ผู้ก่อตั้งร่วมของ Ethereum เตือนโลกไม่ควรฝากความหวังไว้กับรัฐบาลหรือองค์กรธุรกิจมากเกินไป ย้ำความโปร่งใสไม่ใช่ยารักษาทุกโรค เสนอเทคโนโลยี Zero-Knowledge Proofs เป็นทางออกเพื่อรักษาเสรีภาพส่วนบุคคลในยุคที่ข้อมูลล้นมือ
ไวตาลิก บูเตอริน (Vitalik Buterin) ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ออกมาเตือนสังคมนักพัฒนาและคนทั่วโลกให้หันมาให้ความสำคัญกับ “ความเป็นส่วนตัว” ในโลกดิจิทัลยุคใหม่ โดยระบุว่า ความเป็นส่วนตัวไม่ใช่เพียงคุณลักษณะที่น่าพึงประสงค์ แต่คือ "เสรีภาพ" อย่างแท้จริง
ในบล็อกโพสต์เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา บูเตอริน ชี้ว่าความเชื่อใน “ความโปร่งใส” ที่มากเกินไปนั้นเป็นเรื่องอันตราย เพราะมันตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ “มองโลกในแง่ดีเกินจริง” เช่น การเชื่อว่าผู้นำโลกส่วนใหญ่มีเจตนาดี และสังคมกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีเสมอ ซึ่งเขามองว่าแนวคิดเช่นนี้เริ่มไม่ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้นทุกวัน
บูเตอริน ยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันไม่มีประเทศมหาอำนาจใดที่ยึดถือความเชื่อเชิงบวกเหล่านี้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมสังคมกลับแสดงสัญญาณของการถดถอย ซึ่งสามารถเห็นได้จากโพสต์ใน X (เดิม Twitter) ที่เริ่มมีคนแสดงความคิดเห็นว่า “การกลั่นแกล้งเป็นเรื่องดี”
ในมุมส่วนตัว บูเตอริน ยอมรับว่าแม้เขาจะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ยังรู้สึก “อึดอัด” กับการขาดพื้นที่ส่วนตัว เพราะแม้แต่การเดินข้างถนนก็มีโอกาสกลายเป็นข่าวโดยไม่ตั้งใจ เขาจึงเตือนว่า แม้คุณจะคิดว่าความเป็นส่วนตัวไม่สำคัญในตอนนี้ แต่ “คุณไม่มีทางรู้ว่าคุณจะกลายเป็นใครในวันข้างหน้า”
เขายังแสดงความกังวลว่าในอนาคต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เฟซสมอง-คอมพิวเตอร์ (BCI) อาจเปิดทางให้ระบบอัตโนมัติเข้าไปอ่านข้อมูลในสมองของเราได้โดยตรง หรือระบบ AI ที่ปรับราคาสินค้าตามรายได้ที่ประเมินจากข้อมูลส่วนตัว ซึ่งถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวในระดับลึก
ขณะเดียวกัน บูเตอริน ยังวิจารณ์แนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการ “ประตูหลัง” เข้าถึงข้อมูลในระบบที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว โดยเขาชี้ว่าไม่เพียงแต่รัฐบาลเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ยังรวมถึงองค์กรธุรกิจ ผู้ให้บริการชำระเงิน ธนาคาร และตัวกลางทางการเงินอื่น ๆ ด้วย
เขายกตัวอย่างว่า บริษัทโทรคมนาคมสามารถระบุตำแหน่งของผู้ใช้และมีประวัติการขายข้อมูลเหล่านี้อย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ข้อมูลยังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกแฮ็ก ขณะที่เจ้าหน้าที่บางรายอาจถูกล่อลวงให้ละเมิดข้อมูลด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว
“เมื่อข้อมูลถูกดึงไปจากเรา เราไม่มีทางรู้เลยว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ในทางใดในอนาคต และทางที่ปลอดภัยที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงการเก็บข้อมูลรวมศูนย์ตั้งแต่แรก” ไวตาลิก บูเตอริน กล่าว
นอกจากนี้ บูเตอริน ย้อนความว่าในศตวรรษที่ 19 การสนทนาแต่ละครั้งมักไม่มีการบันทึก และการเข้าถึงข้อมูลผ่านหมายศาลก็ยังจำกัดมาก ต่างจากยุคปัจจุบันที่ข้อมูลส่วนตัวสามารถเข้าถึงได้เกือบทุกด้านด้วยเครื่องมือดิจิทัล
ในด้านทางออก เขาเสนอการใช้เทคโนโลยี “Zero-Knowledge Proofs” (ZK-proofs) ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถพิสูจน์ข้อมูลบางอย่างได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด เช่น การพิสูจน์ว่าเป็นบุคคลจริงโดยไม่เปิดเผยตัวตน
ขณะเดียวกัน เขายังพูดถึงระบบใหม่ที่ช่วยให้ Ether ถูกใช้งานในแบบไม่ระบุตัวตนได้อย่างถูกกฎหมาย การตรวจจับการฉ้อโกง การกรองข้อมูลหลอกลวง และการพิสูจน์ต้นกำเนิดของสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนร่วมกับ ZK-proof เพื่อสร้างความโปร่งใสที่ไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว
ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าวถือเป็นภาคต่อของแผนงานด้านความเป็นส่วนตัวล่าสุดของ ไวตาลิก บูเตอรินที่เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของ Ethereum ในระยะสั้น เพื่อยกระดับการคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในอนาคต