ก.เกษตรฯ และก.พาณิชย์ ผสานเสียง หนุนชาวนาไทยเดินหน้าปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ตอบสนองเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก เผยคู่แข่งเวียดนามหันมาเดินหน้าในเรื่องนี้แล้ว ไทยต้องจริงจัง เพื่อช่วงชิงตำแหน่งผู้นำตลาดข้าวคาร์บอนต่ำให้ได้
ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแข่งขันกันในเรื่องสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนตํ่า เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิต ซึ่งข้าวก็เป็นหนึ่งในสินค้าเป้าหมาย ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกว่า 4.9 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ นาปี – นาปรัง รวมกว่า 70 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่เกือบกึ่งหนึ่งของพื้นที่ภาคการเกษตรของประเทศไทย จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้การผลิตข้าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมื่อปี 62 ภาคการเกษตรมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน โดยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรเกิดจากการผลิตข้าวกว่าร้อยละ 40
ทั้งนี้กรมการข้าวจึงได้ปรับวิธีการปลูกข้าว มาเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดการน้ำในแปลงนาให้มีทั้งสภาพเปียก และสภาพแห้งที่เหมาะสม กับความต้องการน้ำของข้าวในแต่ระยะการเจริญเติบโต โดยปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติ เพื่อให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศที่ดี กระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวมีความแข็งแรง โดยช่วงที่เหมาะสม โดยเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งดังกล่าวสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวได้ ซึ่งขณะนี้กรมการข้าวได้เริ่มทดลองกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกศูนย์ข้าวชมชนในพื้นที่ 22 จังหวัด โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 3,300 คนแล้ว
สำหรับการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเป็นวิธีที่สะดวก ประหยัด และมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำแล้ว ยังสามารลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตข้าวได้กว่าร้อยละ 30 ปี ถือว่าเป็นการพลิกโฉมการผลิตข้าวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดสาเหตุการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมให้เกิดตลาดพรีเมี่ยม เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่สำคัญคือ เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญก็คือ การย่อยสลายฟางข้าวที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ที่เกิดขึ้นจากการเกษตรจำนวนมาก ที่ผ่านมาวิธีที่เกษตรกรจะใช้กันก็คือ การเผา ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศ ทำลายสภาพแวดล้อม และเป็นการเพิ่มมลภาวะทางอากาศอย่างมาก กระทรวงเกษตรจึงมีการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอชังข้าวแทนการเผา นอกจากเป็นการพัฒนาระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้เพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของข้าวให้แก่ดินรวมถึงปรับปรุงโครงสร้าง และความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย
ปัจจุบันสามารถผลิตข้าวคาร์บอนต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 10 ล้านไร่ โดยการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งและการใช้ปุ๋นไนโตรเจนอย่างเหมาะสม รวมถึงลดการเผาตอซังข้าว ด้วยการการใช้จุลินทรีย์ เพื่อเร่งการย่อยสลายฟางและตอชังข้าวหลังการเก็บเกี่ยว เป็นทางเลือกให้เกษตรกรกรลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยกรมการข้าวพัฒนางานวิจัย เพื่อพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายตอซังข้าว และลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในระหว่างการย่อยสลายตอซังอีกด้วย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะสินค้าข้าว ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ หรือข้าวลดโลกร้อน ที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม
สำหรับข้าวคาร์บอนต่ำ คือ ข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ไม่เผาฟางข้าว และการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับกฎระเบียบและมาตรการระหว่างประเทศที่นำประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย พบว่า ภาคเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็น 15.23% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงาน ที่มีสัดส่วน 69.96% และเมื่อพิจารณาเฉพาะภาคเกษตร การปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด มีสัดส่วนถึง 50.58% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ดังนั้น หลายประเทศรวมทั้งไทย มีการส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม (Green Consumer) อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าเพื่อเจาะตลาดข้าวพรีเมียม
ล่าสุดเวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญของโลก ก็มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำอย่างจริงจังแล้ว ทั้งการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การลดใช้สารเคมี ที่สำคัญเวียดนามมี FTA กับสหภาพยุโรป ที่มีข้อกำหนดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด จะทำให้เจาะตลาดข้าวในยุโรปได้ดีกว่าไทย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทย ที่ผ่านมา มีการส่งเสริมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำผ่านการดำเนินการต่าง ๆ อาทิ โครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) หรือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.2561–ก.ค.2567 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสนับสนุนทางการเงิน
“จากความต้องการข้าวคาร์บอนต่ำที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่อาจขยายครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยจึงต้องให้ความสำคัญและเร่งส่งเสริมการผลิตและแปรรูปข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อตอบโจทย์ตลาดโลกและรักษาความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในอนาคต และยังควรมุ่งพัฒนาการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าข้าวให้สูงขึ้น” นายพูนพงษ์กล่าว
Clip Cr.TNN
ข้าวคาร์บอนต่ำ ดีต่อคนปลูกและโลก
ภาคการเกษตร อีกภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยเฉพาะข้าวไทยที่เป็นหนึ่งในสินการเกษตรส่งออกหลัก มีการปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณที่สูงจากวิธีการทำนาปลูกข้าวแบบดั้งเดิม ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีในการทำนาปลูกข้าว และการปรับวิธีการใช้ปุ๋ย ซึ่งเป็นแนวทางการทำนาปลูกข้าวแบบคาร์บอนต่ำจะช่วยให้การทำนาปลูกข้าวของไทย สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทน และเป็นหนึ่งในมาตรการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065
ทำให้ข้าวไทยที่มีคุณภาพสูงในตลาดค้าข้าวของโลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะเป็นข้าวที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนต่ำในกระบวนการเพาะปลูกอีกด้วย สอดคล้องกับแนวทางการผลิตและการบริโภคแบบคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน สำหรับการค้าระหว่างประเทศในยุคโลกร้อน