xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 34.41 แนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 พ.ย.) ที่ระดับ 34.41 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.45 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ใกล้โซนแนวรับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 34.37-34.47 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้น หลุดโซนแนวรับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ เพียงไม่นาน ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่าเป็นไปตามการทยอยปิดสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดเนื่องจากในช่วงเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล Thanksgiving ในฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ที่ได้อานิสงส์จากการพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดหุ้นยุโรป ทั้งนี้ เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดช่วงปลายเดือน อีกทั้งเรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับตัวลดลงในช่วงสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ในช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นหลุดโซน 151 เยนต่อดอลลาร์ โดยส่วนหนึ่งมาจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น เช่นเชเ ข้อมูลการจ้างงาน (Jobs/Applications ratio) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของกรุงโตเกียวที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงยอดค้าปลีก (Retail Sales) ซึ่งขยายตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นยังคงคาดหวังว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ได้ และอาจเป็นผลของการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดช่วงนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่นดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนเงินบาทในช่วงเช้านี้เช่นกัน

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดคงมุมมองเดิมว่า ECB มีโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม และมีโอกาสลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกราว 4-5 ครั้ง ครั้งละ 25bps ในปีหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ด้วยเช่นกัน ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE รวมถึงรายงานเสถียรภาพการเงิน (Financial Stability Report) ของ BOE

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีนในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะรายงานในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายนนี้ โดยหากรายงานดัชนี PMI ของจีน สะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง อาจช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดการเงินจีน โดยเฉพาะเงินหยวนจีน (CNY) ในระยะสั้นได้

นอกจากนี้ เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำได้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามีความมั่นใจต่อ Call USDTHB Short-term Peak แถว 35 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายนมากขึ้น หลังเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ในเชิงกลยุทธ์ Trend-Following นั้น หากใช้สัญญาณจาก SuperTrend (KivancOzbilgic) จะสะท้อนว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ โดยเงินบาทอาจมีโซนแนวรับถัดไปแถว 34.20 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจค่อยเป็นค่อยไปได้ เนื่องจากเรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากผู้เล่นในตลาด รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบในช่วงนี้

ทั้งนี้ เรามองว่าในเชิงกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงนั้น หากเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น ฝั่งผู้ส่งออกที่มีความจำเป็นในระยะสั้น อาจพิจารณารอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือปิดความเสี่ยง (Sell USD on Rally) เนื่องจากเราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น และอาจแกว่งตัวในโซน 34 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นมากกว่านั้นได้บ้างในช่วงเดือนธันวาคม จนถึงช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ เมื่อตลาดเริ่มกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งหากการประเมินของเรานั้นถูกต้อง อีกทั้งเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณ SuperTrend เรามองว่า ฝั่งผู้นำเข้าอาจรอจังหวะปิดความเสี่ยงได้ โดยอาจจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทในโซนแนวรับ เช่น โซน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ โซนแนวรับถัดไป 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น