ในโลกที่มีความหลากหลายและเชื่อมโยงถึงกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน การมีอัตลักษณ์ (Identity) ของตนที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ไม่เพียงแต่ช่วยให้เกิดการยอมรับความแตกต่างเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ระหว่างกันได้
‘นิทรรศการ ID :ID [Identical Identity]’ เกิดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับ 15 ศิลปินชาวไทยและต่างชาติได้ถ่ายทอดตัวตน มุมมอง และแนวทางของผลงานในแบบที่พวกเขาต้องการสื่อสาร ผ่านงานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวเด่นชัด และเชื่อมโยงถึงตัวตนที่แท้จริงของศิลปิน ตั้งแต่ภาพวาด ประติมากรรม อาร์ตทอย รวมถึงศิลปะจัดวาง (Installation Art)
สำหรับผู้อยู่เบื้องหลังการคัดสรรศิลปินและผลงานคือ JOYMAN Gallery แกลเลอรีศิลปะร่วมสมัยสัญชาติไทยที่ทำงานเข้าสู่ปีที่ 6 โดยมีภัณฑารักษ์ที่มีประสบการณ์และสร้างมิติใหม่ในการจัดแสดงงานนิทรรศการเสมอ ครั้งนี้ได้ร่วมกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค โดยจัดขึ้นในพื้นที่ TDPK Studio ที่ทำให้ศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัว พร้อมสร้างคอมมูนิตี้สำหรับผู้สนใจและรักศิลปะหลากหลายแขนง
“ศิลปินทั้ง 15 คนที่นำเสนอผลงานในนิทรรศการนี้ มีเอกลักษณ์ในงานที่เข้มข้นและเด่นชัด สะท้อนตัวตนของศิลปินที่ฝังแน่นอยู่ในผลงาน ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพที่คร่ำหวอดในวงการ ศิลปินต่างประเทศ หรือแม้แต่ศิลปินหน้าใหม่ ผู้คนจึงจดจำงานของพวกเขาได้เสมอ การคัดสรรศิลปินครั้งนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่มีความสมบูรณ์แบบ และช่วยขยายประสบการณ์การสัมผัสงานศิลปะและขยายกลุ่มผู้รักงานศิลปะหลากหลายแขนงมากขึ้น” บัญชา วงษ์โชติวัฒน์ หนึ่งในภัณฑารักษ์ JOYMAN Gallery เล่าถึงแนวคิดและกระบวนการคัดสรรงานในนิทรรศการ ID :ID [Identical Identity]
เพราะไม่อยากให้ทุกคนพลาดงานนี้ จึงขอหยิบยก 5 ไฮไลต์น่าสนใจจาก 5 ศิลปินมาเป็นตัวอย่าง เพื่อเชิญชวนไปชมงานจริงด้วยกัน
กรอบเซรามิกและภาพร่างอันเลือนราง ผลงานทดลองที่สื่อถึงความอบอุ่นและสงบเงียบในใจของ Ellen Sheidlin
Ellen Sheidlin คือศิลปินหญิงชาวรัสเซียที่มาพร้อมอัตลักษณ์อันเด่นชัดของทั้งตัวศิลปินและผลงาน เธอหลงใหลในศิลปะหลายด้านและแนวคิดแบบ New Surrealism โดยถ่ายทอดผ่านเทคนิคทั้งจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ และประติมากรรมเซรามิก ครั้งนี้ Ellen มาพร้อมผลงาน 7 ชิ้นที่เป็นภาพร่างครอบด้วยกระจกฝ้าในกรอบเซรามิกรูปร่างแปลกตาที่เรียกร้องให้ผู้ชมใช้เวลาพิจารณาและชื่นชม เธอเล่าว่า ผลงานชิ้นเล็กทั้งหมดนี้เป็นเสมือนหน้าต่างที่เปิดเข้าไปสู่เรื่องราวภายในใจของเธอ
“ฉันสร้างผลงานเหล่านี้เมื่อปีที่แล้วตอนอยู่ในบ้านเกิด ผลงานจึงให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนนั่งอยู่บนโซฟานุ่มๆ ในบ้าน กรอบเซรามิกเป็นผลงานทดลองที่มีความท้าทาย เพราะไม่สามารถควบคุมพื้นผิวและสีสันของชิ้นงานได้เลย ส่วนภาพร่างสีน้ำมันตั้งใจให้เห็นเป็นแบบไม่ชัดเจน ไม่ตัดสินว่าคือภาพอะไร เพื่อไม่จำกัดจินตนาการของตัวเองและผู้ชม”
ลายเส้นสีไม้สะท้อนความแข็งแกร่งแต่อ่อนโยนของ พันธิรา คำนะเดชน์
ภาพแนว Surrealistic ชวนฝันที่แสดงให้เห็นกล้ามเนื้ออันงดงามของสรรพสัตว์ต่างๆ เกิดจากการระบายลายเส้นของสีไม้ ที่มีรายละเอียดอันซับซ้อนประณีตจากฝีมือของ พันธิรา คำนะเดชน์ ศิลปินหน้าใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากความหลงใหลด้าน Anatomy ของมนุษย์ และความงดงามของสัตว์หลากชนิด การรังสรรค์เส้นสีไม้อันโดดเด่นคือ อัตลักษณ์ในงานของเธอ
“ภาพเหล่านี้ต้องการแสดงความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราอยากได้ความแข็งแรงนั้น เพราะมือขวาของเราไม่แข็งแรง จึงอยากปลดปล่อยพลังของตัวเองผ่านผลงานที่ทั้งแข็งแกร่ง งดงามและอ่อนโยน”
ภาพจิตรกรรมด้านเทคนิคจากลูกบอลทรงกลมจุ่มสีจากฝีมือ เทอดเกียรติ หวังวัชรกุล
จากศิลปินที่ได้รางวัลจากภาพเหมือนที่สะท้อนชีวิตผู้คนในเมือง สู่การเปลี่ยนแปลงเอกลักษณ์ในงานใหม่ทั้งหมดเพียงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เอกลักษณ์อันโดดเด่นในงานศิลปะปัจจุบันของ เทอดเกียรติ หวังวัชรกุล ศิลปินที่คร่ำหวอดในวงการมากว่า 30 ปี คือเทคนิคการจุดและลากเส้นจากลูกบอลจุ่มสี สร้างลายเส้นที่มีน้ำหนักแสงเงาแบบสามมิติ ซึ่งเทคนิคนี้เขาค้นพบโดยบังเอิญจากการเล่นกับลูกชาย และนำมาสร้างสรรค์ศิลปะที่สนุกและไร้ขอบเขต
“ภาพที่นำมาแสดงในครั้งนี้คือ ภาพผลแอปเปิลขนาดใหญ่ที่เกิดจากใช้ลูกบอลลากเป็นเส้นสีและสานพันกันไปมาเป็นรูปทรง ส่วนอีก 3 ภาพข้างกันนี้สร้างขึ้นจากการบีบสีจากหลอดให้เกิดเป็นเส้นสายบนงานโดยตรง โดยมีเท็กซ์เจอร์ที่เหมือนกับเส้นลวดร้อยกันเป็นรูปแอปเปิลสามลูกที่ทรงอิทธิพลต่อโลก นั่นคือ แอปเปิลแห่งสวนอีเดน แอปเปิลที่หล่นใส่ศีรษะไอแซก นิวตัน และแอปเปิลของสตีฟ จ็อบส์ หากผู้ชมได้ลองชมชิ้นงานอย่างใกล้ชิด จะเห็นรายละเอียดของเส้นสายที่ก่อร่างเป็นรูปทรงโดยรวมได้อย่างชัดเจน”
ไดอารี่ภาพสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกอย่างจริงใจของ Nym Tanim
ถนิมภรณ์ ข่ายป้องค่าย หรือที่รู้จักกันในชื่อของ Nym Tanim ศิลปินรุ่นใหม่ที่สนใจศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรม เธอสร้างสรรค์ภาพวาดที่เป็นเหมือนไดอารี่บันทึกอารมณ์และความรู้สึกของตัวอย่างจริงใจ โดยสื่อสารผ่านคาแรกเตอร์หญิงสาวที่ลงสีอะคริลิค พร้อมแต่งแต้มเส้นสายสื่ออารมณ์ที่ทั้งรุนแรงและพลิ้วไหวด้วยสีชอล์คน้ำมัน เกิดเป็นภาพแนวที่เธอเรียกว่า Neo-Expressionism แบบ Pop
“ภาพทั้งสามที่นำมาจัดแสดงเป็นเหมือนกับเป็นไดอารี่ของเราเอง คาแรกเตอร์เหล่านี้แสดงถึงสภาวะอารมณ์ที่เรามีในแต่ละขณะเวลา โดยเป็นการสร้างสิ่งนามธรรมให้เป็นรูปธรรมม เมื่อทำความเข้าใจตัวเองได้เราก็กล้าที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นเส้นสีที่มีความรุนแรง หรือฟุ้งบ้าง แต่ก็เป็นการยอมรับตัวเองในทุกแบบที่เป็น”
ภาพเพนกวินในกรอบหน้าจอที่สะท้อนความโดดเดี่ยวในโลกปัจจุบันของ เนียม มะวรคนอง
ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของ เนียม มะวรคนอง คือภาพที่ใช้สีสันเพียงน้อย แต่มีแสงเงาที่คมชัดและสวยงามสมจริง ผลงานของเนียมเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากความโดดเด่นของการนำเสนอภาพสรรพสัตว์ที่เขาหลงใหล อยู่ท่ามกลางสเปซหรือทัศนียภาพอันเวิ้งว้าง ภาพที่ชื่อว่า We create our own stories IV ที่เขานำมาจัดแสดงในครั้งนี้มีความแตกต่างจากภาพอื่นๆ เล็กน้อย แต่ยังคงมีสไตล์ที่สะท้อนชัดถึงตัวตนของศิลปิน
“ภาพนี้แม้ไม่ได้แสดงสเปซกว้างๆ รอบตัวเพนกวิน แต่สะท้อนถึงความห่างไกลในความรู้สึก เพราะเป็นการแสดงผ่านภาพหน้าจอของโปรแกรม Zoom ที่เราใช้สื่อสารเมื่ออยู่ห่างไกลกัน สื่อถึงความโดดเดี่ยวของคนในยุคนี้ได้ นอกจากนี้ช่องหน้าจอหนึ่งช่องยังเป็นภาพของกล้องกลมๆ สำหรับบันทึกภาพสัตว์โลกโผล่มา แฝงความรู้สึกแปลกแยกไม่น่าไว้วางใจไปด้วย”
นอกจากศิลปินทั้ง 5 คนนี้แล้ว ยังมีผลงานของศิลปินอีก 10 ท่าน ได้แก่ Bobby Leash, Aitoy, Sauce Harrison, Bigdel, Tarntara Sudadung, Tat Nattee, Gid Zim, นายกร่าง กับ เพื่อนจอร์ช, Biggy Bro และ Karin Phisolyabut
นิทรรศการ นิทรรศการ ID :ID [Identical Identity] จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน 2567 ณ TDPK Studio 1, ชั้น 2 ทรู ดิจิทัล พาร์ค ฝั่งเวสต์ (BTS ปุณณวิถี) เปิดให้เข้าชมนิทรรศการทุกวัน เวลา 11.00 – 19.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.truedigitalpark.com