เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับโลกที่ไม่แน่นอนสูง เผยนโยบายการเงินต้อง Resiliency ยืดหยุ่น ใช้เครื่องมือหลากหลาย ย้ำดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งหมดได้ เตรียมออกมาตรการแก้หนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี เพิ่มเติม 11 ธ.ค.นี้
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand’s Monetary and Financial Policy: Building Resiliency for an Uncertain World” นโยบายด้านการเงิน : การสร้าง Resiliency for an U ncertain World ในงาน Thailand Next Move 2025 “Resiliency for an Uncertain World” รับมือบริบทโลกใหม่ที่ไม่นิ่ง ที่จัดโดยวารสารการเงินธนาคาร ว่า ในภาวะปัจุบันและอนาคต เป็นความยากของความเสี่ยงต่างๆ จากที่เคยเป็นความเสี่ยงที่มาจากไหน เช่น ราคาน้ำมัน พอจะคาดการณ์ได้ แต่ความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนคาดการณ์ยาก เป็นสิ่งที่จะเจอในปี 2568 คือความไม่แน่นอนสูง และมีผลข้างเคียงแบบคาดไม่ถึง
“ความไม่แน่นอนที่จะเห็นในปี 2568 เรื่องแรกคือ โลกจะแบ่งขั้วแยกกันมากขึ้น และยังดูไม่ออกว่าจะในปี 2568 ผลจากการแบ่งขั้วนั้นจะมาเร็วและแรงเพียงใด โดยเฉพาะการกีดกันด้านเทคโนโลยี โลกที่มีการแยกออกจากกันแต่ Supply chain ยังผูกกันค่อนข้างสูง ทำให้การค้าโลกจะได้รับผลกระทบจากการกีดกันการค้ามากขึ้น ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจประเทศหลักไม่ดำเนินไปในทางเดียว แต่ละประเทศดำเนินการต่างกันเพราะฟื้นได้ไม่เท่ากัน เช่น สหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจดูดี ตลาดทุนดูดี แต่รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่จากที่พอดูออก เรื่อง 1.คือ เรื่องภาษีนำเข้าที่จะมีผลกระทบต่อการค้าขาย 2.คือนโยบายด้านการลดภาษี ที่อาจจะนำไปสู่การขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ที่จะสูงขึ้น และ 3.คือการกวาดต้อนคนต่างชาติให้ออกจากสหรัฐฯ ทุกนโยบายที่จะเกิดขึ้น ล้วนแต่จะทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การแบ่งขั้วของโลกเกิดขึ้นควบคู่ไปกับเศรษฐกิจจีนที่โตช้า จนทำให้มีการระบายสินค้าของจีนออกมาในตลาดโลกและเข้ามาในประเทศไทย และการนำเข้าสินค้าของไทยจากจีนมีมากขึ้นจนเริ่มส่งผลต่อภาคการผลิตของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจากจีน การบริโภคและการผลิตเริ่มไม่ไปในทิศทางเดียวกัน จากอดีตการบริโภคโตเฉลี่ย 1.8% การผลิตโต 1.6% เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา การบริโภคโตเฉลี่ย 2.1% การผลิตโต 0.6% เป็นการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง และการกระตุ้นบริโภค ท่ามกลางการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้การนำเข้าสินค้าจีนมีมากขึ้น ซึ่งนอกจากภาคการผลิตและบริโภคแล้วปัญหานี้ยังกระทบไปถึงกลุ่มสินเชื่อด้วย ที่ทำให้การตั้งหนี้สงสัยจะสูญต้องเพิ่มขึ้นด้วย
Resiliency ไม่ใช่แค่เสถียรภาพ (stability) แต่กว้างกว่านั้น คือ ทนทาน + ยืดหยุ่น + ล้มแล้วลุกเร็ว โดยเศรษฐกิจจะ resilient ได้ ต้องมี 3 องค์ประกอบ : (1) เสถียรภาพ (stability) (2) มีภูมิคุ้มกันทางการเงิน (buffer) และทางเลือกอื่นๆ (option) (3) เติบโตจากโอกาสใหม่ (digital & transition) ท่ามกลางโลกไม่นิ่งและมีความเสี่ยง การดำเนินโยบายในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องดำเนินนโยบายแบบ Robust Policy ซึ่งเป็นนโยบายที่อาจจะเหมาะสมกับสถานการณ์หลายสถานการณ์ ไม่ใช่นโยบายที่เหมาะที่สุดในสถานการณ์ใดสถานการณ์เดียว ซึ่งเป็นนโยบายที่จะช่วยเรื่อง Resiliency ได้ดีกว่า โดย ธปท.ใช้เครื่องมือที่หลากหลายไม่ใช่นโยบายใดนโยบายเดียว เช่น เรื่องของดอกเบี้ย
“ดอกเบี้ย ต้องใช้ในหลายบทบาท ต้องดูเสถียรภาพในประเทศ ดูเรื่องของเสถียรภาพนอกประเทศ ดูเรื่องของเจ้าหนี้ลูกหนี้ ดอกเบี้ยอย่างเดียวตอบโจทย์ทุกอย่างเป็นไปได้ยาก การดำเนินนโยบายให้มี Resiliency ธปท.ต้องเสริมอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น มาตรการด้านการเงิน เช่น เรื่องของแก้หนี้ ที่เป็นมาตรการ macroprudential”นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ดี เรื่องนโยบายการเงิน ธปท.จะดู Outlook Dependent มากกว่า Data Dependent เพราะการทำนโยบายภายใต้ข้อมูลที่ออกมาอย่างเดียวจะทำให้นโยบายขาดเสถียรภาพ ซึ่งการทำนโยบายจะต้องช่วยลดความเสี่ยง ลดความไม่แน่นอนให้ระบบ แต่หากทำให้ยิ่งเกิดความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น จะกลายเป็นว่านโยบายคือเหตุให้เกิดความไม่แน่นอน
“เรื่องหนึ่งที่ ธปท.พยายามไม่ทำคือการไม่ให้ forward guidance หรือการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ถึงแนวโน้นการดำเนินนโยบายมากเกินไป เพราะการทำนโยบายไปแล้วและจะต้องกลับลำภายหลังเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น และคงไม่เหมาะสม เพราะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิด Resiliency”
นอกจากนี้ คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจ โดยเรื่องหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขาด Resiliency คือ เรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการที่เรียกว่า Responsible Lending และมีการติดตามมาโดยตลอด ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ธปท.จะออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีเพิ่มเติม