xs
xsm
sm
md
lg

“เอกนัฏ” สั่งคุมเข้มขนกากพิษ “วิน โพรเสส” ส่งไปกำจัดที่โรงปูนทีพีไอให้เสร็จใน 60 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“เอกนัฏ” ลงพื้นที่คุมการขนกากพิษล็อตแรก “วิน โพรเสส” ที่ระยอง สั่งกรมโรงงานคุมเข้มการขนย้ายอะลูมิเนียมดรอสรวม 7 พันตันเพื่อนำไปกำจัดที่โรงปูนซีเมนต์ของทีพีไอ โพลีนแล้วเสร็จใน 60 วัน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมว่า ได้สั่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) คุมเข้มการขนย้ายตะกรันอะลูมิเนียมหรืออะลูมิเนียมดรอสล็อตแรกทั้ง 7,000 ตันในทุกขั้นตอน ซึ่งเริ่มขนย้ายออกจากบริษัทฯ เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อนำไปบำบัดกำจัดอย่างถูกวิธีที่โรงปูนซีเมนต์ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

จากการประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายในการบำบัดกำจัดอะลูมิเนียมดรอส รวมค่าขนส่งจะอยู่ที่ประมาณตันละ 10,000 บาท ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดกำจัดอะลูมิเนียมดรอสทั้งหมด 7,000 ตัน สูงถึง 70 ล้านบาท ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ทำการขนย้ายอะลูมิเนียมดรอสไปบำบัดกำจัดโดยใช้เป็นวัตถุดิบผสมร่วมกับดินอะลูมินาในกระบวนการเผาเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งใช้อุณหภูมิสูงกว่า 1,400 องศาเซลเซียสโดยโรงปูนซีเมนต์ทีพีไอ โพลีน มีการบริหารจัดการและระบบบำบัดมลพิษประสิทธิภาพสูง ทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถบำบัดกำจัดอะลูมิเนียมดรอสได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบโรงงาน ด้วยงบประมาณเพียง 4 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณของภาครัฐลงได้กว่า 66 ล้านบาท


จากการประเมินของกรมโรงงานฯ พบว่าในพื้นที่มีกากของเสียตกค้างรวมประมาณ 33,800 ตัน ประกอบด้วย 1. ของเสียเคมีวัตถุและเศษซากของเสียที่ถูกไฟไหม้ 12,600 ตัน 2. กากตะกอนของเสียตกค้างในอาคารและรางระบายน้ำ 4,600 ตัน 3. กากตะกอนผิวดินที่เกิดการปนเปื้อนจากเหตุไฟไหม้ 5,900 ตัน และ 4. น้ำเสียเคมีวัตถุ 10,700 ตัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการบำบัดกำจัดสูง ไม่สามารถดำเนินการในคราวเดียว และจากการสำรวจพื้นที่พบว่ามีอะลูมิเนียมดรอสประมาณ 7,000 ตัน ซึ่งเป็นกากของเสียที่สร้างปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนชาวบ้านในพื้นที่มากที่สุด กระทรวงอุตสาหกรรมจึงแถลงต่อศาลจังหวัดระยองขอเบิกเงินที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด วางไว้ต่อศาลจำนวน 4.9 ล้านบาท มาใช้ในการบำบัดกำจัดอะลูมิเนียมดรอสก่อนเป็นลำดับแรกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในวันที่ 26 เมษายน 2568


นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขนย้ายอะลูมิเนียมดรอสจะคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด โดยบรรจุอะลูมิเนียมดรอสในถุงบิ๊กแบ็กแล้วบรรทุกโดยรถโรลออฟพ่วงที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตให้ขนส่งวัตถุอันตราย บรรทุกจำนวน 17 ถุงต่อคัน ปิดคลุมรถด้วยแผ่นพลาสติกรัดตรึงทุกด้านป้องกันการหกรั่วไหลและป้องกันน้ำอย่างมิดชิด จำนวน 4-5 คันต่อวัน ซึ่งจะใช้เวลาในการขนย้ายและทำการบำบัดกำจัดอะลูมิเนียมดรอสทั้งสิ้นประมาณ 60 วัน โดยรถโรลออฟพ่วงทุกคันมีการใช้ระบบติดตามจีพีเอส และมีระบบติดตามและตรวจสอบการขนย้ายอะลูมิเนียมดรอสเฉพาะกิจ

“ผมได้สั่งการและกำชับให้ กรอ.เร่งทำการบำบัดกำจัดกากของเสียที่เหลือให้เร็วที่สุด โดยในระยะต่อไปจะทำการบำบัดของเสียเคมีวัตถุและเศษซากของเสียที่ถูกไฟไหม้ โดยเฉพาะสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถัง IBC และถุงบิ๊กแบ็กที่อยู่นอกอาคารปริมาณ 2,600 ตัน รวมถึงวัตถุอันตรายในบ่อซีเมนต์อีกกว่า 1,400 ตัน และกากของเสียที่เหลืออื่นๆ ทั้งหมดด้วย”


นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะเสนอร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ... ที่ได้ยกร่างแล้วเสร็จต่อรัฐสภา ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะอุดรอยรั่วและการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบอย่างเข้มงวด รัดกุม ป้องกันการกระทำผิดแบบครบวงจร
กำลังโหลดความคิดเห็น