xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเป็นหูเป็นตาฯ ร่วมเวทีระดับชาติ มุ่งผลักดันสังคมไทย เปลี่ยน “ความเชื่อ-โชคลาง” เป็น “ค่านิยมใหม่” ร่วมสร้าง “วัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


 (จากซ้าย) นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ประธานเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม
อีกหนึ่งก้าวสำคัญการขับเคลื่อน “เป็นหู เป็นตา” สร้างความปลอดภัยทางถนน โดย เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม ล่าสุดได้รับเชิญร่วมงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย” Road Safety Stronger Together โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน พร้อมด้วยภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ร่วมจัดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เพื่อร่วมกันผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยในการลดอัตราผู้เสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อประชากร 1 แสนคนภายในปี พ.ศ.2570 หลังจากที่รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลทั่วโลกประกาศทศวรรษที่สองแห่งความปลอดภัยทางถนน ปีค.ศ.2021-ค.ศ.2030

งานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย”
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง Social Lab Thailand ประธานเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า “งานนี้เป็นงานยิ่งใหญ่ระดับประเทศของไทย ที่รวมทั้งองค์ความรู้และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางท้องถนน ซึ่งเราในฐานะเครือข่ายที่ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่แนวคิดเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างค่านิยมหรือวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เนื่องจากเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาทั้งผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ นักขับเคลื่อน และนักวิชาการด้านความปลอดภัยทางท้องถนน ซึ่งเราได้ชวนมารวมตัวกัน และมีการร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง มีการพูดถึงสิ่งที่ท้าทาย สาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในระดับที่สูงอยู่ ทั้งๆ ที่มีการออกนโยบาย แนวปฏิบัติ และการดำเนินการต่างๆ ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การรณรงค์ในโอกาสต่างๆ ฯลฯ โดยมีการพยายามทำอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา อัตราความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนก็ยังคงสูงอยู่


“ครั้งหนึ่งระหว่างอยู่ในกระบวนการ Road Safety Social Lab ผมได้ตั้งคำถามกับผู้มีส่วนได้เสีย ผู้รู้ นักวิชาการ นักขับเคลื่อนว่า แล้วมีอะไรบ้างที่เรายังไม่ได้ทำ หรือทำน้อยเกินไป ในที่สุดจึงได้ข้อสรุปกันว่า ความท้าทายที่สำคัญยิ่ง ซึ่งส่งผลให้จำนวนอุบัติและความสูญเสียยังคงอยู่ในระดับสูงมากคือ “สังคมไทยไม่มีค่านิยม หรือวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย” ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปไม่เฉพาะเรื่องการใช้รถใช้ถนน และที่สำคัญคือ คนไทยกลับมีความเชื่อว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นเรื่อง “โชคลาง” จึงมักได้ยินคำว่า “เป็นเคราะห์หามยามร้าย” หรือ “ถือว่าฟาดเคราะห์ไปนะ” หรือ “สวมพระอะไร ทำให้รอดมาได้” หรือ “ทะเบียนรถอะไร จะได้ไปซื้อหวย” จึงทำให้คนทั่วไป เกิดความคิดว่า “ไม่เป็นอะไรหรอก ไปแค่นี้เอง แค่ปากซอย เราคงไม่โชคร้ายขนาดนั้น” ด้วยความเชื่อและความคิดเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของอุบัติเหตุ และความสูญเสียที่ยังคงเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย ดังนั้น เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคมจึงอาสามาทำเรื่องนี้ ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นการสร้างค่านิยมหรือสร้างวัฒนธรรมซึ่งต้องใช้ทั้งเวลา การปลูกฝัง และการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดขึ้น” ดร.อุดม กล่าว

งานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย”
ด้วยเหตุนี้ งานสัมมนาวิชาการฯ ซึ่งเป็นงานระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางท้องถนน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้รับเชิญให้เข้ามามีส่วนร่วมและเผยแพร่แนวคิดนี้ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เรายืนยันว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เรามีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและวัฒนธรรมในหลายโอกาส ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ค่านิยมการทิ้งขยะถูกที่ถูกทาง โดย “ตาวิเศษ” ทำให้เกิดความสะอาดในบ้านเมือง หรือวัฒนธรรมการเข้าคิว วัฒนธรรมการขับขี่รถบนถนน การหลบให้รถฉุกเฉิน เมื่อคนไทยรู้ว่าเปลี่ยนแล้วดีกับทุกคน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงมุ่งเชิญชวนให้ทุกคนในสังคมไทยเห็นคุณค่าของความปลอดภัย ด้วยการสะกิดเตือนคนที่เรารักและคนที่รักเรา เพื่อให้ทุกคนกลับถึงบ้านหรือเดินทางอย่างปลอดภัยในทุกๆ ครั้ง นี่คือเป้าหมายสำคัญของเครือข่ายฯ ประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา เราได้ทดลองริเริ่มร่วมกับสำนักงานเขตบางรักและเขตสาทร โดยร่วมกับ 7 โรงเรียนนำร่องในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพิ่มองค์ความรู้ สร้างความตระหนัก ปลูกฝังค่านิยม “ความปลอดภัยทางถนน” ให้กับนักเรียนทุกคน รวมทั้งบุคลากรต่างๆ ในโรงเรียน และกำลังจะขยายต่อเนื่องไปอีก 7 โรงเรียนในเขตบางคอแหลม และอีก 2 โรงเรียนในตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี เพื่อให้วัฒนธรรมความปลอดภัยกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างเดียว

“สถานีความปลอดภัยทางถนน” Road Safety Station
เนื่องด้วยเป้าหมายของเครือข่ายฯ คือการสร้างค่านิยมหรือวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนน ดังนั้น งานสัมมนาวิชาการฯ ในครั้งนี้จึงเป็นเวทีให้เครือข่ายฯ ได้มาเผยแพร่แนวคิดและเปิดโอกาสการขยายและสร้างภาคีใหม่ๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในอนาคต โดยไฮไลท์ที่ทางเครือข่ายฯ นำมาเสนอในงานนี้คือ “สถานีความปลอดภัยทางถนน” Road Safety Station ซึ่งเป็นการนำศาสตร์ทางศิลปะการเข้ามาร่วมสร้างพลังบวกของทุกคนในสังคม ให้มีส่วนร่วมได้ในทันที โดยการร่วมกัน “เขียน” เพื่อสะกิดเตือนคนที่เรารักและคนที่รักเรา เพื่อส่งทุกคนกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยในทุกวัน “แขวน” คำเตือนดีๆ และ “สั่นกระดิ่ง” เป็นการให้สัญญาณ หรือส่งพลังงานดีๆ ส่งความปรารถนาดีออกไปให้สังคมไปในวงกว้างที่จะปลอดภัยไปด้วยกัน ซึ่งกระบวนการนี้จะนำไปใช้กับชุมชนต่างๆ ที่เราจะไปทำงานด้วยต่อไป นอกจากนี้ ยังนำตัวแทนแกนนำเยาวชน ที่เรียกว่า “ผึ้งน้อยเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” และคุณครูแกนนำ จากโรงเรียนวัดแก้วแจ่มฟ้า สังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตบางรัก มาแสดงออก และยืนยันให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่จะช่วยผลักดันให้วัฒนธรรมความปลอดภัยในท้องถนนเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย

“สถานีความปลอดภัยทางถนน” Road Safety Station
นางสาวจุฑามาศ ศรีปัตเนตร และ นายก้อง ชุติมันตานนท์ ครูโรงเรียนวัดแก้วแจ่มฟ้า ในฐานะครูแกนนำ ที่ได้เป็นตัวแทนมาร่วมงานฯ ในครั้งนี้ กล่าวว่า ทางโรงเรียนวัดแก้วแจ่มฟ้า ได้เข้าร่วมเครือข่ายเป็นหูเป็นตาฯ ในปีการศึกษาที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เด็กเกิดความตระหนักรู้ และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้ถือเป็นโอกาสดียิ่งที่ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนมานำเสนอสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมเครือข่ายฯ ออกมาเป็นรูปแบบของการแสดงบทกลอน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการข้ามทางม้าลายอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นสาระสำคัญของเรื่องการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน

“กิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะได้มาสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนัก และเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่เรื่องความปลอดภัยทางถนนแล้ว ยังมีโอกาสได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น การร่วมกิจกรรมตามบูธต่างๆ ทำให้ได้ความรู้อีกมากมาย ซึ่งจะสามารถนำไปบูรณาการและต่อยอดในการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ ได้อย่างเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นนโยบายและแนวทางของผู้บริหารโรงเรียนฯ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน”

“สถานีความปลอดภัยทางถนน” Road Safety Station
“วันนี้นอกจากการนำแนวคิดเรื่องการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในท้องถนนมาเผยแพร่แล้ว ยังต้องการเปิดกว้างให้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ เพราะเชื่อว่าคนทุกกลุ่ม ทุกเครือข่าย สามารถร่วมด้วยช่วยกัน และเริ่มได้ที่ตัวเองด้วยการลงมือทำ คือ การสะกิดเตือนคนที่เรารักและรักเรา ให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย เพราะหลายครั้งเรามักจะให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ มากกว่า เช่น เรื่องปากท้อง เรื่องการทันเวลา จนไม่ได้ใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยในชีวิต และกลายเป็นความเสี่ยงที่รับไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้วนี่คือเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต อย่างไรก็ตาม เรายืนยันว่า เรายังคงทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และขอเชิญชวนให้เข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยด้วยกัน” ดร.อุดม กล่าวทิ้งท้าย

อุบัติเหตุลดได้ทันที เริ่มที่ตัวเองด้วยการลงมือทำ สะกิดเตือนคนที่เรารักและคนที่รักเรา ให้ใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ทุกคนกลับบ้านอย่างปลอดภัยในทุกๆ วัน มาร่วมเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม ปลูกฝังค่านิยม และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน กันได้ที่ Facebook Page : เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม https://www.facebook.com/penhoopentar

งานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย” Road Safety Stronger Together