นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "Thailand's Monetary and Financial Policy: Building Resiliency for an Uncertain World" นโยบายการเงินนำประเทศ รับมือบริบทโลกใหม่" ว่า การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้านั้น สิ่งที่โลกกำลังต้องเผชิญไม่ใช่ "ความเสี่ยง" (Risk) แต่เป็นเรื่องของ "ความไม่แน่นอน" (Uncertain) ซึ่งสามารถคาดเดาและบริหารจัดการได้ยากกว่าว่าจะมี Shock อะไรเกิดขึ้น
"ความไม่แน่นอน" ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า มี 3 เรื่องสำคัญ คือ
1.การแยกตัวของการค้า (Geoeconomic fragmentation) เพิ่มขึ้น
2.นโยบายเศรษฐกิจประเทศหลัก โดยในช่วงโควิด-19 นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน แต่หลังโควิด-19 นโยบายไปคนละทิศทาง และความเร็วที่ต่างกัน
3.Markets & pricing of risk จะเห็นว่าหุ้น NVIDIA มีมูลค่าถึง 3.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหุ้นเพียงตัวเดียวมีมูลค่าตลาดมากกว่าตลาดหุ้นในประเทศแคนนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นต้น ดังนั้น การคำนวณความเสี่ยงของตลาดจะมีมากพอหรือไม่เป็นเรื่องต้องติดตาม เพราะโอกาสที่โลกจะมีความเสี่ยง และความไม่แน่นอนมีมากขึ้น
"ทั้ง 3 นโยบายนี้จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะเข้ากรอบได้ ทำได้ยากขึ้น ดังนั้น การทำนโยบายการเงินจะยากขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หากดูผลข้างเคียงที่มีต่อไทย เช่น การนำเข้าของจีน จะเห็นว่าในปี 63-64 มาจากตลาดอาเซียนค่อนข้างสูง โดยเวียดนามเป็นอันดับ 1 และไทยเป็นอันดับ 2
แต่สิ่งที่เห็น คือ การฉีกของการเติบโตระหว่างการบริโภคและการผลิต ซึ่งจากเดิมการบริโภคและการผลิตจะขยายตัวใกล้เคียงกัน โดยในปี 55-63 GDP ภาคการผลิตอยู่ที่ 1.6% และการบริโภคขยายตัว 1.8% ค่าเฉลี่ยความสัมพันธ์การผลิตและการบริโภคอยู่ที่ 0.79% แต่ปัจจุบัน ในปี 64 จนถึงไตรมาส 3/67 จะเห็นว่า GDP การผลิตอยู่ที่ 0.6% และการบริโภคอยู่ที่ 2.1% โดยค่าเฉลี่ยสัมพันธ์อยู่ที่ 0.05% เท่านั้น
* จ่อประกาศมาตรการแก้หนี้รายย่อย 11 ธ.ค.
สำหรับการดำเนินนโยบาย Resiliency ไม่ใช่แค่เสถียรภาพ แต่กว้างกว่านั้น คือ จะต้องมีความทนทาน ยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกเร็ว ปรับตัว แต่หนีไม่พ้นเรื่องของเสถียรภาพ ทั้งนี้ เศรษฐกิจจะ Resilient ได้ ต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่
1.เสถียรภาพ (stability) โดยนโยบายการเงินจะต้องเป็นนโยบายที่แข็งแรง เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ จะช่วยเรื่อง Resiliency ได้ดีกว่า เพราะไม่ได้ใช้นโยบายเพียงอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว รวมถึงทำนโยบายโดยดูจาก Outlook Dependent มากกว่า Data Dependent เพราะจะมีปัจจัยรบกวนเข้ามา ซึ่งจะทำให้นโนบายขาดเสถียรภาพ
2.มีภูมิคุ้มกันทางการเงิน (buffer) และทางเลือกอื่นๆ เช่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ธปท.ได้ออกมาตรการ Responsible Lending ออกมา และภายในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ จะมีการประกาศมาตรการแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติม
3.เติบโตจากโอกาสใหม่ (digital & transition) ธปท.ได้มีการวางรากฐานตามกระแสโลกใหม่ เช่น ระบบชำระเงินที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ธปท.ต้องการเชื่อมระบบการชำระเงินไปสู่การให้สินเชื่อด้วย โดยผ่านโครงการ Your Data หรือการเพิ่มธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่จะมีการประกาศรายชื่อกลางปี 2568 และสามารถเริ่มดำเนินงานได้ภายในปี 2569
"นโยบายการเงินที่ Resiliency สิ่งที่เราไม่อยากเห็น คือ การให้ Forward Guidance มากเกินไป โดยหากเงื่อนไขเปลี่ยนไป และนโยบายที่เหมาะสมเปลี่ยนไป เพราะเราไม่อยากเห็นนโยบายไปอีกทางหนึ่ง และต้องกลับลำ" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ