ไตรมาสสุดท้ายปี 67 คาดกำไรหุ้นกลุ่มธนาคารขยับเพิ่ม จากการตั้งสำรองที่ต่ำลงหลังไม่มีความเสี่ยงบริษัทขนาดใหญ่ผิดนัดชำระหนี้ แม้มีค่าใช้จ่ายจากการลงทุนขยายธุรกิจเพิ่ม ท่ามกลางทิศทางรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิลดลงตามทิศทางดอกเบี้ยที่ต่ำลง จนอาจทำให้ปี 68 อัตราเติบโตของธุรกิจจะเป็นไปอย่างจำกัด
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินทิศทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ว่า แนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 4/67 หุ้นกลุ่มธนาคารจะเติบโตเทียบปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการตั้งสำรองที่ลดต่ำลงเพราะไม่มีกรณีผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทใหญ่เหมือนไตรมาส 4/66
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบไตรมาสก่อน เพราะเป็นช่วงที่ธนาคารต่างๆจะบันทึกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากกว่าปกติเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นทิศทางของ Net interest margin (NIM) ปรับตัวลดลงจากการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อให้สอดรับกับดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำลงขณะที่สินเชื่อรวมเติบโตในระดับที่จำกัด ทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิจะลดลงจากไตรมาสก่อน
กำไรแบงก์อาจเติบโตอย่างจำกัด
ส่วนแนวโน้มปี 68 คาดว่าการเติบโตของกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะจำกัดมากขึ้น จากแรงกดดันของรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่จะปรับลดลงจากดอกเบี้ยเงินกู้ลดต่ำลง และการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ “คุณสู้ เราช่วย” ของรัฐบาล ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 68 อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบดังกล่าวคาดว่าจะถูกชดเชยด้วยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ปรับลงจากการลดอัตราเงินนำส่ง FIDF
บวกกับการตั้งสำรองที่มีแนวโน้มปรับตัวลงตามการชำระคืนหนี้ที่ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการคณะด้วยเศรษฐกิจของภาครัฐ และโอกาสที่ลูกหนี้ค้างชำระจะกลับมาจ่ายหนี้มากขึ้นภายใต้มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยหนุน (ธปท.) ให้คาดว่าทั้งปี 2568 กลุ่มธนาคารจะมีกำไรสูงสุดที่อยู่ที่ 2.22 แสนล้านบาทโต 4.8% เทียบปีก่อน
จึงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” โดยแม้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลเชิงบวกจากแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแต่ค่าผลดำเนินงานยังเติบโตได้จากการตั้งสำรองที่มีทิศทางชะลอตัว นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่ซื้อขายด้วย PBV ต่ำและ div Yield สูง โดยแนะนำ KBANK เป็น Top Pick ของกลุ่มมีจุดเด่น จากการสร้างสำรองและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ชะลอตัวลง และคาดธนาคารจะให้ปันผลจากกำไรสุทธิครึ่งปีหลัง 67 อีกหุ้นละ 5.5 บาท/หุ้น คิดเป็น Div 3.5%
9 เดือนกำไรแบงก์ 1.9 แสนล้าน
ก่อนหน้านี้ ในช่วงไตรมาส 3/67 หุ้นกลุ่มธนาคารประกาศผลดำเนินงานอยู่ที่ 6.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.94 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) นั้นเป็นธนาคารที่มีกำไรสุทธิสูงที่สุดที่ 1.24 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนปี 2567 กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีกำไรอยู่ที่ 1.90 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้านบาท โดยเป็น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ที่มีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 3.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ค่าใช้จ่าย Q4/67 สูงขึ้น
ทั้งนี้ ไตรมาส 4/67 มีการคาดการณ์ว่าผลดำเนินงานของกลุ่มธนาคารอาจจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายตามปัจจัยฤดูกาลที่เพิ่มเข้ามา ทั้งค่าใช้จ่ายโบนัสพนักงานและค่าใช้จ่ายลงทุนพัฒนาระบบ ทำให้ Cost to Income Ratio เร่งตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบดังกล่าวยังถูกลดทอนจากการลดการตั้งสำรองที่ลดลง จากปีก่อนที่มีการตั้งสำรองสูงกว่าปกติ ในขณะที่สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต ช่วยหนุนให้ภาพรวมทั้งปี 2567 มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2.1 แสนล้านบาท
ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการประเมินว่า สินเชื่อของกลุ่มธนาคารจะหดตัวลง 2% ในปี 2567 เช่นเดียวกับเงินฝากและเงินกู้ยืมของกลุ่มธนาคารลดลง 0.4% โดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87.7% ในเดือนพฤศจิกายน จาก 86.8% ในเดือนตุลาคม 2567
ผลกระทบที่ลามมาถึงปี 68
นอกจากนี้ การหดตัวของสินเชื่อและเงินที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 ทำให้กำไรของกลุ่มธนาคารจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว โดยเกิดจากสินเชื่อที่เติบโตระดับต่ำ NIM ที่แคบลง Credit Cost ที่ลดลง และ Non-NII ที่เติบโตเล็กน้อย
แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง โดยนักวิเคราะห์คาดว่า BBL จะเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่สินเชื่อเติบโตในปี 2567 แม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำเพียง 1% โดยคาดว่าสินเชื่อจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ดีในไตรมาสสุดท้าย ทำให้สิ่งที่น่าสนใจ และอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยชดเชยให้กลุ่มธนาคารได้นั่นคือ การถูกชดเชยโดย credit cost ที่ลดลง
ความกังวลต่อกลุ่มธนาคารลด
ไม่เพียงเท่านี้ หากพิจรณาจากดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารในรอบปี 2567 กลับปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับภาพรวมของ Set Index โดยหากย้อนกลับไปดูดัชนีหุ้นธนาคารในสิ้นปี 2566 จะพบว่า Set Bank อยู่ที่ 38 3.24 จุดแต่ ณ สิ้นปี 67 กลุ่มธนาคารขึ้นมาอยู่ที่ 400.66 จุด เพิ่มขึ้น 4.54%
นั่นเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ย เพราะหากย้อนกลับไปปีก่อนมีการวิเคราะห์ว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ รวมถึงประเทศไทยนั้นจะอยู่ในช่วงที่เป็นขาลง โดยปี 2567 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้งรวม 1.0% ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1 ครั้งคือ 0.25% ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ทั้งไทยและต่างประเทศต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่านโยบายด้านดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ นั้นจะทำให้ดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลงแรงอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงทำให้เห็นหุ้นในกลุ่มธนาคารราคาค่อยปรับฐานลง
แต่เมื่อข้อมูลจัดการวิเคราะห์เรื่องดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไป โดยหลายฝ่ายมองว่าดอกเบี้ยจะปรับตัวลงค่อนข้างแรงนั้นกลับกลายเป็นว่าทั้งเฟด และ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้มากอย่างที่ประเมินกันไว้ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารดีดกลับอย่างรวดเร็ว นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ได้แก่ BBL KBANK KTB และ SCBX
ธ.ค.คาดอุปสงค์สินเชื่อเพิ่ม
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าอุปสงค์สินเชื่อจะขยายตัวต่อเนื่องในเดือน ธ.ค.2567 เนื่องจากอุปสงค์สินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล แม้จะมองว่า หุ้นกลุ่มธนาคารจะสามารถบรรลุประมาณการสินเชื่อรวมในปี 2567 ได้ แต่ในปัจจุบันยังมองเห็นความเสี่ยงด้านลบ 1-2% ต่อประมาณการการเติบโตของสินเชื่อในปี 2567 สำหรับ KKP, SCB, TISCO และ TTB
และในทางตรงกันข้าม ยังมองเห็นอัปไซด์ประมาณ 1% ต่อประมาณการการเติบโตของสินเชื่อในปี 2567 ของ BBL และ KTB ส่วน KBANK มีแนวโน้มจะสามารถบรรลุประมาณการการเติบโตของสินเชื่อในปี 2567 ได้เช่นกัน
สินเชื่อแบงก์ปี 68 โต 3.1% ตาม ศก.
สำหรับสินเชื่อกลุ่มธนาคารในปี 2568 นั้น นักวิเคราะห์คาดว่า จะเติบโต 3.1% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับ GDP ไทย ซึ่ง ธปท. คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.9% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ปัจจัยหนุนจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว 5.1% และการลงทุนภาคเอกชน ที่คาดเติบโต 2.2% ซึ่งเป็นบวกต่อ BBL, KBANK ที่มีสัดส่วนลูกค้าสินเชื่อธุรกิจสูง และ KTB ในส่วนของสินเชื่อรัฐบาล
ปันผลสูงน่าสนใจ
ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันหุ้นกลุ่มธนาคารถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจเข้าลงทุนในปี 2568 โดยเฉพาะในเรื่องอัตราเงินปันผล หลังจากก่อนหน้านี้ในช่วงหลายปีก่อนอัตราปันผลหุ้นกลุ่มธนาคารอยู่ในระดับต่ำ 2-3% รวมถึงปีก่อน (2566) ที่มีการตั้งสำรองหนี้ไว้ในระดับสูง แต่พอปี 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเติบโต นั่นทำให้ธนาคารมีเงินสะสมอยู่จำนวนมาก สังเกตได้จาก ROE ที่อยู่ในระดับสูง จนนำไปสู่การจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงขึ้นเป็น 5-6% ทำให้นักลงทุนหลายคนสนใจในเรื่องนี้ รวมถึงความสนใจจากบรรดากองทุน ด้วย P/E ที่อยู่ในระดับต่ำ
และหากตัวเลขเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามที่ภาครัฐคาดหวัง หลายฝ่ายเชื่อว่า เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นกลุ่มธนาคารจะเป็นกลุ่มธุรกิจแรกที่ฟื้นตัวขึ้นมาก่อน นั่นทำให้ BBL และ KTB มีความน่าสนใจ
“พอมาดูเรื่องดอกเบี้ยที่ลดลงช้าคือไม่ได้ลงเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ถือเป็นประเด็นช่วยผ่อนคลายความกังวลต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร และทำให้หุ้นในกลุ่มนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น”
นำไปสู่คาดการณ์ที่ว่า ถ้าครึ่งหลังปี 2567 ธนาคารส่วนใหญ่นำกำไรส่วนเกินในงวดครึ่งปีแรกมาตั้งเป็น Credit เพื่อบรรลุแผนการล้างหนี้เสียในงบดุล ดังนั้น Credit Cross เกือบทุกธนาคารจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ KBANK และ SCB ซึ่งตั้งเป้าจะล้าง NPL ค้างเก่าให้หมดภายในปี 67 ก่อนที่จะลด Credit Cross ลงในปี 68 ส่วน KTB จะตั้งสำรองด้อยค่าสูงขึ้น
ลดตั้งสำรองเป็นปัจจัยหนุน
ภาพรวมนักวิเคราะห์มองกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารปี 67-68 อยู่ที่ 2.05 แสนล้านและ 2.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% และ 6% จากงวดปีก่อน จากการสำรองที่ลดลงเป็นหลักโดยจะปรับตัวลดลง 10% จากปี 2566 เพราะมีการตั้งเผื่อมากแล้ว ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% แบ่งเป็นช่วงปลายปี 67 ถึงครึ่งแรกปี 68 จึงให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคารมากกว่าตลาด โดยยกให้หุ้น KBANK มีความโดดเด่นจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นและ valuation แนะนำซื้อราคาเป้าหมาย 176 บาท
ถัดมาคือ KTB โดยค่ากำไรสุทธิปี 67 จะอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มสูงสุดในกลุ่ม 15% จากปีก่อนเพราะตั้งสำรองลดลง และจะเน้นการปล่อยสินเชื่อภาครัฐมากขึ้นซึ่งมีความเสี่ยงต่ำแนะนำซื้อราคาเป้าหมาย 23 บาท