xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.จับมือ 3 การไฟฟ้าเปิดขายไฟฟ้าสีเขียวครั้งแรกในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กกพ.จับมือ 3 การไฟฟ้า เปิดขายไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา( UGT1) เป็นครั้งแรกในไทย โดยกำหนดUGT1เป็นส่วนเพิ่มจากค่าไฟฟ้าปกติที่หน่วยละ 6สตางค์ นำร่องเปิดขายเฟสแรก 2,000 ล้านหน่วย ในราคาค่าไฟฟ้าสีเขียว 4.21 บาทต่อหน่วย ยันเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ พร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการจองซื้อไฟฟ้าสีเขียวได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง28ก.พ.68 คาดจ่ายไฟเข้าระบบได้เม.ย.นี้ ส่วนUGT2 จากพลังงานหมุนเวียนบิ๊กล็อตเฟสแรก 4,852 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดภายในมิ.ย. 68

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แจ้งการเปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff แบบที่ 1: UGT1) เป็นการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวครั้งแรกในไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชน ที่มีความจำเป็น หรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาดสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยกำหนดอัตรา UGT1 เป็นส่วนเพิ่มจากค่าไฟฟ้าตามปกติหน่วยละประมาณ 6 สตางค์ต่อหน่วย โดยเฟสแรกนี้จะมีปริมาณรวม 2,000 ล้านหน่วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวอยู่ที่ 4.21 บาทต่อหน่วย ซึ่งคำนวนจากค่าไฟงวดปัจจุบันที่ 4.15 บาทต่อหน่วย บวกค่าความสะอาด 6 สตางค์ต่อหน่วย

ยืนยันเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีโครงการไฟฟ้าสีเขียวอย่างเวียดนาม และมาเลเซีย และถูกกว่าเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและไต้หวัน ที่มีค่าไฟฟ้าสีเขียวเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 6-9 บาทและ9-10 บาทต่อหน่วยตามลำดับ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟภ. ผ่านแพลตฟอร์ม ugt.pea.co.th ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟน. ที่เว็บไซต์ mea.or.th ลูกค้าตรง กฟผ. ที่เว็บไซต์ egat.co.th ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. - 28 ก.พ.2568 คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าสีเขียวได้ในเดือนเมษายนนี้ โดยค่าส่วนเพิ่มดังกล่าวจะเรียกเก็บเฉพาะผู้ที่ใช้ไฟฟ้า UGT1 เท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป

ขณะนี้ กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน., กฟภ.) จัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี โดยแหล่งที่มาพลังงานไฟฟ้าสีเขียวมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำทั้ง 7 เขื่อนของกฟผ. ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนบางลาง เขื่อนท่าทุ่งนา เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนปากมูล รวมกำลังผลิตตามสัญญา 1,135 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งเตรียมการในการออกเอกสารรับรองไฟฟ้าสะอาดและแหล่งที่มาภายใต้มาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล และมั่นใจว่าปริมาณไฟฟ้าสีเขียวจะมีปริมาณเพียงพอในการรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวรูปแบบนี้ของภาคเอกชนในช่วงแรกได้ทั้งหมด โดยในช่วงต่อไปจะมีการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา (UGT2) และ Direct PPA เพิ่มเติม


อย่างไรก็ตาม จากการเปิดให้บริการที่ผ่านมาได้มีผู้ติดต่อลงทะเบียนเพื่อสมัครใช้บริการแล้วประมาณ 600 ล้านหน่วย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่นำไปใช้ในการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซฯ ตามนโยบายของบริษัทแม่หรือบริษัทคู่ค้า บริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ธุรกิจธนาคาร ห้างสรรพสินค้า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการผลิตเป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าการเปิด UGT2 หรือ ไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา จะมาจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รอบแรกที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 4,852 เมกะวัตต์ มีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบแบตเตอรี่ พลังงานลม พลังงานชีวมวลและชีวภาพ คาดว่าจะสามารถเปิดได้ในช่วงเดือน มิ.ย.2568 โดยอัตราราคาค่าไฟฟ้าจะแตกต่างจากUGT1 เบื้องต้นคาดว่าจะสูงกว่า จากนั้นจะเปิดในส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตเอกชนโดยตรง หรือ Direct PPA ในครึ่งหลังปี 2568

นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ร่วมพัฒนา UGT ขึ้นเพื่อตอบโจทย์และเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า หรือ Scope 2 Emissions โดยอาศัยกลไกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC ตามมาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้ออกแบบให้มี Arrangement Unit ที่ดำเนินการผ่าน UGT Platform ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรและจับคู่ข้อมูลระหว่างหน่วยผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกับข้อมูลหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงของผู้ใช้บริการ นำไปสู่การรับรองและส่งมอบ REC ให้กับผู้ใช้บริการตามแนวทาง Bundled REC ซึ่งเป็นแนวทางที่รวมการชำระค่าไฟฟ้าและค่าบริการใบรับรอง REC ไว้ในธุรกรรมเดียว

ดังนั้น UGT จึงไม่เพียงช่วยตอบความต้องการให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ Net-zero emissions และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวในประเทศไทย แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในระดับภูมิภาค เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล

นายพิศณุ ตันติถาวร รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กรและความยั่งยืน กฟน. กล่าวว่า กฟน.ได้เปิดให้บริการอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มา ที่เรียกว่า UGT1 กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3, 4 และ 5 เป็นกลุ่มแรก โดยที่ผู้ประสงค์ขอใช้บริการอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว UGT1 เพียงมีคุณสมบัติ ไม่มีประวัติค้างชำระกับการไฟฟ้านครหลวง และไม่มีคดีความเกี่ยวกับการละเมิดใช้ไฟฟ้า ณ วันที่สมัครใช้บริการ ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวง (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ) และมีความประสงค์จะขอใช้บริการอัตราค่าไฟฟ้า UGT1 สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการลงทะเบียน และลงทะเบียนได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 โดยช่องทางเว็บไซต์ www.mea.or.th หรือแพลตฟอร์ม (https://eservice.mea.or.th/ugt/)

ขณะที่นางสาวภูสุดา สงคศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟภ. กล่าวว่า กฟภ. มีความพร้อมในการให้บริการ โดยได้เปิดรับสมัครผู้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2568 เป็นต้นมา ผู้สนใจสามารถสมัครใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม ugt.pea.co.th ซึ่งได้รับการออกแบบให้เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้ไฟฟ้าหลังจากการยืนยันตัวตนเสร็จสิ้นผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถระบุปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวและยื่นคิวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

นายพูลพัฒน์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอภาคนโยบายแนวทางการปรับลดค่าไฟลง 17 สตางค์ต่อหน่วย จากข้อเสนอการยกเลิกสัญญา Adder และ FiT ของกลุ่ม SPP และ VSPP นั้น ทาง กกพ. เตรียมส่งหนังสือไปยังนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานภายในเดือน ม.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น