สกนช.นำกองทุนน้ำมันอุ้มราคาขายปลีกดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร หลังจากมติ ครม.ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตรสิ้นสุด 31 ต.ค. 67 นี้ ชี้หากราคาดีเซลโลกเกิน 100 เหรียญสหรัฐ/ลิตรก็จะต้องขยับราคาขายดีเซลมากกว่านี้ ยืนยันขณะนี้กองทุนฯ เริ่มมีสภาพคล่องดีขึ้น มีเงินไหลเข้ากว่า 7,000 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ความสามารถชำระหนี้เงินต้นก้อนแรกเดือน พ.ย. 2567 ที่ 139 ล้านบาท
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช. เปิดเผยถึงมาตรการตรึงราคาดีเซล 33 บาทต่อลิตรที่สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ต.ค. 2567 ว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ไม่ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่ออายุมาตรการดังกล่าว แต่ กบน.จะเป็นผู้พิจารณาการใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซลในประเทศเอง
เบื้องต้น กบน.จะบริหารเงินกองทุนฯ เพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร แต่หากราคาน้ำมันดีเซลโลกปรับขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กบน.อาจต้องปล่อยให้มีการปรับราคาขายปลีกดีเซลเกิน 33 บาทต่อลิตรได้ และหากราคาน้ำมันโลกปรับลดลงก็อาจพิจารณาปรับลดราคาน้ำมันดีเซลได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ประมาณ 96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
“ปัจจุบันกองทุนฯ เรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ อยู่ 1.72 บาทต่อลิตร หากราคาน้ำมันโลกขยับสูงขึ้น แนวทางแรกที่จะดำเนินการคือ ทยอยลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลลงก่อน ซึ่งสามารถลดจนหมดและจากนั้นอาจนำเงินกองทุนฯ มาชดเชยราคาดีเซลก็เป็นได้เพื่อรักษาระดับราคาจำหน่ายให้อยู่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร แต่หากราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงต่อเนื่องจนเกินกว่าสถานะกองทุนฯ จะแบกรับไหว ก็อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาดีเซลต่อไป”
สำหรับปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าจากผู้ใช้น้ำมันรวม 229 ล้านบาทต่อวัน และจากผู้ค้าก๊าซหุงต้ม (LPG) 2.02 ล้านบาทวัน รวมมีเงินไหลเข้าประมาณ 231 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 7,170 ล้านบาทต่อเดือน โดยกองทุนฯ จำเป็นต้องมีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2567 กองทุนฯ จะต้องเริ่มใช้หนี้เงินต้นที่กู้สถาบันการเงินไว้รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท โดยต้องเริ่มทยอยจ่ายหนี้เงินต้นครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ประมาณ 139 ล้านบาท รวมกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทุกเดือนประมาณ 250-300 ล้านบาท และหนี้เงินต้นจะทยอยสูงขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2567 เป็น 278 ล้านบาท โดยเงินกู้ต้นสูงสุดจะไปอยู่ที่เดือน ต.ค. 2568 ที่ต้องจ่ายถึง 2,926 ล้านบาท จากนั้นจะเริ่มทยอยลดลง โดยคาดว่าจะใช้หนี้หมดในเดือน ก.ย. 2571
“ดังนั้น หากการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ยังอยู่ระดับปัจจุบันที่ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อเดือน ก็ยังเพียงพอชำระเงินต้นที่สูงสุดในเดือน ต.ค. 2567 ได้ และยังสามารถดูแลราคาน้ำมันและ LPG ในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับภาพรวมสถานะเงินกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 27 ต.ค. 2567 กองทุนฯ ติดลบรวม -92,041 ล้านบาท มาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -44,564 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบรวม -47,447 ล้านบาท
ความคืบหน้าการสรรหาตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค. 2567