“เอกนัฏ” นำทีมลงพื้นที่ภาคเหนือ สั่งการ “ดีพร้อม” ส่งเสริมเกษตรแปรรูป ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น หนุนซอฟต์พาวเวอร์ ป้องกันภัยพิบัติ พร้อมต่อยอดงานวิจัยเกราะกันกระสุนผสมใยกัญชงให้ได้มาตรฐานและขยายผลเชิงพาณิชย์
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้านโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะดวก โปร่งใส” สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เป็นศูนย์กลางการบริการทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เตรียมการรองรับปัญหาอุทกภัยด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติให้เป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
พร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงได้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารและด้านแฟชั่น ด้วยการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA ผ่าน 3 แนวทาง คือ 1)สร้างสรรค์และต่อยอด 2) โน้มน้าว และ 3) เผยแพร่ ส่งต่อประสบการณ์ใหม่ผ่านมุมมองที่สัมผัสได้สไตล์ Local LANNA
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) พัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น อาทิ สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น อาหารพื้นถิ่น หัตถกรรมพื้นบ้าน สมุนไพรประจำถิ่น และวัสดุพื้นถิ่น ด้วยการประยุกต์ ใช้ทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา นวัตกรรม และเทคโนโลยีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ สร้างภาพลักษณ์และการรับรู้ผ่านการสร้างแบรนด์และนำเสนอเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับแหล่งผลิต
ตลอดจนขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ช่วยให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองและเป็นการกระจายรายได้ไปยังเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยอย่างทั่วถึง อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภูมิภาค (Local Economy) ได้อย่างยั่งยืน
นายเอกนัฏ กล่าวว่า โกโก้ เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่อีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจของภาคเหนือ ที่สามารถผลักดันและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้แบรนด์ชั้นนำของไทยสู่ตลาดสากลได้ รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปโกโก้สู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ด้วยการนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสู่การเป็นสินค้าพรีเมี่ยม อาทิ โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต โดยเพริ้มศักยภาพยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้ ชา หรือกาแฟ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับเวทีโลก เพื่อดึงให้เกิดการเพาะปลูกและผลิตสินค้าเกษตรของพื้นที่ที่มีคุณภาพพร้อมมีตลาดรองรับ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ” ที่สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม รีสอร์ท และแหล่งท่องเที่ยว
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีเป้าหมาย “เป็นองค์กรนำวิสาหกิจภาคเหนือตอนบนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยมีการดำเนินการทั้งในด้านวิชาการ คิดค้นรูปแบบ หลักสูตรเพื่อสร้างต้นแบบการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการบริการทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ และในด้านการปฏิบัติ ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจให้มีขีดความสามารถสอดคล้องกับความต้องการและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของพื้นที่ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ
ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA เพื่อพัฒนาเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ โดยดีพร้อมได้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารและด้านแฟชั่น ด้วยการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA ผ่าน 3 แนวทาง คือ 1) สร้างสรรค์และต่อยอด 2) โน้มน้าว และ 3) เผยแพร่
ส่วนปัญหาของอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ได้เร่งดำเนินการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พร้อมจับมือกับภาคเอกชนผลิตแผ่นป้องกันน้ำท่วมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตจากวัสดุคอมโพสิต หรือขยะพลาสติก และเตรียมขยายผลสู่เชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศยังได้พัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมต่อยอดงานวิจัยเกราะกันกระสุนผสมใยกัญชงให้ได้มาตรฐานและขยายผลเชิงพาณิชย์ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 50 และได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการให้คำปรึกษาแนะนำและแก้ไขให้สายพานที่ติดมากับหุ่นยนต์กู้ภัยจากต่างประเทศมาออกแบบทำใหม่ทดแทนตัวเก่า รวมทั้งสนับสนุนการสร้างเครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานต์รบ อุตสาหกรรมต่อเรือ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นต้น