้น 49.9% ในโปรตอนของมาเลเซีย ทำให้บริษัทถือหุ้น 51% ในแบรนด์รถสปอร์ตหรูโลตัส

จีลี่ยังร่วมทุนแบบ 50-50 เพื่อผลิตสมาร์ทซิตี้คาร์กับเดมเลอร์ของเยอรมนี และร่วมกับเรโนลต์จากฝรั่งเศสพัฒนาระบบส่งกำลังรถยนต์ รวมทั้งถือหุ้นในแอสตัน มาร์ติน ลากอนดา

บริษัทอีวีแห่งนี้ยังเป็นเจ้าของซีเคอร์ อินเทลลิเจนต์ เทคโนโลยี โฮลดิ้งส์ ผู้ผลิตอีวีพรีเมียมแบรนด์ซีเคอร์ นอกจากนั้นจีลี่และวอลโว่ยังเป็นเจ้าของโพลสตาร์ บริษัทผลิตรถในสวีเดน

วู่หลิง

วู่หลิง แบรนด์อีวีที่ขายดีที่สุดอันดับ 2 ในจีน เป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง SAIC Motor ของเซี่ยงไฮ้ กับจีเอ็ม และกว่างซี ออโต้ มียอดขายกว่า 673,000 คันและส่วนแบ่งตลาด 6% ในจีน เทียบกับเกือบ 1 ใน 3 ของบีวายดี ส่วนแบรนด์อีวีขายดีอันดับ 3 เป็นของเทสลา 659,000 คัน

นอกจากซีดานและแวนเป่าจุนแล้ว วู่หลิงยังผลิตเครื่องยนต์ รถยนต์เชิงพาณิชย์ มินิอีวี และรถกอล์ฟ

แบรนด์อื่นๆ

แบรนด์อีวีชั้นนำของจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในต่างประเทศยังรวมถึงนีโอ, เอ็กซ์เผิง, หลี่ ออโต้, ลีป มอเตอร์, ตงเฟิง มอเตอร์ กรุ๊ปของรัฐบาลจีนที่เป็นพันธมิตรกับนิสสัน มอเตอร์ และฉางอาน ออโต้โมบิล ที่ร่วมมือกับมาสด้า มอเตอร์ และฟอร์ด มอเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น