การบินไทยส่งจดหมายชี้แจง 6 ข้อ หลังรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิตั้งข้อสงสัยกรณีเหมาซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 รวมกว่า 80 ลำภายในปี 2576 ยันทำตามแผน ฟื้นฟูกิจการ เพิ่มประสิทธิภาพฝูงบิน จึงตัดสินใจใช้เครื่องโบอิ้ง 787 และเครื่องยนต์ GEnx ของ GE ยืนยันปฏิบัติตามประมวลจริยรรม ไม่มีคอมมิชชันแน่นอน พร้อมเปิดรับข้อมูลหากมีการร้องเรียน
วานนี้ (16 เม.ย.) ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ส่งจดหมายชี้แจงกรณีการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 ของบริษัทการบินไทย ซึ่งถูกเผยแพร่ในรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2568 โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทักท้วงว่าการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้งจำนวนมากดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยง เนื่องจากบริษัทโบอิ้งในขณะนี้กำลังประสบปัญหาด้านความเชื่อถืออย่างหนักจากแวดวงการบินพาณิชย์ของโลก โดยมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีการเปิดโปงปัญหาในกระบวนการผลิต และประกอบเครื่องบินจากอดีตพนักงานของโบอิ้งเองจำนวนมาก โดยเนื้อหาของจดหมายชี้แจงดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
“ตามที่ รายการ SONDHI TALK เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 นำเสนอข้อมูลที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบิน Boeing 787-9 Dreamliner จำนวน 45 ลำและสงวนสิทธิ์จัดซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ลำ รวมเป็น 80 ลำ มีกำหนดรับมอบภายในปี 2576 โดยมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหมาะสม ความปลอดภัย และแรงจูงใจในการจัดซื้อเครื่องบินรุ่นดังกล่าวนั้น ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทการบินไทยฯ ขอเรียนชี้แจงประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.การจัดหาเครื่องบินเป็นไปตามแผนธุรกิจตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพฝูงบิน รักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และสนับสนุนการเติบโตของเครือข่ายเส้นท่างบิน โดยเครื่องบิน รุ่น Boeing 787-9 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ GEnx มีจุดเด่นด้านสมรรถนะประหยัดพลังงาน บำรุงรักษาง่ายและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
2.บริษัทฯ ดำเนินการด้วยกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในอุตสาหกรรม เป็นกระบวนการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยสายการบินชั้นนำ ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและชื่อตรงไม่ด้อยไปกว่า ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกในข้อ 1) และจัดหาโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์โดยไม่ผ่านตัวแทน ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำจากกลุ่มบุคคลใด และยืนยันว่าไม่มีบุคลากรของบริษัทฯ คนใดได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ จากผู้ผลิตที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้แต่อย่างใด อีกทั้งบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์ที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอเป็นบริษัทชั้นนำใน อุตสาหกรรม มีประมวลจริยธรรม (Code of Conduct) กำกับดูแลการดำเนินธุรกิจที่มีมาตรฐานระดับสูง อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่ตั้งทางธุรกิจอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านการป้องกันการทุจริต
3.เครื่องยนต์ GEnx ของ GE Aerospace ที่ใช้ติดตั้งกับเครื่องบิน Boeing 787-9 เป็นเครื่องยนต์แรงขับสูงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตระกูล GE โดยมีชั่วโมงบินสะสมมากกว่า 50 ล้านชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มใช้งานในปี 2554 และมีประจำการรวมกว่า 3,000 เครื่องทั่วโลก ได้รับความเชื่อถือจากสายการบินชั้นนำรวมถึงการบินไทย
4.เครื่องบินและเครื่องยนต์ที่บริษัทฯ เลือกใช้ ผ่านการรับรองจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยระดับสากลเช่น FAA (สหรัฐฯ), EASA (สหภาพยุโรป) และ กพท. (ประเทศไทย) ทั้งยังอยู่ภายใต้การตรวจสอบและ พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากผู้ผลิต
5.สายการบินในแต่ละประเทศมีแผนกลยุทธ์และเงื่อนไขเฉพาะราย เครื่องบิน Boeing 787-8, 787-9 และ 787-10 มีความแตกต่างด้านเทคโนโลยีและสมรรถนะ บริษัทฯ เลือกใช้รุ่น Boeing 787-9 พร้อมเครื่องยนต์ GEnx รุ่นล่าสุด ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติการทั่วโลก
6.สำหรับกรณีปัญหาในอดีตของฝูงบิน Boeing 787-8 ที่เกิดจากเครื่องยนต์คนละรุ่นนั้น บริษัทฯ ได้นำบทเรียนดังกล่าวมาปรับใช้ในการตัดสินใจจัดหาเครื่องบินครั้งนี้อย่างรอบคอบ
การจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของบริษัทฯ ในการสร้างความแข็งแกร่งให้ฝูงบินและเพื่อยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางการบิน พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างแท้จริง สุดท้ายนี้ บริษัทฯ ขอขอบคุณ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ได้เป็นสื่อกลางสะท้อนความคิดเห็น ซึ่งบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะได้ช่วยเผยแพร่ข้อเท็จจริงดังกล่าวให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป หากท่านมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยเฉพาะเกี่ยวกับค่าคอมมิชชัน ขอให้นำเสนอต่อสาธารณชนหรือส่งให้บริษัทฯ จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนคนไทย และขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้”