xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ลุ้น ครม.เคาะ 5 โปรเจกต์ 1.09 แสนล้านส่งท้ายปี 67 มอเตอร์เวย์ "บางขุนเทียน-บางบัวทอง, ขยายโทลล์เวย์, สายสีแดง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“คมนาคม” ลุ้น ครม.โค้งสุดท้ายปลายปี  ธ.ค. 67 นี้ ดัน 4 โปรเจกต์ 1.09 แสนล้านบาท จ่อคิวอนุมัติลงทุน "มอเตอร์เวย์" บางขุนเทียน-บางบัวทอง, ต่อขยายโทลล์เวย์, สีแดง มธ.รังสิต ส่วนต้นปี 68 ชงอีก 9 โครงการ "ทางด่วน-มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่-ไฮสปีดเฟส 2" ต่อเนื่อง 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 ได้มีการติดตามโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม ที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอยู่ระหว่างรอบรรจุวาระการประชุม ครม.แล้ว จำนวน 5 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจาก ครม.ภายในเดือน ธ.ค. 2567 
ได้แก่ โครงการทางบก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9  สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอนทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost ที่เอกชนลงทุนงานโยธาด้วยเป็นเส้นทางแรก    
โครงการโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม.วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท โดยจะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M ทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้เคยดึงเรื่องกลับมาเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการและรูปแบบการลงทุนที่มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เช่น ให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการลงทุนก่อสร้างเองได้ แต่พบว่ารูปแบบ PPP Gross Cost เหมาะสมที่สุด จึงเสนอไป ครม.อีกครั้ง  


ทางราง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินลงทุน 6,473.98 ล้านบาท เสนอ ครม.เพื่อขอทบทวนมติ ครม.และปรับกรอบวงเงิน

และเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งคาดว่าจะได้รับการบรรจุวาระในวันที่ 3 ธ.ค. 2567

ทางอากาศ 1 โครงการ คือ โครงการให้บริการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าของโครงการรวม 15,253 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีการดำเนินการอยู่เดิม ซึ่งเอกชนจะรับผิดชอบการจัดหาเงินทุน การออกแบบและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างของโครงการ พร้อมทั้งการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการให้บริการ ตลอดจนรับผิดชอบในการดูแล บำรุงรักษา และบูรณะสิ่งปลูกสร้างโครงการ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการ

ส่วนเรื่องสำคัญอื่นๆ ที่กระทรวงคมนาคม เสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการนำเสนอ ครม.ขออนุมัติหลักเกณฑ์การคำนวณเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง K (Price Adjustment) เพื่อขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2532 เป็นกรณีพิเศษเฉพาะสำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต เฉพาะในส่วนของงานโยธาของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 พร้อมทั้งขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติมสำหรับงานเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ


@ต้นปี 68 ชงอีก 9 โครงการ "ทางด่วน -มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่-ไฮสปีดเฟส 2"

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ในขั้นตอนขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนนำเสนอ ครม. ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในต้นปี 2568 ได้แก่

1. โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก ของ กทพ.หรือตอน N2 เดิม ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท สถานะล่าสุดสำนักงบประมาณเสนอความเห็นแล้ว รอความเห็นจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

2. มอเตอร์เวย์ วงแหวนรอบนอก กทม. ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน (M9) ระยะทาง 35 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 16,986 ล้านบาท
3. โครงการทางพิเศษ จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ของ กทพ.ภูเก็ต หรือโครงการอุโมงค์ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. มูลค่าประมาณ 16,190 ล้านบาท
4. โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) ของ ขสมก.

5. การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและขออนุมัติรวมโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม 3 สถานี (สถานีสะพานพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี) และโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เข้าด้วยกัน เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นสัญญาเดียว ระยะทางรวม 20.5 กม. วงเงินโครงการ 15,176.21 ล้านบาท

6. ขออนุมัติดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา -หนองคาย) ระยะทาง 357 กม. มูลค่า 341,351.42 ล้านบาท

7. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะ 2 จำนวน 6 เส้นทาง วงเงินลงทุน 245,535 แสนล้านบาท

8. ขออนุมัติจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บทต.) โดยกาหนดให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศและต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศจำนวน 946 คัน วงเงิน 2,450 ล้านบาท

9. โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง ของ กทพ. ซึ่งขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างวิเคราะห์เรื่องเสนอโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น