“สุริยะ”สั่งทอท.เปลี่ยนรถบัสรับ-ส่งผู้โดยสารในสนามบิน จากใช้น้ำมันเป็นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ลดปัญหา PM2.5 และเพิ่มความปลอดภัย ทอท.เผย ปีนี้ การบินไทยนำร่องเปลี่ยน 10 คัน แอร์เอเชีย 7 คัน ส่วน Solar Rooftop “สุวรรณภูมิ”เริ่มจ่ายไฟได้กลางปี 68
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ติดตามการแก้ปัญหาและลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่จูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงดำเนินมาตรการตรวจสอบสภาพรถบรรทุก เพื่อลดควันดำ และรถโดยสาร เรือโดยสารสาธารณะ มีนโยบายปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด
ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายปรับปรุง รถบัสรับ-ส่งผู้โดยสาร ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ปัจจุบันยังใช้รถที่เป็นเครื่องยนต์น้ำมันดีเซลอยู่ ซึ่งพบว่า มีกลิ่นน้ำมัน และควัน รบกวนผู้โดยสาร จึงได้สั่งการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไปดำเนินการตรวจสอบและประสานกับสายการบินต่างๆ ปรับเปลี่ยนเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า
“ผู้ประกอบการสายการบินจะจัดหารถบัสสำหรับรับส่งผู้โดยสาร จากอาคารผู้โดยสารไปยังหลุมจอดอากาศยาน กรณีที่เครื่องบินไม่ได้เข้าสะพานเทียบเครื่องบิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเช่า มีระยะสัญญาประมาณ 7 ปี ดังนั้น ให้ไปตรวจสอบว่า มีรถจำนวนเท่าไร และมีรถที่จะครบสัญญาเช่าหรือเหลืออีกกี่ปีจะครบสัญญาเช่า โดยรถที่หมดสัญญาและต้องเช่าใหม่ จะต้องเป็นรถโดยสารไฟฟ้าเท่านั้น เพราะเป็นหนึ่งในมาตรการลดฝุ่น PM 2.5”
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) กล่าวว่า ทอท.มีแผนการปรับเปลี่ยนยานยนต์ที่ให้บริการในเขตพื้นที่ Airside ของสนามบินทั้งหมดเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการปรับปรุงคุณภาพบริการและลดปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยได้หารือร่วมกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางกอกไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS) ,ผู้ประกอบการและสายการบินต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนเครื่องมือที่ใช้ในการให้บริการภาคพื้นทั้งหมดเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงรถบัส รับ-ส่งผู้โดยสาร จากอาคารโดยสารไปยังหลุมจอดด้วย
ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการทุกราย ตอบพร้อมร่วมมือในการปรับเปลี่ยน เบื้องต้น การบินไทยมีแผนจัดซื้อรถบัสรับส่งผู้โดยสารใหม่จำนวน 10 คัน นำมาให้บริการภายในปีนี้ ส่วน ไทยแอร์เอเชีย ได้ตอบรับในการปรับเปลี่ยนรถบริการในสนามบินดอนเมืองเป็นระยนต์ไฟฟ้า ภายในปลายปี 2568 จะเปลี่ยนจำนวน 7 คัน และจะมีบางส่วนที่เป็นรถของ AOTGA ที่จะลงทุนปรับเปลี่ยนเช่นกัน
“นโยบายให้ดูเรื่องต้นทุนผู้ให้บริการด้วย ดังนั้นก็จะดำเนินการปรับเปลี่ยนตามวงรอบของระยะเวลาของรถที่ครบกำหนดเช่าแล้ว การ จัดหาใหม่ ต้องเปลี่ยนเสปกจาก รถใช้น้ำมัน เป็นรถใช้ไฟฟ้า ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ครบกำหนดก็ให้ใช้ไปก่อนจนครบสัญญา ”
อย่างไรก็ตาม การใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า นอกจากเรื่องpm 2.5 แล้ว ยังรวมไปถึงความปลอดภัยในการให้บริการด้วย ซึ่งล่าสุด รถบัสรับ-ส่งผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่สนามบินดอนเมือง เพิ่งเกิดเหตุไฟไหม้ ซึ่งหากเป็นรถไฟฟ้าจะมีความปลอดภัยมากกว่ารถใช้น้ำมัน
@ Solar Rooftop สุวรรณภูมิ เริ่มจ่ายไฟ กลางปี 68
นายกีรติกล่าวว่า ปัจจุบัน ทอท.มีมาตรการติดตั้ง โซล่าเซลล์สนามบินทั้ง 6 แห่ง ให้สามารถทดแทนพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ให้ได้ภายในระยะเวลา3 ปี โดยขณะนี้ มีการติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” (Solar Rooftop) แล้ว โดยจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 20 เมกะวัตต์ และจะเริ่มจ่ายไฟได้ช่วงกลางปี 2568