xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานผนึกก.อุตฯเร่งปลดล็อกรง.4

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“พลังงาน” จับมือกระทรวงอุตฯ เร่งปลดล็อกการขอใบอนุญาตรง.4 หวังให้การอนุมัติด้านไฟฟ้าให้เร็วขึ้น หนุนใช้เชื้อเพลิงชีวภาพใยอุตสาหกรรม S-Curve พร้อมผลักดันการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน มุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และร่วมผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสำคัญระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่ ประเด็นการดำเนินการ One Stop Service การอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้า เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการและระยะเวลาการอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น

ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการยกเลิกขั้นตอนขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4 ลำดับที่ 88) จาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 แล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายว่าด้วยการยกเลิกใบอนุญาต รง.4 ดังกล่าว รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับภาคประชาชนที่กระทรวงพลังงานเตรียมส่งเสริมในปีหน้า เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

ที่ประชุมยังมีการหารือประเด็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อเพิ่มมูลค่า เนื่องจากมาตรการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2569 ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นต้นทางของเอทานอลจะได้รับผลกระทบ กระทรวงพลังงานจึงเตรียมมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ทดแทนเอทานอลในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง การสกัดสมุนไพร สุราสามทับ พลาสติกชีวภาพ หรือการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง คาดว่าจะสามารถผลักดันให้สามารถจำหน่ายเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นเพื่อชดเชยบางส่วนได้ในทันที ส่วนปริมาณที่เหลือจะหารือเพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เอทานอลมากขึ้นต่อไป

ในส่วนของไบโอดีเซล จะร่วมกันผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างกรอบในการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ของปาล์มน้ำมัน พร้อมไปกับการเพิ่มโอกาสนำเชื้อเพลิงชีวภาพให้สามารถผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนของสากลเพื่อนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือแนวทางการรับซื้อใบอ้อย/ยอดอ้อยเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องในฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย โดยข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถรองรับการใช้ใบอ้อย/ยอดอ้อยในสัดส่วน 10 - 30% พร้อมร่วมพิจารณาการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยไม่กระทบค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานประเมินอัตรารับซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลจากใบอ้อย/ยอดอ้อยอยู่ในระดับ 2.67 บาท/หน่วย ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับข้อเสนอและคาดว่าในปีหน้าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ใบอ้อยในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นหลังจากดำเนินนโยบายการรับซื้อในราคาที่จูงใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ลดการเผาแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่น PM2.5 ได้อีกด้วย

ส่วนความร่วมมือแนวทางการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ที่หมดอายุใช้งาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งทั้งสองกระทรวงเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำกับคุณภาพและความปลอดภัยของแผงโซลาร์เซลล์ และให้ทบทวนมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ โดยเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์ให้ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดการแผงที่หมดอายุใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการร่างกฎหมายและจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการสำหรับแก้ไขปัญหาและชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากแผงโซลาร์เซลล์

ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงาน กกพ. มีฐานข้อมูล ปริมาณการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าทั้งในระบบและนอกระบบที่สามารถนำไปประเมินปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุในอนาคตได้ รวมทั้งจะร่วมมือพัฒนาส่งเสริมการนำแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) มาใช้งานเป็น 2nd Life Battery คือนำไปใช้งานร่วมกับแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือเป็นระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) สำหรับบ้าน อาคาร โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

ส่วนการส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมนั้น ตามแผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับร่างแผน PDP2024 มีการกำหนดสัดส่วนผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 5 ภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคพลังงาน โดยขอความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันเตรียมการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักร รองรับการใช้เชื้อเพลิงผสมดังกล่าว โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมตามแนว
ท่อก๊าซธรรมชาติ โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้นี้ เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐศาสตร์สำหรับการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อยู่ระหว่างผลักดันการใช้ Factory Energy Code ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการดำเนินนโยบาย BCG พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลโรงงาน เครื่องจักรของอุตสาหกรรม และข้อมูลการใช้พลังงานในโรงงานควบคุมและนอกข่ายควบคุม
กำลังโหลดความคิดเห็น