xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) โชห่วย ถูกดี มีมาตรฐาน เริ่มต้นอย่างไร ก่อนจะจบที่หนี้สินหลายล้านบาท เจ้าของร้านโชห่วยหลายคนหมดตัวถึงกับคิดสั้นลาโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



โชห่วย ถูกดี มีมาตรฐาน เริ่มต้นมาอย่างไร จากแนวคิดยกระดับโชห่วยไทย แต่สุดท้าย จบที่หนี้สินหลายล้านบาทของเจ้าของร้านโชห่วย หลายคนหมดตัวถึงกับคิดสั้นลาโลก

ประวัติความเป็นมา โชห่วยถูกดี มีมาตรฐาน เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 โดยคุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ เจ้าของอาณาจักรคาราบาว กรุ๊ป การลงทุนครั้งนี้ คุณเสถียร บอกว่า การลงทุนในนามส่วนตัว ไม่ได้อยู่ในเครือคาราบาวกรุ๊ป โดยได้ลงขันกับหุ้นส่วนใหญ่ของคาราบาวแดง ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ และยืนยง โอภากุล คอนเซ็ปต์ ของถูกดี มีมาตรฐานคือ การนำระบบการจัดการแบบโมเดิร์นเทรดเข้าไปช่วยยกระดับร้านโชห่วยในชุมชนให้อยู่รอด

คุณเสถียรบอกว่า ได้นำประสบการณ์จากการทำ CJ Supermarket มาใช้กับการบริหาร ถูกดีมีมาตรฐาน ซึ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์ส่วนใหญ่จะเป็นร้านโชห่วยเดิมที่เปิดร้านอยู่แล้ว และบางส่วนก็เป็นนักลงทุนหน้าใหม่ยังไม่เคยทำร้านมาก่อน


สำหรับวิธีการของร้านถูกดี มีมาตรฐานจะไม่ไปเปิดร้านเอง แต่จะไปร่วมมือกับเจ้าของร้านโชห่วยที่เปิดร้านในชุมชนอยู่แล้ว สิ่งที่ทีมงานให้ร้านค้าคือ เข้าไปช่วยปรับโฉมใหม่ เพิ่มชั้นวางสินค้า ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่อง POS ระบบกล้องวงจรปิด พัฒนาทั้งด้านสินค้า อุปกรณ์ ความรู้ และเทคโนโลยี ให้ร้านค้ามีระบบการบริหารจัดการที่ดี หน้าร้านที่สวยงาม ทันสมัย พร้อมร่วมกับคู่ค้าต่างๆ จัดรายการส่งเสริมการขาย และสื่อโฆษณา ณ จุดขาย เพื่อสนับสนุนการขายให้ร้านโชห่วย

โดยร้านถูกดี มีมาตรฐานใช้งบลงทุนร้านละ 1 ล้านบาท ในขนาดพื้นที่เฉลี่ย 50 ตร.ม. บวกลบ โดยเจ้าของร้านต้องมัดจำเป็นจำนวน 200,000 บาท ถ้าปฏิบัติตามสัญญาจะคืนเงิน 200,000 บาทให้ สำหรับโมเดลการหารายได้ ทางบริษัทจะได้ส่วนแบ่งรายได้จำนวน 15% จากกำไร อีก 85% ให้ร้านค้าแฟรนไชส์

ที่ผ่านมา บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาแฟรนไชส์ ถูกดี มีมาตรฐานไว้ จำนวน 30,000 สาขา ในปี 2565 และตั้งเป้า 50,000 สาขา ในปี 2567


แต่วันนี้ทุกอย่างดูเหมือนจะไม่ได้เป็นไปตามที่ คุณเสถียร บอสใหญ่วาดฝันไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้องเรียนมาตลอดตั้งแต่ปี 2566 ผู้ประกอบการร้าน “ถูกดีมีมาตรฐาน” 27 แห่งสุรินทร์ร้องถูกจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เป็นธรรม ยื่นข้อโต้แย้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร และสรรพากรพื้นที่จ.สุรินทร์ เพื่อขอคำชี้แจง หาข้อยุติและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หลังต้องแบกรับภาระจ่ายภาษีทั้งของบริษัทคู่สัญญาและของตัวเองด้วย เผยหลายรายเจ๊งต้องปิดร้านติดหนี้บริษัทหลักล้าน แถมถูกดำเนินคดีฉ้อโกงด้วย https://mgronline.com/local/detail/9660000053826

จนล่าสุด ที่มีการรวมตัวกันจากผู้เสียหายนับ 100 คน ร้องดีเอสไอ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีทนายรณรงค์ แก้วเพชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พาผู้เสียหายยื่นหนังสือดีเอสไอ เพื่อให้ช่วยเหลือ กรณีโดนหลอกร่วมลงทุนร้านโชห่วยดัง จนหมดเนื้อหมดตัว และยังมีบางคนคิดสั้น ลาโลก มูลค่าความเสียหาย 2 พันล้านบาท

โดยมีผู้เสียหายรายหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ ว่า ตนขอยกเลิกสัญญา แต่กลับถูกยึดเงินประกัน 2 แสนบาท และบริษัทมายึดของไป ไม่แจ้งตน สุดท้ายของหายไป 1.6 แสนบาท ทางเจ้าหน้าที่เขาให้ตนเซ็นไปก่อน เพราะถ้าไม่เซ็นจะนำของออกจากร้านไม่ได้  โดยอ้างว่ามีเงินประกันค้างอยู่ จากนั้นมีหนังสือส่งมาว่าตนต้องชำระเงินจำนวน 1.6 แสนบาท ตนก็ทำหนังสือแย้งไป จากนั้นมีหมายจากตำรวจแจ้งคดีอาญาว่าเรายักยอกทรัพย์ และตนไม่เคยเซ็นยอมรับสภาพหนี้

และความเสียหายยังมีอีกนับร้อยราย แต่ละรายส่วนใหญ่ คือ จะมาร้อง เพราะไม่ได้เงินประกัน 2 แสนบาทคืน หลังปิดกิจการและเจอปัญหา คือ ขายสินค้าไม่ได้ เพราะเปิดร้านทับซ้อนกันในพื้นที่ และปัญหาหลักที่ขายไม่ได้ คือ สินค้าที่มาลงขายไม่ตรงกับความต้องการของคนในชุมชน แต่ละรายจะขาดทุนจนเป็นหนี้เป็นสินกันหลักล้านบาท บางคนต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน หวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อขายของไม่ได้ ก็เลยขาดทุนปิดกิจการพร้อมกับหนี้สินที่ต้องชดใช้ บางคนโดนบริษัทฟ้องร้องมีคดีฉ้อโกงติดตัวมาด้วย  สุดท้ายโชห่วยไทยจะไปในทิศทางไหน รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร 


กำลังโหลดความคิดเห็น