xs
xsm
sm
md
lg

สทร.รับภารกิจ “Mission Impossible” ชูเทคโนฯ พลิกโฉมรถไฟไทย จากนำเข้าเป็นผู้ส่งออก ขึ้นแท่นฮับอาเซียนอุตสาหกรรมระบบราง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ดูเหมือนว่าความพยายามผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ตัวเลขขยับขึ้นยังไม่เป็นผล แม้ว่ารัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการที่ออกมาแล้วอย่างโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เฟสแรก โครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคเหนือหลังเจอน้ำท่วมใหญ่ และอีกหลายๆ มาตรการที่เตรียมจะผลักดันออกมา ยังไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากนัก เพราะล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจ (WEO) ฉบับล่าสุดเดือนตุลาคม 2567 ประเทศไทยโดนหั่นคาดการณ์จีดีพีหรือเศรษฐกิจประเทศลงอีก จากเดือนกรกฎาคม 2567 จีดีพีไทยปีนี้จะเติบโต 2.9% และปีหน้า ปี 2568 จะขยับขึ้นเป็น 3.1% กลับมาขยายตัวได้เพียง 2.8% ในปีนี้ และแตะ 3.0% ในปี 2568
 
ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน อุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยยอดขายตลาดรถยนต์เดือนกันยายน 2567 ที่น่าตกใจ เพราะตัวเลขยอดขายต่ำที่สุดในรอบ 51 เดือน อยู่ที่ประมาณ 39,000 คัน และเป็นการลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดรวม 9 เดือนของปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2567 มียอดขายเพียง 438,000 คัน ร่วงลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จึงมีการคาดการณ์จากวงการผู้ผลิตรถยนต์ว่ายอดขายรถยนต์ในปีนี้จากเป้าหมายที่ปรับลดลงแล้วเหลือ 650,000 คัน น่าจะทำไม่ถึง หากปรับลดยอดขายเป้าหมายลงอีกเหลือ 600,000 คัน สภาพการณ์ก็น่าจะเหนื่อยที่จะทำให้ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่น่ากังวลใจคือ “โปรดักต์แชมเปียน” อย่างรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ยอดขายลดลงฮวบฮาบอย่างน่าใจหาย มากถึง 55% และตอนนี้มีแล้ว 2 ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นประกาศถอนการลงทุน ยุติการผลิตโรงงานรถยนต์ในประเทศไทย โดยซูบารุจะยุติการผลิตในสิ้นปี 2567 และซูซูกิจะมีผลในช่วงปลายปี 2568 แน่นอนว่าผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยได้รับผลกระทบเต็มๆ มีการทยอยปิดกิจการแล้วกว่า 500 รายในพื้นที่ภาคตะวันออก คนงานทั้งที่เป็นพนักงานประจำและพนักงานซับคอนแทรกต์ตกงานแล้วกว่า 100,000 คน
 
สทร.รับโจทย์แก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจและสังคม

ถือเป็นโจทย์ใหญ่ถาโถมเข้าใส่รัฐบาลที่ต้องแก้ไข โดยแม้ว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรง หนีไม่พ้นกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ในเวลานี้ รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำงานแบบบูรณาการ สทร. หรือชื่อเรียกเต็มๆ ว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบราง (องค์การมหาชน) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่เพิ่งก่อตั้งได้ราว 3 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ถูกกำหนดพันธกิจไว้แล้ว โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการพลิกโฉมประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าของระบบรางด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างระบบนิเวศ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเป็นฐานไปสู่การเป็นประเทศชั้นนำด้านระบบรางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือระดับอาเซียน
 
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ได้เปิดเผยรายละเอียดถึงภารกิจในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการจัดประกวด “รถไฟในฝัน” เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ว่า ถือเป็นจังหวะดีที่จะผลักดันภารกิจการเป็นผู้ผลิตรถไฟให้เดินหน้า บุคลากรถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง จึงได้เริ่มโครงการนำร่อง “ผมเรียกโครงการนี้ว่า การประเมินศักยภาพของว่าที่ผู้ผลิต โดยเล็งไปยังกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เป็นกลุ่มแรก เพราะกำลังประสบปัญหาอย่างมากจากที่อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า หากทำได้ เท่ากับเป็นการช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องสังคม และเศรษฐกิจ”
 
จังหวะดีที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยังเป็นจังหวะดีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เช่นเดียวกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดร.จุลเทพ บอกว่า ภารกิจยิ่งใหญ่ จากประเทศผู้นำเข้ารถไฟ จะเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ผลิตรถไฟเสียเอง เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จร่วม โครงการเกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กำลังเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในสมัยรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้นโยบายชัดเจนให้ 2 หน่วยงาน คือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สทร.ร่วมกันทำงานแบบบูรณาการในการสร้างโอกาสให้ประเทศด้วยระบบราง สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ.... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย
 
ตั้งเป้า 3 ปี ไม่เกินปี 2570 ได้เห็นขบวนรถไฟผลิตเอง 50 คัน

เรื่องการผลิตรถไฟได้เอง อาจจะเป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับคนไทย และอาจมีคำถามตามมาว่า ทำได้จริงหรือ แต่สำหรับ ดร.จุลเทพกล่าวอย่างมั่นใจว่าเกิดขึ้นได้แน่นอน เพราะ สทร.ได้ศึกษาเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ได้จัดทำแผนงานเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เพื่อขอความเห็นชอบขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2569 จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้ ครม.พิจารณา หากได้รับความเห็นชอบก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 โดยโครงการนำร่องที่ทำก่อนแล้วคือดึงผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีศักยภาพมาผลิตขบวนรถไฟ ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปี 2570 จะผลิตขบวนรถไฟได้เองปีละ 50 คัน (โบกี้-ตู้) ประเมินว่าจะช่วยประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินในการสั่งซื้อจากต่างประเทศลงได้ 20% จากราคาปัจจุบันขบวนรถไฟต่อคันอยู่ที่ 100-150 ล้านบาท
 
สำหรับหัวรถจักร ดร.จุลเทพกล่าวยอมรับว่าเทคโนโลยีของไทยยังพัฒนาไปไม่ถึง ดังนั้นเริ่มต้นโครงการยังจำเป็นต้องนำเข้าหัวรถจักรจากต่างประเทศ แต่ สทร.ตั้งเป้าจะมีเทคโนโลยีของตัวเอง จึงกำลังมองหาพาร์ตเนอร์ชั้นนำระดับโลก ระดับ World Class มาร่วมลงทุนกับไทย เพื่อเรียนรู้โนฮาวและเกิดการผ่องถ่ายเทคโนโลยี ดังนั้นในช่วงเริ่มต้น ภายใน 3 ปีนี้ จนถึงปี 2570 รถไฟต้นแบบที่ขบวนรถเป็นการผลิตโดยผู้ประกอบการไทย ยังคงเป็นหัวรถจักรดีเซล และจะขยับเป็นระบบไฮบริด ทั้งดีเซลและไฟฟ้า “การเลือกพาร์ตเนอร์ต่างชาติมาร่วมลงทุนนั้นจำเป็นต้องดูในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่เกิดปัญหาด้าน Geo Politics แนวทางการดำเนินงานต้องดูทั้งเชิงเศรษฐกิจ ดูความคุ้มค่าทั้งเรื่องการเกิดมูลค่าเพิ่มสูง เกิดโอกาสการจ้างงาน ฯลฯ และต้องดูด้านภูมิรัฐศาสตร์ในการเลือกคู่เทคโนโลยีระดับโลก แม้ว่าเราต้องการเม็ดเงินลงทุนและโนฮาวจากต่างประเทศ แต่เราไม่ต้องการอยู่ในเงื่อนไขการกำกับของต่างชาติ เพราะเป้าหมายของเราคือการมีเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อจะผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมระบบราง ผลิตโดยคนไทย ใช้โดยคนไทย และส่งออกไปขายในต่างประเทศ”
 
ฝันใหญ่ไปสุดราง หนึ่งในซัปพลายเชนโลกป้อนตลาดรางมาตรฐานขนาด 1 เมตร

อุตสาหกรรมระบบราง คือภารกิจหลักของสทร.ตามพันธกิจที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สทร.จึงได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ โดยมองถึงความถนัด ความสามารถของเราก่อน โดยมาตรฐานระบบรางไทยจะใช้ขนาด 1 เมตร และจากการศึกษาพบว่าทั่วทั้งโลกมีหลายประเทศที่ใช้ระบบรางขนาดมาตรฐาน 1 เมตร คิดเป็นระยะทางกว่า 70,000 กิโลเมตรที่ยังมีความต้องการขยายทาง ขณะที่ไทยมีความต้องการใช้ระบบรางเพื่อการขนส่งที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งใช้เพื่อการเดินทางของคน เพื่อการขนส่งสินค้า อย่างรถไฟจากทางเดี่ยว เป็นทางคู่ ระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร รถไฟฟ้าทั้งแบบลอยฟ้าและลงดิน รถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบิน อย่างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน จึงมองเห็นว่านี่คือตลาดแห่งอนาคต สามารถทำเป็นอุตสาหกรรมป้อนความต้องการในประเทศ และต่างประเทศได้ หากโครงการปั้นอุตสาหกรรมระบบรางไทยสำเร็จ จะเป็นหนึ่งอุตสาหกรรม S-Curve ช่วยผลักดันจีดีพีหรือเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตเพิ่มขึ้น และยังเป็นการเพิ่มโอกาสการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย
 
หวังเยาวชนไทยสานต่อบิ๊กโปรเจกต์

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด คือโครงการระยะยาวที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ แต่จำเป็นต้องวางแผน วางรากฐานไว้ก่อน โดยช่วงแรกคือการดึงผู้ประกอบการศักยภาพที่มีอยู่ในระบบให้มาร่วมดำเนินการ แต่เยาวชนจะกลายเป็นกำลังสำคัญหลักในระยะถัดไป การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น สทร.จึงเริ่มโครงการแรกโดยจัดประกวดความคิดสร้างสรรค์ระดับเยาวชน หัวข้อ “รถไฟในฝัน” ภายใต้ธีม “คิดไปให้สุดราง” (Think Beyond Track) พุ่งเป้าเยาวชนอายุ 16-22 ปี ในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษา เพื่อเปิดรับไอเดียที่ไม่มีขีดจำกัด นำความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้มาคัดกรองว่าไอเดียไหนที่มีโอกาสเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม-24 พฤศจิกายน 2567 สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2567 โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก จำนวน 10 ทีม เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอป ทัศนศึกษาเกี่ยวกับระบบรางเพื่อให้เห็นภาพจริงและนำไปปรับปรุงแก้ไขผลงานเพื่อให้คณะกรรมการตัดสินครั้งสุดท้าย ผู้ชนะจะได้เงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร จำนวน 2 รางวัล และรองชนะเลิศจะได้รับ 50,000 บาท จำนวน 2 รางวัลเช่นกัน และยังมีรางวัลพิเศษอีก 6 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 420,000 บาท นักเรียน นักศึกษาที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการและส่งผลงานได้ทางเว็บไซต์ www.คิดใหญ่ไปให้สุดราง.net” ทั้งนี้จะมีการประกาศผลการตัดสินในวันที่ 13 มกราคม 2568

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินโครงการดังกล่าวได้กำหนดเกณฑ์การตัดสินหลักๆ 3 ส่วนในรอบแรก คือ 1. ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะให้น้ำหนักมากที่สุด 2. ความสามารถในการนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง และ 3. ความสามารถการสื่อสารถึงแนวคิดสร้างสรรค์ ส่วนตัวมองว่าระบบรางคืออนาคตที่จะดึงให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้ หลายประเทศทั่วโลกเล็งเห็นเรื่องนี้ ให้ความสำคัญต่อระบบรางมานานแล้ว อย่างจีน มีเส้นทาง One Belt One Road คณะกรรมการฯ จึงไม่อยากปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน เพราะการพัฒนาระบบรางไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ภายใน 1-2 วัน แต่เป็นเรื่องระยะยาว หัวใจสำคัญคือบุคลากรที่มีความสามารถ มีศักยภาพ สามารถสร้างความต่อเนื่องในการสานฝันไปให้สุดราง เยาวชน เด็กรุ่นใหม่ๆ คือเป้าหมาย ถือเป็นแรงสำคัญที่จะมาสร้างความต่อเนื่อง การดึงเด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วม เป็นการเปิดประตูให้เด็กๆ เข้ามาสู่กระบวนการคิด การพัฒนาระบบรางของไทย กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
 
ถือเป็นภารกิจท้าทาย ที่หวังผลระยะใกล้ๆไม่ได้ จากนี้ไป กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า Mission Impossilble จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น