“อีอีซี”เดินเครื่อง โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ หรือ Capital City จ้างสถาบันวิจัยฯจุฬาลงกรณ์ ศึกษารายงานร่วมลงทุนเอกชน ประมูลโปรเจกต์แรกพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ถนน น้ำ ไฟฟ้า ประปา คาดเปิดประมูลปี 69
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ (EEC Capital City: EECiti ว่า ที่ผ่านมาได้มีการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษประเภทเพื่อกิจการพิเศษ บนพื้นที่พัฒนาระยะที่ 1 ประมาณ 5,795 ไร่ และ ตั้งเป้าจะขออนุมัติเป็นเขตส่งเสริมได้ครบทั้ง 14,619 ไร่ ในปี 2568
ทั้งนี้ ในการพัฒนาเป็นเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ งานแรกที่ อีอีซี ต้องดำเนินการก่อน คือ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบสื่อสาร ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบรีไซเคิลขยะ ถนนภายในพื้นที่ ระบบขนส่งมวลชนต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับการพัฒนาทุกกิจกรรมในพื้นที่เมืองใหม่อัจฉริยะ ซึ่งมีแนวทางที่จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP ) และให้บริการ ระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐาน ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี
โดยขณะนี้ สกพอ.ได้ว่าจ้าง สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง และคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะวงเงินประมาณ 69 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี โดยในช่วง 6-8 เดือนแรก จะเป็นการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน ตามระเบียบ PPP EEC Track เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดกพอ.) อนุมัติ ภายในปี 2568 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (RFP) คาดว่าจะประกาศเชิญชวนได้ ในปี 2569
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะต้องลงทุนในพื้นที่นี้ประกอบด้วย
1.โครงข่ายถนน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายถนนภายนอกโครงการ 4 ด้าน โครงข่ายถนนภายในพื้นที่โครงการ โครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะสำหรับเชื่อมพื้นที่โครงการกับ 4 เมืองหลัก และโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะภายในพื้นที่โครงการ
2.ระบบผลิตน้ำประปา มีความต้องการใช้น้ำประปาประมาณ 69,000 ลบ.ม./วัน
3.ระบบบำบัดน้ำเสีย มีปริมาณน้ำเสียประมาณ 55,000 ลบ.ม./วันพร้อมจัดเตรียมระบบผลิตน้ำรีไซเคิล
4.ระบบการจัดการขยะ รองรับปริมาณขยะประมาณ 426 ตัน/วัน
5.ระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาด มีความต้องการไฟฟ้าอย่างน้อย 439 MW
6.อุโมงค์สาธารณูปโภค ระยะทางประมาณ 100 กม.