เปิดมติครม.รับทราบแนวทางดำเนินการโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย”เดินหน้าระยะที่ 1 นำร่อง 4 พื้นที่ แต่ยังไร้รายละเอียดก่อสร้างและเงินทุน ก่อนหน้านี้เคยเสนอใช้รูปแบบเทิร์นคีย์แต่ตัดออก หลังถูกติง ขณะที่ยึดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใช้ที่ดินรถไฟสร้างที่อยู่อาศัยให้สิทธิเช่า 30 ปี และต่ออายุได้อีก 30 ปี
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 1 เมษายน 2568 รับทราบแนวทางดำเนินการโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ โดยจะนำร่องระยะที่ 1 จำนวน 4 โครงการ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดยพื้นที่ดำเนิน 4 โครงการดังกล่าว เป็นพื้นที่ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีศักยภาพสูงสุดเป็นพื้นที่นำร่อง จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่
1. พื้นที่โครการ กม.11 ระยะ 1.1 กรุงเทพมหานคร
2. พื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี (ศิริราช) กรุงเทพมหานคร
3. พื้นที่รอบสถานีรถไฟจังหวัดเชียงใหม่
4. พื้นที่รอบสถานีรถไฟเชียงราก จังหวัดปทุมธานี
ทั้งนี้ โครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” เป็นการนำที่ดิน ของ รฟท. ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบันมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้และอยู่ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยประชาชนเข้าร่วมโครงการจะได้สิทธิในการเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปี และต่ออายุได้อีก 30 ปี ซึ่งไปเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 540 บัญญัติห้ามมิให้เช่าให้อสังหาริมทรัพย์เกินกว่าสามสิบปี นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ในการรับทราบดังกล่าว เป็นเพียงการรับทราบว่าทาง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกของการรถไฟฯ จะเป็นผู้ดำเนินการโครงการนี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียด เช่น วงเงินโครงการ แหล่งที่มาของเงินทุน รายละเอียดด้านการก่อสร้าง โดยทางผู้เสนออ้างว่า ยังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูล โดยข้อมูลที่มีการเสนอในวันนี้ เป็นการให้ ครม. รับทราบแนวทางดำเนินโครงการก่อน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ได้มีการนำเสนอโครงการบ้านเพื่อคนไทย เข้าบรรจุวาระของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)แล้วแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งครั้งนั้นได้มีการระบุว่าจะใช้วิธีก่อสร้าง ลักษณะวิธีการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ หรือ เทิร์นคีย์ ด้วย แต่มีการดึงเอกสารโครงการกลับไปแก้ไขใหม่ และเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในวันนี้ (1 เม.ย. 68) ซึ่งไม่ปรากฎการระบุถึงการก่อสร้างแบบเทิร์นคีย์อยู่ในเอกสารแล้ว