xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าตลาด “โตโยต้า” ไม่เล่นสงครามราคา หวังกลางปีหน้าเศรษฐกิจฟื้น วอนรัฐช่วย 3 เรื่อง นับถือจีนเก่งลดราคายังกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดบทสัมภาษณ์ โนริอากิ ยามาชิตะ แม่ทัพใหญ่ค่ายโตโยต้า ในสถานการณ์ยานยนต์ไทยผิดปกติ ยอดขายตกลงอย่างต่อเนื่อง ฐานะเจ้าตลาดจะรับมืออย่างไร โดยเฉพาะค่ายจีนปรับลดราคากันกระหน่ำ 

-ประเมินสถานการณ์ยานยนต์ของไทย

สถานการณ์ยานยนต์ในปัจจุบันค่อนข้างมีความยากลำบาก ผมอยากจะขอเปรียบเทียบกับปีพ.ศ.2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่มียอดการผลิตราว 2 ล้านคัน โดยครึ่งหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 1 ล้านคัน แต่พอมาปีนี้การผลิตเพื่อส่งออกยังคงตัวอยู่ในระดับเดิมที่ 1 ล้านคันได้ ในขณะที่ยอดผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศลดลง สองปีก่อนยังอยู่ที่ระดับ 840,000 คัน และปีนี้อาจจะตกลงมาอยู่ที่ระดับไม่ถึง 6 แสนคัน คือลดลงมาจากเดิมที่เคยขายในประเทศได้ถึง 1 ล้านคัน ปึพ.ศ.2562

ส่วนของโตโยต้า เรามีการส่งออกไปต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2562 แต่ยอดจำหน่ายในประเทศมียอดลดลงตามขนาดตลาด อย่างไรก็ตามด้วยความพยายามของเรา ทำให้สามารถทำสัดส่วนตลาดรวมในประเทศได้มากกว่า 37% ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2562 ถึงแม้ว่ายอดการผลิตโดยรวมของเราจะลดลง แต่ยอดการส่งออกที่ยังคงทรงตัว และยอดการจำหน่ายในประเทศที่ลดลงร่วม 20% เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2562 เช่นเดียวกับการหดตัวของตลาดในประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกับยอดส่งออกแล้ว เราได้รับผลกระทบเพียงครึ่งหนึ่ง คือมียอดการผลิตที่ลดลงเพียง 10 % เท่านั้น ยอดการจำหน่ายในประเทศทั้งหมดที่ระดับไม่เกิน 600,000 คันนี้ ถือว่าต่ำมาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น GDP ในไตรมาสที่ 3 มีการขยายตัว 3% และการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % ของธนาคารแห่งประเทศไทย คงจะทำให้สถานการณ์ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นอุตสาหกรรมยานยนต์มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีสัดส่วนต่อ GDP ถึง 10 % เราจึงหวังให้รัฐบาลมีมาตรการที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่กำลังตกอยู่ในความยากลำบากนี้ต่อไปด้วย


-หากปีหน้าตลาดรถยังคงเป็นเช่นนี้ โตโยต้า มีแผนรองรับอย่างไร

ปีนี้อยู่ระดับ 600,000 คัน แต่คิดว่า GDP จะกระเตื้องขึ้นและมาตรการที่ออกตามมา คิดว่าประมาณกลางปีหน้า เศรษฐกิจโดยภาพรวมจะฟื้นตัวขึ้นมา ภายใต้สภาวะความยากลำบากที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราคิดว่าไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่เปรียบเสมือนมายากลที่จะเปลี่ยนสถานการณ์พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เรามองว่าเราจะพยายามเพิ่มตัวเลือกให้ผู้บริโภคไปเรื่อย ๆ อย่างเช่น ในครั้งนี้รถรุ่นต่าง ๆ ที่เรานำมาเปิดตัวเป็นตัวเลือกใหม่ที่ลูกค้าจะมีความสนใจ เราจะอาศัยความร่วมมือจากผู้แทนจำหน่ายที่จะดูแลลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การบริการหลังขาย และการขายที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าต่อไป

-ความช่วยเหลือที่ต้องการได้จากภาครัฐบาล


อย่างที่เรียนให้ทราบในตอนต้นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพราะมีสัดส่วนถึง 10 % ของ GDP ดังนั้น เราต้องการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล 3 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก:ต้องการให้รัฐบาลมีแผนระยะกลางและระยะยาวที่ตอบรับความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในการสนับสนุนการผลิตรถยนต์กลุ่มที่มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างสูง นั่นคือ รถปิกอัพ รถ PPV และรถอีโคคาร์

เรื่องที่สอง:การออกมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมในระยะสั้น ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังประสบความยากลำบากดังเช่นปัจจุบัน

เรื่องที่สาม:การสนับสนุนให้มีตัวเลือกยานยนต์ขับขี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่ BEV แต่ให้ครอบคลุมถึง FCEV, PHEV, HEV และรถยนต์ใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย



-โตโยต้าจะยังคงการลงทุนในไทยต่อไปหรือไม่

อดีตนายกฯเศรษฐาได้หารือร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น เมื่อครั้งเดินทางไปประชุมที่กรุงโตเกียว เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และรัฐบาลไทยได้สรุปยอดรวมการลงทุน 5 ปีข้างหน้าของผู้ผลิตญี่ปุ่นที่ได้เข้าร่วมหารือในครั้งนั้น  จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลไทยมีความเป็นห่วงว่าผู้ผลิตเอกชนญี่ปุ่นจะยังคงลงทุนหรือไม่ รมว.อุตสาหกรรมไทย (ท่านเอกนัฐ) ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันความต้องการลงทุนของผู้ผลิตญี่ปุ่น โตโยต้าได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะลงทุนไม่น้อยกว่าที่ได้แจ้งตัวเลขไว้ให้ ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการออกมาช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ที่มีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ คือรถปิกอัพ PPV และรถอีโคคาร์

-ความต้องการดังกล่าวเป็นของโตโยต้าโดยเฉพาะหรือของผู้ผลิตอื่นด้วย

มาตรการระยะยาวที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ เป็นความคิดเห็นสรุปที่ได้จากการสอบถามสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ JCC (หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ) และ TAPMA (สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย) สำหรับมาตรการระยะสั้นที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้นั้น มีที่มาที่ไปจากการกู้ไม่ผ่าน และเศรษฐกิจประสบความยากลำบาก อันมีสาเหตุมาจากสัดส่วนหนี้ต่อครัวเรือนสูงถึง 90 % เราต้องการให้รัฐบาลผ่อนผันเงื่อนไขการปล่อยกู้ และมีมาตรการช่วยให้ประชาชนสามารถซื้อรถได้ง่ายขึ้น


อย่างไรก็ตาม เรามองว่าการเพิ่มสัดส่วนหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังนั้น การออกมาตรการที่สร้างสมดุลย์ได้ระหว่างการซื้อรถได้ง่ายขึ้นและการไม่ก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่อยากจะให้รัฐบาลพิจารณา เพราะจะเป็นการช่วยผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย และโตโยต้าจะออกรถยนต์รุ่นใหม่ๆ รุ่นเฉพาะเพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภค และสร้างยอดขายให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป ตอบรับกับ GDP ที่จะปรับตัวขึ้นต่อไป อีกทั้ง ด้วยเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศ ที่จะดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ให้บริการหลังการขายที่ดี ทำการขายที่มีคุณภาพ ให้กับลูกค้าของเราต่อไป

-มองสถานการณ์รถปิกอัพเป็นเช่นไร

รถปิกอัพเป็นรถที่โตโยต้าให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นรถที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวันรองรับการใช้ทุกรูปแบบ เราเชื่อว่า Demand ยังมีอยู่ แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากในปัจจุบัน และผู้มีรายได้น้อยประสบปัญหาในการซื้อ ทำให้ปัจจุบัน ตลาดรวมรถปิกอัพตกลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 แสนคัน คืออยู่ที่ระดับ 160,000 คัน หากคิดเป็นสัดส่วนต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ทุกรุ่นในประเทศไทยคือ 30% เท่านั้นเอง

ในส่วนของโตโยต้า เราได้พัฒนารถปิกอัพไฮลักส์ให้รองรับกับความต้องการใช้งานต่าง ๆ ของประชาชนชาวไทย ทำให้เราได้รับความไว้วางใจ สร้างสัดส่วนตลาดของยอดขายตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนตุลาคมปีนี้มากกว่า 46% เลยทีเดียว รถปิกอัพมีสัดส่วนการซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศสูงถึง 80 -90 % มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าปีนี้จะมียอดจำหน่ายที่ลดลง แต่รถปิกอัพเป็นรถที่ชาวไทยนิยมใช้งาน เราจะพยายามสร้างยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น


-ผู้ผลิตจีนมีการเปิดตัวรถปิกอัพไฟฟ้ามากมาย

ปิกอัพ EV เป็นตัวเลือกที่เพิ่มมากขึ้นให้กับผู้บริโภค การที่ BYD, GEELY, GWM มีตัวเลือกปิกอัพให้นั้น เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ผู้ใช้ปิกอัพไทยต้องการรถปิกอัพไปใช้ในหลากหลายรูปแบบการใช้งาน มีการทำ conversion เพื่อบรรทุกสิ่งของ บรรทุกคน ขนสินค้า ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะพัฒนารถปิกอัพให้รองรับกับความต้องการทั้งหมดนั้นให้ได้

รถปิกอัพ BEV ที่โตโยต้าจะผลิตและจำหน่ายปลายปีหน้า ก็เป็นรถไฮลักซ์ที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ให้ได้ด้วย เราต้องการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่านรถยนต์ขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าที่หลายหลากรูปแบบการขับเคลื่อน ให้เหมาะสมกับตลาด และความต้องการของลูกค้า อีกทั้ง รถปิกอัพ BEV ที่เราผลิตนี้เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย การพัฒนารถยนต์ให้ตอบรับกับความต้องการของประเทศปลายทางการส่งออก ก็เป็นเรื่องท้าทายด้วยเช่นกัน

-การแข่งขันด้านราคา ส่งผลต่อยอดขายในปีนี้ด้วยหรือไม่

การรีรอที่จะซื้อเพราะการลดราคา 200,000 บาท ถึง 300,000 บาท เกิดขึ้นจริง หากลดได้ขนาดนี้ แล้วยังสามารถสร้างกำไรได้ด้วยละก็ คงต้องยอมรับว่าผู้ผลิตจีนมีศักยภาพแข่งขันด้านราคาที่สูงทีเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การลดราคาขนาดนี้คงจะเกิดขึ้นเฉพาะรถ BEV เท่านั้น โตโยต้าไม่ลด และไม่คิดที่จะลดราคาไปแข่งขันแน่นอน เพราะผู้บริโภคคงต้องการรถที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน หากราคาลดลงมากขนาดนี้ จะมีผลกระทบต่อการขายต่อแน่นอน


-มองตลาดรถ BEV ในประเทศไทย

การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนคงจะไม่มีตัวเลือกเพียงแค่ BEV แต่รถ HEV , PHEV รวมถึงรถยนต์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นตัวเลือกที่จะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ด้วย เราคิดว่าผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกว่าเทคโนโลยีใดจะมีความเหมาะสม ดังที่ได้ประกาศตัวเลขไปแล้วว่า รถ HEV มียอดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น 40% ในขณะที่รถ BEV มียอดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น 1 % ตัวเลขทั้งสองนี้ คงจะเป็นข้อพิสูจน์ในการเลือกเทคโนโลยีของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น เมื่อลูกค้าซื้อรถยนต์ไปใช้ คงจะใช้มากกว่า 10 ปี การบริหารหลังขาย โปรแกรมด้านการเงินจากสถาบันการเงิน ฯลฯ เป็น Value chain สำคัญที่จะสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับลูกค้าได้ ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าที่พึงได้รับ จากที่เราได้ประกาศไว้ในงานนี้เมื่อปีที่แล้วว่า โตโยต้าจะผลิตและจำหน่ายรถปิกอัพ BEV ในปลายปีหน้า ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากต้นทุนแล้ว ในเรื่องของการใช้งานตามความต้องการของลูกค้าก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ รถปิกอัพเป็นเสาหลักของเรา ซึ่งเราจะพัฒนารถปิกอัพ BEV ใหม่ออกมาให้ได้ดีตอบรับความต้องการของลูกค้า โดยการนำไปใช้ในโครงการรถสองแถวโครงการหนึ่ง ที่จะทำให้เราได้เก็บข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้านการใช้งานต่อไป


-มาตรการต่อรถเก่า ที่ MOI ได้คุยกับปะธาน อากิโอะ โตโยดะ ที่ญี่ปุ่น

รถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปีของไทยมีถึง 30 % ของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด และสร้าง PM2.5 สูงถึง 70% ของ PM2.5 ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ดังนั้น การมีมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ใช้รถเก่าได้เปลี่ยนมาใช้รถใหม่จะเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างยอดขายรถใหม่ไปพร้อมกันได้

ตัวอย่างเช่น ให้ผู้ที่มีรถเก่ากว่า 20 ปี ขายรถทิ้งเป็นซาก แล้วซื้อรถเก่าอายุ 10 ปี หรือผู้ใช้รถเก่าอายุ 10-15 ปีขายรถเก่ามาใช้รถใหม่ เป็นต้น แนวความคิดนี้เรียกว่า ELV (End of Life Vehicle) เป็นมาตรการที่จะบังคับให้มีการบำบัดซากรถยนต์ ให้ผู้ใช้รถเก่าเปลี่ยนมาใช้รถใหม่ ซึ่งมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและการกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย

ถึงบรรทัดนี้ต้องบอกว่าภาระอันหนักอี้งตกอยู่กับ "โนริอากิ ยามาชิตะ" ผู้กุมบังเหียน เพราะตำแหน่งเจ้าตลาดรถเมืองไทยค้ำคออยู่  บวกกับผู้เล่นจากเมืองจีนมาแรงแซงทุกโค้ง เศรษฐกิจก็ย่ำแย่  งานนี้ต้องจับดูกันอย่างใกล้ชิด ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก 
กำลังโหลดความคิดเห็น