ปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการ มีราคาปรับตัวลดลงอย่างหนัก ไม่รู้ว่าเป็นผลพวงจากตลาดโลก ที่ความต้องการลดลง หรือส่งออกได้ลดลง หรือเป็นเพราะความไร้ฝีมือในการบริหารจัดการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบมัวแต่สนใจเรื่องอื่น ทำให้ละเลยการดูแลสินค้าเกษตรออกไป เพราะหากดูสถิติย้อนหลัง ใช้เวลาแค่ 6 เดือน บางรายการ ราคาดิ่งเกิน 100% ขณะที่ต้นทุนไม่เคยลดลง ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลง จนสร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และกระทั่งวันนี้ สถานการณ์ราคาก็ยังไม่มีทิศทางที่จะปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ หากเจาะให้ลึกลงไป ช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นยุคที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เข้ามากุมบังเหียร บริหารงาน ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยเข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการประมาณเดือน ก.ย.2567 ต่อจากนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ขยับไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
โดยราคาปาล์มน้ำมัน เมื่อช่วงเดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ประมาณกิโลกรัม (กก.) ละ 6.55-7.30 บาท และราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนทำสถิติราคาสูงสุดที่ 10.40 บาทต่อกก. เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ.2568 จากนั้นได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เดือน มี.ค.2568 เหลือ กก.ละ 5.80-7.10 บาท และล่าสุดวันที่ 22 เม.ย.2568 ราคาเหลือ กก.ละ 4.80-5.50 บาท หากนับตั้งแต่ช่วงราคาสูงสุดจนถึงวันนี้ ใช้เวลาแค่ 2 เดือน ราคาปรับลดลงไปแล้วกว่า 100%
ส่วนมันสำปะหลัง ราคาเมื่อเดือน ก.ย.2567 ราคาอยู่ที่ กก.ละ 2.45-3.35 บาท แต่ราคาเดือน เม.ย.2568 อยู่ที่เฉลี่ย กก.ละ 1.70-2.00 บาท และยางพารา ราคาเดือน ก.ย.2567 น้ำยางสด กก.ละ 72.50 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 88 บาท แต่เดือน เม.ย.2568 ราคาน้ำยางสด กก.ละ 56.20 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 66.50 บาท
ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ราคาเดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ตันละ 11,000-11900 บาท แต่เดือน เม.ย.2568 อยู่ที่ตันละ 6,800-7,900 บาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้น 14.5% ราคาเดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ กก.ละ 9.70 บาท โรงงานรับซื้อ กก.ละ 10.30 บาท แต่เดือน เม.ย.2568 ราคา กก.ละ 9.10-10.10 บาท โรงงานรับซื้อ กก.ละ 10.45 บาท ซึ่งเป็นเพียงรายการเดียว ที่ราคาไม่ปรับลดลงมากนัก
ย้อนนโยบาย“พิชัย”ดันเพิ่มรายได้เกษตรกร
หากยังจำกันได้ ในช่วงที่นายพิชัย เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ช่วงเดือน ก.ย.2567 ได้ประกาศนโยบายการทำงานไว้ทั้งสิ้น 10 ข้อ สรุปสั้น ๆ ได้ คือ 1.ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ขยายโอกาส 2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภคผู้ประกอบการ 3.ทำงานเชิงรุกพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ให้เกิดประสิทธิภาพ 4.ปรับปรุงกฎหมายล้าสมัยล้าสมัย รองรับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 5.การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจฐานราก 6.การผลักดันการส่งออก 7.ผลักดันการใช้ประโยชย์จากความตกลงการค้าเสรี 8.การพาธุรกิจไทยบุกต่างประเทศ 9.ปรับโครงสร้างส่งออกให้ทันสมัย 10.ส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตสินค้ารักสิ่งแวดล้อม
โดยมาตรการดูแลสินค้าเกษตร อยู่ในหัวข้อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ซึ่งตอนนั้น นายพิชัยบอกว่า จะเร่งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ทั้งการลดต้นทุน และการหาตลาดส่งออก เพื่อผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้น และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
เกษตรกรโวยราคามีแต่ดิ่งลง
แต่ผลการดำเนินการตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน ราคาปาล์มน้ำมันล่าสุด ได้ตกลงมาอยู่ที่ กก.ละ 4.80 บาท เพราะโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และลานเท อ้างว่า ผลผลิตเต็มสต๊อก และขอหยุดรับซื้อ ไม่ใช่แค่รายเดียว แต่หยุดพร้อม ๆ กันหลายราย จนเกษตรกรได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการรวมหัวกันหยุดหรือไม่ เพราะการหยุดช่วงสงกรานต์ ก็พอที่จะคาดการณ์ได้ แต่นี่พ้นช่วงสงกรานต์มาเป็นสัปดาห์แล้ว ยังมีการประกาศหยุดอีก
ส่วนราคามันสำปะหลัง บางพื้นที่ ราคาตกไปอยู่ที่ กก.ละ 1.50 บาท ต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยพ่อค้าที่รับซื้อมันสำปะหลังอ้างว่า ส่งออกไม่ได้ เพราะตลาดจีนไม่ซื้อ แต่อีกด้าน กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ข่าวใหญ่โตว่า สามารถขายมันสำปะหลังให้กับจีนได้เกือบ 1 ล้านตัน และมีการส่งออกไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ราคาในประเทศมีแต่ปรับตัวลดลง ก็ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
ขณะที่ยางพารา ราคาก็ตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ โดยราคาน้ำยางสด อยู่ที่ กก.ละ 52 บาท จากช่วงต้นปี กก.ละ 72 บาท และเศษยาง หรือยางก้นถ้วย อยู่ที่ กก.ละ 25 บาท จากเดิม 30 บาท ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกยาง ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูแลโดยด่วน
ส่วนข้าวเปลือกเจ้า วันนี้ราคาก็ยังตกต่ำ ยกเว้นข้าวเปลือกชนิดอื่น ๆ ที่ราคาทรงตัวและดีขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลกับเกษตรกรว่า เป็นเพราะอินเดียได้กลับมาส่งออกข้าวขาว และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวขาวรายสำคัญของไทย ได้หยุดนำเข้า จึงทำให้ข้าวไทยขายได้ยาก และราคาปรับตัวลดลง
ซัดมัวแต่สนใจเรื่องต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรในสินค้าเกษตรสำคัญ ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลสินค้าเกษตร อย่างกระทรวงพาณิชย์ ไม่ให้ความสำคัญกับเกษตรกร เพราะให้ความสำคัญกับเรื่องการเจรจาการค้า การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากกว่า ที่จะดูแลเกษตรกร จนทำให้เป็นปัญหาอย่างทุกวันนี้
โดยเรื่องนี้ สส.ในพรรคเพื่อไทยเอง ก็เคยออกมาขย่มนายพิชัยว่า ไม่สนใจดูแลสินค้าเกษตร เพราะมัวแต่เดินสายไปต่างประเทศ พร้อมกับเรียกร้องช่วยหันมาให้ความสำคัญให้มากกว่านี้ เพราะเกษตรกรเดือดร้อนหนักแล้ว ถ้าไม่ทำอะไร ไม่เพียงแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะอยู่ไม่ได้ แต่รัฐบาลก็จะอยู่ไม่ได้ด้วย
มุขเดิมวิ่งตรวจปิดป้ายรับซื้อ-เครื่องชั่ง
ต่อมา เมื่อเสียงเรียกร้องดังขึ้น กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มขยับ และมีมาตรการออกมาดูแล แต่หากเจาะลึกลงไป พบว่า เป็นมาตรการที่ไม่ได้ส่งผลต่อราคาแต่อย่างใด เพราะทำแค่กำกับดูแลการซื้อขาย ทั้งการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ และการดูแลเครื่องชั่ง ป้องกันไม่ให้เกษตรกรโดนเอาเปรียบจากการนำสินค้าไปขายให้กับพ่อค้า
โดยนายพิชัย ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ติดตามสถานการณ์การรับซื้อผลปาล์มน้ำมันและยางพาราในพื้นที่อย่างเข้มงวด กำหนดให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อให้ชัดเจน มีการรับซื้อเป็นไปตามราคาที่แสดงไว้ และตรวจสอบเครื่องชั่งให้มีความเที่ยงตรง หากพบไม่ปฏิบัติตาม ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเอาเปรียบเกษตรกรและสร้างความเป็นธรรมในการรับซื้อ
เพราะตอนนี้ ผลผลิตปาล์มน้ำมัน ได้ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โรงสกัดน้ำมันปาล์มในพื้นที่หยุดการรับซื้อในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาผลปาล์มปรับตัวลดลง แต่ขณะนี้ ทั้งโรงสกัดและลานเทได้เปิดรับซื้อตามปกติแล้ว แต่ด้วยผลผลิตที่ออกกระจุกตัวและมีปริมาณมากในช่วงนี้ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนของยางพารา นายพิชัยบอกว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการยางพาราที่รับซื้อยางพารา 5,000 กิโลกรัม (กก.) ขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณซื้อ-ขาย-คงเหลือ และสถานที่เก็บ เพื่อให้สามารถประเมินอุปทานของสินค้าในตลาดภายในประเทศได้อย่างถูกต้อง และขอให้มีการกำกับดูแลการรับซื้ออย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งในเรื่องการปิดป้ายแสดงราคาให้มีความชัดเจน และการใช้เครื่องชั่งที่ได้มาตรฐานตามที่กรมการค้าภายในกำหนด
ขณะที่กรมการค้าภายใน ได้รับลูกด้วยการจัดชุดเฉพาะกิจ ปูพรมลงพื้นที่ติดตามการรับซื้อยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่แหล่งปลูกทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อค้ารายใหญ่กดราคารับซื้อกับเกษตรกร โดยชุดที่ 1 ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชแล้ว ขณะนี้ชุดที่ 2 กำลังลงพื้นที่จังหวัดกระบี่และตรัง และยังมีชุดตรวจจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัด (ชตว.สาขา) ที่ลงพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (นครศรีธรรมราช), ชุมพร (ระนอง), เพชรบุรี (ประจวบคีรีขันธ์), สงขลา (พัทลุง, สตูล), กระบี่ (ตรัง), ยะลา (ปัตตานี, นราธิวาส) และภูเก็ต (พังงา) โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.2568
โดยให้เหตุผลว่า ยางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก มีบทบาทสำคัญต่อรายได้ของเกษตรกรไทยจำนวนมาก การซื้อขายสินค้าเกษตรดังกล่าว เป็นการซื้อขายระหว่างเกษตรกรและพ่อค้ารายใหญ่ ซึ่งการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม จะทำให้เกษตรกรเสียเปรียบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สินค้าเกษตรมีปริมาณมากและมีพ่อค้ารับซื้อน้อยราย จึงต้องเข้าไปกำกับดูแลการซื้อขาย ทั้งการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ การใช้เครื่องชั่งน้ำหนักที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ ยังฝากถึงผู้ประกอบการรับซื้อสินค้าเกษตร ต้องรับซื้อในราคาที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร ใช้เครื่องชั่งที่มีความเที่ยงตรง หากมีการพบการฝ่าฝืนกฎหมาย อาทิ การไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ การเอารัดเอาเปรียบ การดัดแปลงเครื่องชั่ง จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยทันที และฝากประชาสัมพันธ์ถึงพี่น้องเกษตรกร หากพบเห็นพฤติกรรมไม่โปร่งใสหรือสงสัยว่าถูกเอาเปรียบ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ชั่งตวงวัดและสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ Line@MR.DIT หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
บอกมีแผนแต่ไร้รายละเอียด
ไม่เพียงแค่นั้น นายพิชัยยังได้ระบุว่า ในการหาตลาดให้กับสินค้าเกษตร ได้เร่งหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อผลักดันการส่งออกและเพิ่มปริมาณการส่งออกแล้ว ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยสร้างความต้องการซื้อในประเทศและทำให้ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมโดยรวม
แต่ในความเป็นจริง ทั้งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ ต่างไม่มีความเคลื่อนไหวว่าแผนที่ว่านั้นคืออะไร จะทำอย่างไร จะเพิ่มยอดส่งออกสินค้าเกษตรได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าหากมีการส่งออกได้เพิ่มขึ้นจริง ราคาในประเทศ ก็ควรที่จะปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้
โพลอยากให้ปรับรมว.พาณิชย์
ทางด้าน “นิด้าโพล” ได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ปรับ ครม.วันไหนดี” เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2568 โดยเป็นผลสำรวจระหว่างวันที่ 5-9 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,310 คน เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อการปรับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 48.24 เห็นว่า รัฐบาลแพทองธาร จำเป็นต้องปรับ ครม.โดยเร็วที่สุด รองลงมา ร้อยละ 16.18 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องปรับ ครม. ร้อยละ 15.50 ระบุว่า การปรับ ครม. ควรรออีก 3 เดือน ขณะที่ร้อยละ 10.07 ระบุว่า การปรับ ครม.ควรรออีก 6 เดือน ร้อยละ 6.95 ระบุว่า การปรับ ครม.ควรรออีก 1 ปี และร้อยละ 1.53 เห็นว่า การปรับ ครม. ควรรออีก 9 เดือน
ส่วนกระทรวงที่คิดว่าควรปรับเปลี่ยนในรัฐบาลแพทองธาร 10 อันดับแรก คือ ร้อยละ 57.02 ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ รองลงมา ร้อยละ 48.55 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 46.49 กระทรวงการคลัง ร้อยละ 44.43 สำนักนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 43.89 กระทรวงแรงงาน ร้อยละ 43.82 กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 42.52 กระทรวงกลาโหม ร้อยละ 41.53 กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 41.22 กระทรวงศึกษาธิการ และร้อยละ 40.07 กระทรวงยุติธรรม
สมาชิกพรรคเพื่อไทยเห็นด้วย
ขณะที่ สส.พรรคเพื่อไทย ต่างออกมาแสดงความเห็นด้วยกับผลโพลที่ออกมา โดยนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เป็นกระทรวงอันดับหนึ่งที่ประชาชนอยากให้เปลี่ยน ซึ่งตรงกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่อยากให้เปลี่ยน เพราะที่ผ่านมา ได้ยินสมาชิกพรรคเพื่อไทย และ สส.ในพรรคพูด และหลายคนพูดถึงเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ราคาตก ทั้งยางพารา ปาล์ม ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง จึงนำมาสะท้อนให้กับพรรค และอยากจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รับไปแก้ไข
อย่างไรก็ตาม แม้ล่าสุด น.ส.แพทองธาร จะออกมาระบุว่า ยังไม่มีการปรับ ครม. ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่ทราบว่ามีเรื่องของโพลที่ทุกคนให้ความสนใจ ก็พร้อมรับฟังทุกฝ่าย รวมถึงโพลที่สำรวจความเห็นประชาชนก็จะนำไปคิด พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่า ที่จริง ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ไม่ว่าตำแหน่งอะไร ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีก็เช่นกัน ไม่ใช่แค่ตำแหน่งของใครคนใดคนหนึ่ง เราควรทำใจให้นิ่งไว้
“ทุกคน ทุกอย่าง ต้องทำใจให้นิ่งไว้ วันนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่ได้คิดจะปรับอะไร เมื่อมีความเห็นอะไร ก็มาดูว่ามีอะไรบ้าง เพราะชอบทำงานเป็นทีมและทำงานแบบไม่ต้องสู้กัน สามารถทำงานด้วยกันไม่ต้องไฟต์กันแต่ละกระทรวง ไม่ชอบการแตกความสามัคคี และดูว่าต้องทำให้ดีที่สุด ถ้าสมมุติว่าเกิดอะไรขึ้นมาจริง ๆ เราจะไปปรับแก้ตอนนั้น แต่เวลานี้ยังไม่ได้เป็นอะไร ต้องรอดูแล้วคุยกันก่อน ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ขอตอบตามนี้ แต่อย่างที่บอกว่าเรารับฟังความคิดเห็น”น.ส.แพทองธารกล่าว
แม้จะมีคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรีว่าจะยังไม่ปรับ ครม. แต่ก็เบาใจเสียไม่ได้ โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในโพล และบุคคลที่ถูกมองว่าไม่แก้ไขปัญหาให้กับบ้านเมือง ซึ่งนายพิชัย ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกสปอร์ตไลต์ฉายเข้ามา ตอนนี้สว่าง จนแทบจะปิดอะไรไม่มิด และหากนับจากนี้ ยังไม่สามารถผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น และทำให้เสียงเรียกร้องของเกษตรกรหมดไป เพราะวันนี้ เสียงเรียกร้องของเกษตรกร มีแต่การตั้งคำถามว่า ราคาจะขึ้นเมื่อไร ขึ้นวันไหน ถ้าขืนเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงเวลาปรับ ครม. จริง โอกาสที่จะรอด คงยาก!!!