"เฉลิมชัย" ประชุมติดตามงานส่วนราชการ ทส. ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย นำเสนอ 23 โครงการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเข้า ครม. นอกสถานที่ จังหวัดสงขลา
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) รองปลัดกระทรวงฯ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ผู้บริหารส่วนราชการในสังกัดกระทรวงฯ และหัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่ 5 จังหวัด เข้าร่วมการประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา รายงานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ พร้อมทั้งโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่และเป็นความต้องการของประชาชน จำนวน 23 โครงการ แบ่งเป็น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 4 โครงการ กรมทรัพยากรน้ำ 19 โครงการ ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ดร.เฉลิมชัย ได้มอบนโยบายในการจัดทำแผนงานโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามภารกิจ โดยแบ่งเป็น 3 ด้านสำคัญ ได้แก่
1) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เน้นการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ การจัดที่ดินทำกิน การจัดชุดปฏิบัติการดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ ให้มีความสมบูรณ์และสวยงาม การป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าพรุให้ลดลงอย่างรวดเร็วโดยใช้กำลังพล เจ้าหน้าที่ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการจัดทำฐานข้อมูล รวมถึงสร้างร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง ดูแล และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยส่งเสริมการใช้รูปแบบป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่มีผลกระทบน้อยที่สุด
2) ด้านสิ่ง แวดล้อม เน้นการแก้ไขปัญหามลพิษ การแก้ไขปัญหาฝุ่นจากไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุโดยการบริหารจัดการกลุ่มป่าและจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ อากาศยาน อุปกรณ์ที่ทันสมัย ให้ครอบคลุมพื้นที่และเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ เพื่อเตือนภัยล่วงหน้าและการคาดการณ์ และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
และ 3) ด้านทรัพยากรน้ำในแผ่นดิน เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพน้ำอุปโภค บริโภค การพัฒนาแหล่งน้ำและน้ำใต้ดิน การแก้ไขปัญหาและการเตรียมความพร้อมสถานการณ์น้ำท่วม - น้ำแล้ง และประชาชนต้องเข้าถึงน้ำสะอาด มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตร