xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) เติบโตมาจากกระแสในโซเชียลฯ “โอฮาโย” 17 ปีจากร้านอาหารญี่ปุ่นริมทางสู่สแตนอโลนครึ่งไร่! ในย่านโชคชัย 4

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ญี่ปุ่นเหมือนกันแต่คุณไม่มีทางหาที่ไหนได้เหมือนเรา คือเหมือนกับเขาไปกินแกงกะหรี่ที่อื่นเขาต้องโอ้ยคิดถึงแกงกะหรี่ญี่ปุ่นโอฮาโยจังเลย คิดถึงรสชาตินี้ ซึ่งมันไม่เหมือนถ้าเราไปรับซอสรับอะไรมามันจะเหมือนกันหมดเลยมันจะ “รสชาติ” กินตรงไหนก็ได้”


กว่า17 ปีผ่านมาแล้วสำหรับ “โอฮาโย”(Ohayo) ร้านอาหารญี่ปุ่นเล็ก ๆ ริมทางในตอนนั้นที่เริ่มต้นมา คุณตู่ หรือ “คุณฐานิดา อิโนชิตะ”เจ้าของร้านเล่าว่า คุณโย “คุณโยชิเทรุ อิโนชิตะ” สามีซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นอยากจะเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นเล็ก ๆ ในสไตล์แบบครอบครัวขึ้นมา ด้วยแนวคิดที่ว่าเป็นการมาทานอาหารเหมือนเราไปกินข้าวบ้านเพื่อน รู้สึกอบอุ่นและมีความสบายใจขณะที่นั่งทานอาหารอยู่ร้าน และที่สำคัญคือว่าราคาอาหารญี่ปุ่นที่ไม่แพงจนเกินไป(ไม่เหมือนกับในห้างฯ) แต่ว่าได้ทั้งความเป็นอาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับแท้ ๆ(เพราะคนญี่ปุ่นทำเอง) และสร้างความต่างด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านเท่านั้น “คือเราเริ่มต้นมาแบบล้มลุกคลุกคลานเหมือนกันนะคะ คือแฟนน่ะคนญี่ปุ่นใช่ไหมคะนิสัยของเขาคือไม่ใช่แบบว่าอยากจะเปิดร้านก็คือเอาเงินก้อนนึงไปลงเปิดเลยปึ้ง!อะไรอย่างเงี้ยซึ่งเราก็มองไม่เห็นอนาคตว่า 3 เดือน 6 เดือน 1 ปีข้างหน้าเราจะรอด หรือเราจะไม่รอด? โอเคเขาก็ใช้ทุนก้อนเล็ก ๆ เท่าที่เขามีก็ไปเปิดเป็นเพิงข้างทาง ก็ไม่เชิงกับเพิงหรอกแต่ก็ไปเช่าล็อคเขาเล็ก ๆ มีแค่หลังคาอะไรเงี้ย เราก็เปิดมาก็มีประมาณ 5-6 โต๊ะ ทีนี้ด้วยความที่มันอยู่ในซอย(ด้านหลัง ม.ราชภัฏจันทรเกษม) มันค่อนข้างแคบ รถมันก็วิ่งผ่านตลอดเวลาและก็ทั้งฝุ่นทั้งควันรถ”รู้สึกไม่ค่อยชอบเลยและก็เกิดปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่สะดวกจากเป้าหมายแรกเลยกลุ่มลูกค้าเราต้องการนักศึกษาราชภัฏจันทรเกษมแต่ปรากฏว่า มันเปลี่ยน! มันกลายเป็นว่ายุคนั้นมันเริ่มมีเรื่องของ “โซเชียลมีเดีย”เข้ามา เราไปเติบโตในโซเชียลฯ ก็เลยมีลูกค้าที่มาจากที่อื่น ขับรถกันมาไกล ๆ แล้วไม่มีที่จอด ปัญหามันก็เกิด แต่ว่ากลุ่มราชภัฏเองก็ยังเป็นลูกค้ากันมาจนถึงทุกวันนี้ พอมันไม่รองรับไม่ตอบโจทย์ก็ขยับไปอีกที่หนึ่ง

ดราก้อนโรล หนึ่งในเมนูซิกเนเจอร์ของร้าน
ก็เป็นศูนย์การค้า ที่มีที่จอดรถ แต่ปรากฏว่าของเขามันค่อนข้างอยู่ในซอยลึกพอในซอยลึกสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าพอฝนตก ซอยนี้น้ำท่วม สรุปว่าวันนั้นก็ขายไม่ได้เลยมันก็ไม่ตอบโจทย์อีก ก็คือยอดโต ๆ อยู่ดี ๆ มันก็ค่อยตก ๆ มาด้วยความไม่สะดวกของการเข้าไปในซอยลึก มันเป็นสถานที่ปิดนิดหนึ่งเพราะว่ามันเข้าไปลึก ก็ไม่เวิร์กคือจากที่เราขายโอเคอยู่มันก็ค่อย ๆ ดร็อปลง ๆ ก็ต้อง move อีก ก็มาเช่าเดิมเนี่ยตรงที่ 3 เนี่ยเขาสร้างเป็นตลาดนัด เขาจะเปิดเป็นตลาดนัดแต่เราเนี่ยไปขอพื้นที่เขาก้อนหนึ่งสร้างเป็นร้าน ก็มีห้องแอร์มีอะไรอย่างเงี้ยค่ะก็ที่ๆ 3 เนี่ยค่อนข้างโอเคเลย ไม่ใช่ค่อนข้าง คือโอเคเลยแหละขายได้-ขายดี! อยู่ได้ ๆ แล้วทีนี้ กลายเป็นว่าคนที่สร้างตลาดเนี่ยเขาก็เช่าที่ จากที่เรากำลังขายอยู่ดี ๆ เนี่ยสัญญาเขาหมด! เจ้าของที่เดิมก็ขายที่ไป เราก็ต้องย้ายอีกแล้ว ก็เป็นผีตองเหลืองก็มูฟมาที่ ๆ 4 ก็คือที่ปัจจุบันนี้”



จากร้านอาหารญี่ปุ่นริมทาง สู่ stand alone ครึ่งไร่! ในย่านโชคชัย 4
ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่โชคดีมาก คือมันเป็นที่ที่แบบว่าในถนนโชคชัย 4 คนมองไม่เห็น เพราะว่าหน้ามันแคบ พอหน้ามันแคบแล้วข้างหน้าหญ้ามันขึ้นคลุมสูง ๆ มันก็เลยมองแบบเหมือนนิดเดียว จริงอยู่ว่าหน้าแคบ(แค่12 เมตร) แต่ไม่มีใครคิดว่าที่มันจะลึก(ตั้ง60 เมตร) เป็นแบบว่าครึ่งไร่!เลย เขาก็เคยมีคนมาวางมัดจำก่อนหน้าเรา 2 เจ้า วางแล้วก็ไม่สร้าง ก็ทิ้งไป“ทีนี้เขาจับเรามัดมือชกเลยว่าภายใน4 เดือนเนี่ย คุณต้องสร้างให้จบอะไรอย่างเงี้ยค่ะ คือเราบอกเราก็ไม่ได้แล้วเพราะว่าเราที่ตรงนั้นที่เดิม(ที่3) เนี่ยเราโดนไล่ที่แน่นอนก็ต้องสร้าง ก็ถือว่าโชคดีมากว่าเจ้าของที่ก็น่ารักเมตตาเรา” ก็อยู่ตรงนี้มาอีก12 ปีแล้วจนถึงปัจจุบันนี้


เป็นวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่น แต่ผสานเข้ากับวัตถุดิบไทยได้อย่างลงตัว
ด้าน “คุณโย” คุณโยชิเทรุ อิโนชิตะ ผู้ก่อตั้งร้านอาหารญี่ปุ่น “โอฮาโย” เล่าให้ฟังด้วย ผมมาอยู่เมืองไทยเกือบ 30 ปีแล้วนะครับ เพื่อน ๆ ผมก็บอกว่าคุณโยเป็นคนไทยแล้ว(หัวเราะ) แต่ผมชอบเมืองไทยนะครับเมืองไทยแบบว่าเป็นประเทศที่อิสระ “คือสมัยก่อนเมื่อตอนที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ เนี่ยผมอยู่ที่อยุธยา ซึ่งจะไม่เหมือนกับในกรุงเทพฯ ผมหาวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นยากมาก ก็เลยลองไปหาวัตถุดิบที่มันมีอยู่ในตลาดของไทยได้แล้วลองเอามาทำอาหารญี่ปุ่นดู ก็เลยพอมีเมนูที่ใช้วัตถุดิบไทยทำอาหารญี่ปุ่นได้อยู่ครับ ก็เลยเริ่มศึกษาตรงนี้มากขึ้นและสรุปเมนู และก็ลองเปิดร้านที่แบบข้างทาง(หัวเราะ) ร้านเล็ก ๆ ฝึกเดินก่อนครับ”อาหารญี่ปุ่นคือจะพยายามให้มีรสชาติของวัตถุดิบออกมาเยอะหน่อย แต่อาหารของไทยจะชอบใช้เครื่องปรุงเยอะหน่อยประมาณนี้ครับ แต่ผมไม่อยากให้เหมือนกับอาหารไทย แต่ก็ต้องแบบดัดแปลงอาหารญี่ปุ่นเพื่อให้ถูกปากคนไทยใช่ไหม ผมก็เลยมาเอาที่เป็นตรงกลาง“อยากจะขายอาหารญี่ปุ่นในราคาที่คนไทยทุกคน ทุกระดับกินได้ประมาณนั้นนะครับ ก็เลยพยายามหาวัตถุดิบที่มันแบบดัดแปลงทำอาหารญี่ปุ่นได้ในไทยนะครับ เลยทำอาหารญี่ปุ่นดู”

ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเมนูเซียนเลยของคุณโยและก็ขายดีมาก ๆ ของร้าน

ข้าวหน้าเนื้อก็เป็นอีกเมนูขายดีไม่แพ้กัน
สร้างรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เป็น “ตัวตน” ของตัวเอง
คุณตู่เล่าว่า ทีนี้สไตล์อาหารก็เลยเหมือนสไตล์แบบบ้านๆ ที่เหมือนพ่อแม่เราทำกับข้าวให้เรากิน แบบนั้น ก็คืออย่างแกงกะหรี่ญี่ปุ่นทุกบ้านเขาก็จะทำเป็นหม้อใหญ่ๆ แล้วก็สต็อก(ฟรีซ) เอาไว้ถึงเวลาก็เอามาอุ่นทาน อะไรแบบนี้ หรือว่าทาโกะยากิ โอโคโนะมิยากิ อะไรพวกนี้ที่คนไทยรู้จัก“อย่างพวก “ซูชิ” อะไรพวกนี้จริง ๆ แล้วถ้าเป็นญี่ปุ่นเขาจะค่อนข้างเป็น อาหารที่พิเศษ เทศกาลหรือว่าวันรวมญาติ”คุณโยเป็นคนที่ชอบทำอาหาร แกค่อนข้างรู้เรื่องของเครื่องปรุงของอะไรต่าง ๆ พวกนี้ ทีนี้ทุกอย่างในร้านเราส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ซอส เป็นอะไรต่าง ๆ เราสร้างเองผลิตเอง“สร้างรสชาติของตัวเอง เพราะฉะนั้นน่ะต่อให้คุณจะอยาก คุณชอบกินแกงกะหรี่แต่คุณจะหาแกงกะหรี่รสชาตินี้ที่อื่นไม่ได้ คุณชอบกินพวกเทอริยากิต่าง ๆ ไก่เทอริยากิ ซาบะเทอริยากิ คุณจะหารสชาติซอสเทอริยากิแบบนี้ที่อื่นไม่ได้ ซอสทุกอย่างเราผลิตเอง แป้งเราผสมเอง เพราะฉะนั้นรสชาติร้านเราจะมีความเป็นเอกลักษณ์” เราไม่ได้บอกว่าเราอร่อยที่สุด แต่เรามีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คุณอาจจะไม่ชอบก็ได้คุณอาจจะบอกว่าไม่เห็นเหมือนร้านนั้นร้านนี้ แต่เราไม่ได้ต้องการเหมือนใครเราสร้างรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง

หม้อไฟโอฮาโย ที่คุณจะหาในญี่ปุ่นก็ไม่ได้หรือในไทยก็ไม่มี นอกจากที่นี่ที่เดียว
วัตถุดิบก็เลือกใช้ของไทย โดยส่วนใหญ่ “โดยส่วนใหญ่เราจะใช้วัตถุดิบไทย คุณโยเนี่ยให้ตู่พาไปตลาด ตลาดนัดอย่างเงี้ยค่ะ ที่เขามีผักขายกำละ 5 บาท 10 บาท 3 กำ 20 อะไรเงี้ย เราซื้อทุกอย่างซื้อทุกผัก แล้วแกก็มาชิม ชิมทุกอย่างเลยค่ะผักอะไรที่ว่าแบบ เวลาเราไปซื้อมันจะมีอย่างผักแพว ผักทางอีสานที่มีกลิ่นมีรสชาติ อะไรใกล้เคียงกับอะไรแบบนี้ค่ะ เขาก็จะชิมทุกอย่างแล้วก็จะได้รู้ว่าอ๋อผักอันนี้ ใกล้เคียงกับผักของญี่ปุ่น อันนี้กลิ่นได้ อันนี้รสได้ อะไรแบบนี้” จะได้ไม่ต้องนำเข้าแพง ๆ สังเกตว่าร้านอาหารเรา 60 บาท70 บาทเราขายได้ ซึ่งอาหารญี่ปุ่นแบบ100 อัพ200 อัพ ของเราขาย 60 70 80 บาทอย่างเงี้ย เพราะเราจะมีวิธีการแบบนี้ แต่คุณจะรู้สึกเลยว่ายังไงก็เป็นอาหารญี่ปุ่นเพราะอย่าลืมว่าเจ้าของเป็นญี่ปุ่น หรือแม้บางเมนูแม้แต่ญี่ปุ่นเองก็ไม่มีและก็ในไทยเองก็ไม่มี อย่างเช่นตอนนี้ที่เราขายดีมากก็คือจะเป็น “หม้อไฟโอฮาโย” คือลูกค้าก็จะงงมากว่า มันมีขายในญี่ปุ่นไหม!!?


ขายในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย
เมนูในร้านตอนนี้ก็มีอยู่ประมาณเกือบ 80 เมนู ซิกเนเจอร์เลยก็คือแกงกะหรี่ญี่ปุ่นก่อนอันดับแรก แกงกะหรี่ญี่ปุ่นเป็นอะไรที่วัยรุ่นญี่ปุ่นชอบมาก แล้วคุณโยบอกว่าอันนี้เป็นอะไรที่แกทำมาตั้งแต่เด็กเพราะฉะนั้น แกก็เลยบอกว่าถ้าแกงกะหรี่ญี่ปุ่นนี่คือแกแบบว่าหลับตาทำเลย เพราะฉะนั้นแล้วทีนี้ต่อมา ที่ขายคู่สูสีกันมาในเมนูข้าวก็จะเป็น ข้าวหน้าเนื้อ ซึ่งของเราก็จะใช้วิธีการทำเป็นเนื้อตุ๋น(ที่นุ่มมาก/นุ่มละลายในปาก) 2 เมนูนี้เป็นเมนูที่เราขายดีมากตั้งแต่เราเปิดร้านมา ไม่มีวันไหนที่ขายไม่ได้ ทีนี้เมนูที่ 3 อันนี้ก็คือทุกโต๊ะต้องสั่งเลย“ก็คือจะเป็นข้าวปั้น “ดราก้อนโรล” ที่ตั้งแต่แกคิดสูตรซอสตัวนี้มาค่ะ เป็นอะไรที่แบบ ทุกโต๊ะต้องสั่งน่ะค่ะเพราะว่าซอสเราเป็นอย่างที่บอกเนาะ ทุกอย่างเราทำเองอันนี้มันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรา ซึ่งที่อื่นไม่มีอีกแล้วแบบนี้เขาเรียกว่า ดราก้อนโรล มันเป็นซอสและไส้ที่เราคิดเองตัวนี้ก็คือแบบ recommended ของร้านเราเลยค่ะ 3 ตัวนี้คือเด่นมาตลอด ตอนนี้ตัวเด่นตัวที่4 ก็ที่เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่ก็คือ หม้อไฟฯ”




ราคาอาหาร ณ ปัจจุบัน ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น100 บาท(ถ้ารวมท้อปปิ้งด้วยก็ประมาณ120-130) ข้าวหน้าเนื้อ90 บาท พวกข้าวต่าง ๆ ก็ประมาณนี้ 80-100 บาท ราคาแพงสุดในร้านก็อย่างเช่น แซลมอน(ปลาดิบ) ตอนนี้ก็ประมาณ 320 บาทจะเป็นแซลมอนสดนำเข้า นอกนั้นก็ประมาณนี้80 90 100“คืออย่างนี้ค่ะด้วยร้านเรามันตั้งแบบเป็น stand alone นะคะ ไม่มีลูกค้าแบบว่าขาจร walk in ใช่ทีนี้เราไม่สามารถที่ว่าเงินเดือนออกแล้วค่อยมากิน อะไรอย่างเงี้ยเราอยู่ไม่ได้ แต่เราอยากจะขายแบบว่าลูกค้าสามารถมากินเราทุกวันได้ บางคนมาฝากท้องมื้อกลางวัน มื้อเย็นอะไรอย่างเงี้ยค่ะใช่” ร้านเปิดทุกวัน จะหยุดแค่เดือนละ1 ครั้ง(ทุกวันอังคารที่ 3 ของเดือน) แล้วก็เวลาเปิด 11.00น.– ปิด 22.00น.

คุณตู่ ฐานิดา อิโนชิตะ
ร้านอร่อยกินที่ไหนก็ได้ แต่เน้นให้ความสำคัญลูกค้า “ต้องมาที่ 1”
การเทรนพนักงานของตู่ก็คือว่า เราจะบอกลูกน้องว่าอย่าคิดว่าร้านเราอร่อยที่สุด เพราะว่าอาหารที่อร่อย 1. ที่ไหนก็มี และอาหารที่อร่อยที่สุดคือกินในบ้าน พ่อแม่ทำให้กินนั่นคืออร่อยเพราะเขาเรียกรสชาติดั้งเดิม หรือรสชาติแม่ เพราะฉะนั้นเราต้องตอบโจทย์ว่าลูกค้าเขามาทานข้าวเนี่ย เขาต้องการอะไร ถ้าเราคิดว่าเขาต้องการความอร่อย เราต้องคิดไว้ก่อนว่าของอร่อยที่ไหนก็มี แต่คนที่เขาออกไปนอกบ้านเขาต้องการ “บริการ” ต้องการ service ต้องการอะไรที่มากกว่าความอร่อย เพราะฉะนั้นต้องให้เขามาแล้วรู้สึกว่า เขาได้รับการบริการ เขามานั่งร้านเราแล้วเขาสบายใจแบบนี้ “ร้านของตู่เลยไม่ได้เน้นว่าไม่ได้มองว่าเราอร่อยที่สุด แต่เรามองว่าเราต้องทำให้เขามากินแล้วเขาแฮปปี้มีความสุข นั่นคือเขาอร่อย” แบบนี้ คือให้มองความอร่อยเป็นเรื่องที่รอง เรื่องอร่อยมันเป็นเขาเรียกว่า ลิ้นใครลิ้นมัน มันเป็นรสนิยม


อย่างที่บอกเราไม่ได้ทำร้านแบบไหลไปตามกระแส ก็โอเคอย่างมีช่วงหนึ่ง เทรนด์ญี่ปุ่นอาจจะดัง มีช่วงหนึ่งเทรนด์เกาหลีอาจจะดัง แล้วมันก็จะหายไปแต่ร้านเราก็คือรักษาลูกค้าที่เป็น “ลูกค้าประจำ” ถึงไม่ได้วิ่งตามกระแสสักเท่าไร“ก็คือเรารักษาเหมือนกับว่าอย่าง แฟน เขามีความรู้สึกว่าเขาอยากขาย ตัวตนของเขา เพราะฉะนั้นใครจะมาบอกว่าเนี่ยทำตามร้านนั้นสิ ทำตามร้านนี้สิ อะไรอย่างเงี้ย แต่แกก็จะไม่สนใจพวกนี้เพราะว่า แกอยากให้คนนึกถึงเราที่รสชาติที่เป็นของเรา และก็เหมือนที่แจ้งเมื่อกี้ว่าเรามีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเองเท่านั้นเลย เราไม่ได้วิ่งตามกระแส”ซึ่งเวลาการที่จะคิดเมนูขึ้นมา 1 เมนู มันมีเรื่องของ “ต้นทุน” อย่างเช่นสมมุติคุณจะทำเมนูนี้ แค่เมนูเดียว ของที่ใส่ไปในนี้ไม่ Link กับอะไรอย่างอื่นเลย เราต้องซื้อของมาเพื่อทำ 1 เมนูแล้วถ้าเกิดวันนั้น ขายได้แค่จานเดียวล่ะ? ที่เหลือคุณจะไปทำอะไรต่อ แต่ร้านเราทุกเมนูเราจะเชื่อมโยงกันหมด ผัก 1 อย่าง ใส่ใน 3 4 5 6 7 เมนู หมู ไก่ ปลา ทุกอย่างคือมันจะต้องเชื่อมโยงกันหมดแบบนี้ ร้านเราเป็นแบบนั้น“เราจะไม่ทำแค่1 เมนูซื้อทุกอย่างมาทำแค่ 1 เมนู แล้วก็ขายตามกระแส เพราะหลังจากนั้นมันจะไม่ยั่งยืน”


มากกว่าเรื่องเงินที่ได้ คือ มิตรภาพและความสุข
คุณตู่ “ฐานิดา อิโนชิตะ” เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น “โอฮาโย” ยังบอกด้วย มันเป็นความภูมิใจของตู่เหมือนกันว่าลูกค้าที่เราเปิดร้านตั้งแต่วันแรก แล้วเขาทานกับเราตั้งแต่วันแรก ทุกวันนี้เขาก็ยังมาทานข้าวที่ร้านเราอยู่ ก็คือ17 ปีมันเป็นความผูกพันยาวนานมาก“ลูกค้าบางท่านนะคะเขามาตอนที่เขาจีบกันเป็นแฟนน่ะค่ะ จนแต่งงานกันค่ะและเขาก็เข็นรถเข็นพาลูกเขามาทานข้าวร้านเรา จนแบบว่าเด็กก็โตขึ้นคิดดูว่า 17 ปีนะคะ ก็เป็นเด็กซน ๆ วิ่งแทบจะรื้อพังร้านเราได้ จนโตเป็นวัยรุ่นแบบอายุสิบกว่าเรียนหนังสือ”คือมันเห็นพัฒนาการความเติบโตหรือแม้กระทั่ง ลูกค้าที่เขาแบบว่าพาคุณพ่อคุณแม่ผู้สูงอายุมาทานข้าวร้านเราคิดดูว่ามีร้านอาหารที่ไหนบ้างที่เจ้าของร้านไปงานขาวดำของพ่อแม่ลูกค้า แต่ตู่น่ะไปขอแค่เขาบอกเราคุณพ่อเขาเสียแล้วนะ คุณแม่เขาเสียแล้วนะ แล้วตู่ไปตู่รู้ว่าพ่อแม่เขาชอบอะไร ตู่จะเอาอันนั้นฝากทำบุญให้คุณพ่อคุณแม่หน่อย คือแบบนั้นเลย มันเป็นความผูกพัน ความอบอุ่น แล้วมันเป็นความสุข“สิ่งที่สามีชอบเลยเขาบอกว่าอย่างงี้ค่ะ การที่เขาเปิดร้านอาหารเขาบอกว่าเวลาเราไปทำงานบริษัทน่ะ เราทำงานเก่งมากเราทำงานดีมาก คนที่ชมเรา คือ เจ้านายเราคนเดียว แต่เวลาเราทำร้านอาหารทุกคน ขอบคุณนะอร่อยมาก อะไรอย่างเงี้ย เขามีความสุขอันนี้เขาบอก เขามีความสุขเยอะมากเลย เวลาเขามาเห็นแล้วก็ลูกค้านั่งกินและก็หัวเราะกันอะไรกันแล้วก็ อย่างเช่น วันพ่อ วันแม่ วันอะไรที่ว่าสำคัญค่ะเราจะเห็นครอบครัวที่ จูงอากงอาม่ามานั่งทานพี่เข้าใจไหม มันเป็นภาพที่มันแบบว่ามันมากกว่าตัวเงิน คือสิ่งที่เราเห็นนะว่าอู๊ยคือพ่อแม่ตู่เสียแล้วไงคะ พอตู่เห็นใครที่ทำแบบนี้แล้วเรารู้สึกว่ามันน่ารักมาก แล้วเขาก็จะจูงอากงอาม่าบางทีนั่งรถเข็นมา มานั่งทานข้าวอย่างเงี้ยค่ะมันมากกว่าสิ่งที่เราได้รับเป็นเงินน่ะ มันเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่มากกว่า”

คุณโย คุณโยชิเทรุ อิโนชิตะ
ขณะที่ “คุณโย” คุณโยชิเทรุ อิโนชิตะ ผู้ก่อตั้งร้านโอฮาโย ก็บอกด้วย ก็จะมากันเป็นสิบคน เป็นครอบครัวใหญ่มาทานข้าวที่นี่ด้วย ก็รู้สึกมันแบบดีใจเพราะว่าเขาชอบอาหารของเรา มันทุกระดับตั้งแต่เด็กถึงคนที่มีอายุ ดีใจและก็ภูมิใจด้วย

เติบโตมาจากกระแสในโซเชียลฯ “โอฮาโย”17 ปีจากร้านอาหารญี่ปุ่นริมทางสู่สแตนอโลนครึ่งไร่! ในย่านโชคชัย
ขอบคุณเจ้าของร้านใจดี “คุณตู่และคุณโย” ที่กรุณามาร่วมแชร์ในครั้งนี้เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ตามแบบฉบับของคนญี่ปุ่นแท้ ๆ ซึ่งมีแนวคิดธุรกิจที่แยบยลมาก ๆ ในเรื่องของการเริ่มต้นจากเล็ก ๆ ก่อนไปหาใหญ่ และได้นำวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่นมาเผยแพร่ร่วมกับการใช้วัตถุดิบไทยๆ ในการปรุงเป็นเมนูได้อย่างลงตัว ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นอาหารญี่ปุ่นไว้ และที่น่าสนใจคือว่าทำให้ “ราคา” ของอาหารที่ไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบแพง ๆ เพื่อมาปรุง ก็ทำให้คนไทยได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติอาหารญี่ปุ่นในราคาที่ไม่แพงอย่างไม่น่าเชื่อได้ และกลายเป็นจุดขายสำคัญของร้านจนสามารถสร้างฐานลูกค้าที่เป็น “ลูกค้าประจำ”ได้อย่างเหนียวแน่นมายาวนานกว่า 17 ปี



สนใจไปลองลิ้มชิมรสชาติของอาหารญี่ปุ่นแท้ ๆ ตามแบบฉบับของคนญี่ปุ่นทำครัวเองที่ร้าน “โอฮาโย”(Ohayo) ตั้งอยู่เลขที่ 543 ถนนโชคชัย 4 แขวง/เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ โทร.0-2539-3539, 086-572-9691

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
กำลังโหลดความคิดเห็น