xs
xsm
sm
md
lg

กสศ. ยูเนสโก พันธมิตรเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) ร่วมสร้างการเข้าถึงการศึกษายั่งยืน ประชุมวิชาการครั้งที่ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรุงเทพฯ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยูเนสโก และกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “จินตภาพใหม่การศึกษา ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน” ขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้

การประชุมวิชาการนานาชาติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา มุ่งเน้นการเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างระบบการศึกษาแบบครอบคลุมและยืดหยุ่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เสมอภาค สำหรับเยาวชน และประชากรวัยแรงงาน โดยแบ่งเป็นหัวข้อหลักที่น่าสนใจ เช่น

การประชุมในหัวข้อ “การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง” มีวิทยากรที่เป็นที่รู้จักหลายท่าน เช่น Ms.Dawn Adrian ผู้จัดการฝ่ายการศึกษาสถาบัน SDG เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDSN) Mr.Jordi Prat Tuca ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) Mr.Jose de Jesus ผู้ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือภาคประชาสังคมทางการศึกษา (CSEP) และสภาเยาวชนกลุ่มเปราะบาง (MYF) ของประเทศติมอร์-เลสเต  Ms.Renu Seth หัวหน้าร่วมโครงการเด็กหญิงและสตรี มูลนิธิ Pratham ประเทศอินเดีย และ Dr.Aarti Saihjee หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีความท้าทายด้านแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเกือบ 80 ล้านคนอยู่ในภาวะยากจนพิเศษ ร้อยละ 66 ประกอบอาชีพนอกระบบ (แรงงานนอกระบบ) ร้อยละ 22 ของเยาวชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม และยังมีหลายล้านคนที่ยังคงเป็นแรงงานเด็ก การเปลี่ยนแปลงจากทั่วโลก ด้านเทคโนโลยี ด้านประชากร และด้านสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดความต้องการทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา (Technical and Vocational Education and Training: TVET)

TVET กำลังเป็นทางเลือกการศึกษาที่ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในฐานะเส้นทางที่มีศักยภาพสูงในการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่การพัฒนาโปรแกรมการเรียนที่ตอบโจทย์นี้ได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐบาล ภาคเอกชน ครูผู้สอน ไปจนถึงตัวผู้เรียนเอง ความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในหลักสูตรให้ทันกับทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ ทั้งนี้ ยังช่วยให้โปรแกรมการเรียนมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ TVET ยังเน้นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ด้วยการเสริมทักษะข้ามสาขาวิชา ทำให้ผู้เรียนมีความรู้รอบด้านและพร้อมรับมือกับความท้าทายระดับโลก ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่มาร่วมกันออกแบบหลักสูตร การเรียนรู้จึงเข้มข้นและมีคุณภาพมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียน

หัวข้อ “นวัตกรรมการเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับอนาคต” มีวิทยากรดังนี้ คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส มูลนิธิเคเอฟซี คุณอ้อมแก้ว เวชยชัย หัวหน้าฝ่ายพัฒนาตลาดเอเชีย องค์กร Global Steering Group for Impact (GSG Impact) และคุณศิรี จงดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน รวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ได้หาแนวทางเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนากรอบการศึกษาและการเงินนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลประโยชน์ในระบบการศึกษา โดยการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการเรียนรู้ที่ยั่งยืน


คุณอ้อมแก้ว เวชยชัย กล่าวว่า ความร่วมมือข้ามภาคส่วนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเงินและการลงทุนในภาคการศึกษา และเน้นถึงความจำเป็นในการให้ส่งต่อข้อมูลแก่สาธารณชนและนักลงทุนเกี่ยวกับบทบาทของการเงินนวัตกรรมในระบบการศึกษา ซึ่งจะทำให้เห็นถึงคุณค่าของการลงทุนต่อสังคม

มากกว่านั้นความสำคัญในการเปิดรับผู้เล่นใหม่ในตลาดและเชิญชวนองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้ามาร่วมลงทุน โมเดลการเงินนวัตกรรมจะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยขยายขอบเขตของโครงการด้านการศึกษา

คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล เสริมว่า ทางออกการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน และทักษะที่สามารถใช้ในชีวิตจริงหลังสำเร็จการศึกษา เป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยได้สรุปว่า "ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างผลประโยชน์เชิงบวกที่ยั่งยืนในระบบการศึกษา"

หัวข้อ “การกระจายอำนาจทางการศึกษา: การพัฒนาศักยภาพหน่วยงานระดับพื้นที่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีวิทยากร ดังนี้ Ms.Renu Seth หัวหน้าร่วมโครงการเด็กหญิงและสตรี มูลนิธิ Pratham ประเทศอินเดีย Ms.Diane Le Goff ผู้จัดการโครงการด้าน CSR ด้านการศึกษาเยาวชนและการประกอบการระดับโลก มูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค และนายสมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และ Mr.John Arnold Siena รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ (SEAMEO) ด้านการพัฒนาโครงการและกิจกรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ

การกระจายอำนาจในการศึกษาเป็นหนึ่งในความสำคัญสู่การสร้างความเสมอภาคและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ตัวอย่าง เช่น โครงการของมูลนิธิ Pratham ในประเทศอินเดีย ซึ่งมุ่งเน้นให้มารดามีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ทั้งนี้ได้ส่งผลให้การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน โครงการนี้ครอบคลุมกว่า 18 รัฐ ส่งผลกระทบเชิงบวกแก่เด็ก 1.92 ล้านคน ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของการพัฒนาการศึกษาโดยชุมชนที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา เช่น มูลนิธิชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะด้านเทคนิคให้แก่เยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมในอาชีพ และสนับสนุนทักษะพลังงานแสงอาทิตย์ให้ผู้หญิงกว่า 7,000 คนในภูมิภาคซาเฮลของแอฟริกา อีกทั้งยังนำการฝึกอบรมเข้าสู่ชุมชนในป่าอเมซอนในบราซิล อาร์เจนตินา และเปรู สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของเอกชนในการเพิ่มโอกาสและทักษะการเรียนรู้ในชุมชนห่างไกล

ในประเทศไทย โครงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดระยองเป็นอีกตัวอย่างของการกระจายอำนาจผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยปรับให้เข้ากับความต้องการท้องถิ่น เสริมสร้างความครอบคลุมทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน

หัวข้อ “ระบบติดตามและการประกันคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ และการพัฒนาการประเมินผลที่มุ่งพัฒนาผลลัพธ์ทางการศึกษาของผู้เรียน” วิทยากรประกอบด้วย Mr.Bagus Santoso ผู้ก่อตั้ง DEFINIT Asia Mr.Alejandro Ibanez ผู้จัดการโครงการ Southeast Asia Primary Learning Metrics (SEA-PLM) สำนักเลขาธิการองค์การซีมีโอ (SEAMEO) และ Mr.Koji Miyamoto นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก โดยมี Ms.Karolina Rutkowska ผู้บริหารโครงการ องค์กร VVOB เป็นผู้ดำเนินรายการ

การประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ คือ กุญแจสำคัญสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การประเมินทักษะในระดับนานาชาติ เช่น PISA ช่วยให้เห็นถึงทักษะสำคัญต่อแรงงาน ทั้งด้านการอ่าน ความรู้ดิจิทัล และทักษะทางสังคมและอารมณ์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบในระดับสากล

ในประเทศไทย รายงานการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พ.ศ.2565 จัดทำโดยธนาคารโลก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่ายในประเทศไทย เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำการประเมินในกลุ่มตัวอย่าง 7,300 คน อายุระหว่าง 15-64 ปี ผลลัพธ์เผยให้เห็นช่องว่างสำคัญ โดยพบว่า ร้อยละ 74.5 ขาดทักษะดิจิทัล และกว่าร้อยละ 60 ขาดทักษะการรู้หนังสือ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อให้เกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการสนับสนุนในด้านนวัตกรรมเชิงกลยุทธ์และการประกันคุณภาพการศึกษา
การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมเป็นกุญแจสำคัญในการปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การประเมินภายนอกและการปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็นในการบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์สำหรับผู้เรียนทุกคน

สุดท้ายในหัวข้อ “บทบาทของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” วิทยากร ได้แก่ Dr.Shubham Sahai Srivastava วิศวกรซอฟต์แวร์ ศูนย์ AI สำหรับเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัย National University of Singapore Mr.Umair Ali ผู้อำนวยการฝ่ายการติดต่อและการมีส่วนร่วม องค์กร Knowledge Platform Ms.Abigail Lesaca ผู้จัดการ CSR บริษัท IBM ประเทศฟิลิปปินส์ และ Dr.Haani Mazari หัวหน้าภูมิภาคเอเชีย องค์กร EdTech Hub เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในขณะที่เทคโนโลยีและ AI เข้าถึงได้มากขึ้น วิสัยทัศน์ระดับโลกของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความเสมอภาคทางการศึกษากำลังเข้าใกล้ความเป็นจริง แพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วย AI เช่น ศูนย์ AI เพื่อเทคโนโลยีการศึกษา (AICET) ของสิงคโปร์ ได้พัฒนาการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล ข้อเสนอแนะที่ปรับได้ และประสิทธิภาพในการประเมินผล ซึ่งเข้าถึงผู้เรียนกว่า 1.2 ล้านคนตั้งแต่ปี 2565 ในภูมิภาคต่างๆ ตั้งแต่เอเชียถึงสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม AI ก่อให้เกิดความท้าทายเช่นกัน รวมถึงความเสี่ยงด้านความไม่แม่นยำ ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของข้อมูล


แพลตฟอร์มที่มุ่งเน้น AI ของ IBM ยังเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงศักยภาพของเทคโนโลยีในด้านการศึกษา โดยให้บริการหลักสูตร AI ฟรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มที่ไม่ได้รับการส่งเสริม โดยมีเป้าหมายในการฝึกอบรมคน 2 ล้านคนในด้าน AI ภายในปี 2569 รายงานอนาคตของงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เน้นถึงความต้องการทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะด้านอารมณ์และเทคโนโลยี การจัดหาโอกาสการเรียนรู้ที่ปรับตามผู้เรียนและเข้าถึงได้ง่ายทำให้ AI และเทคโนโลยีเข้ามาสร้างสรรค์การศึกษาใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนทุกวัยพร้อมรับความสำเร็จในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง
การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบการศึกษาที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีข้อสรุปสำคัญคือ

1.การเข้าถึงการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องมอบโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับทุกคนไม่ว่าจะมีพื้นฐานหรือความท้าทายใดๆ
2.หลักสูตรการศึกษาควรสอดคล้องกับการนำไปใช้ในชีวิตจริงและเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับอาชีพในอนาคต
3.เพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพครู เครื่องมือ และทรัพยากร
4.การกระจายอำนาจเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
5.รัฐบาลควรเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงช่องว่างของนโยบายเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
6.การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนภายในปี 2573

การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่ในปี พ.ศ.2564 โดยสามารถติดตามรายงานฉบับสมบูรณ์ที่จะเผยแพร่ผ่านบนเว็บไซต์การประชุมที่ https://afe2024.eef.or.th/

-------------------------------------------------------------------------------

เกี่ยวกับการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 จัดโดยยูเนสโก กรุงเทพฯ และ กสศ. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) องค์การยูนิเซฟ สำนักงานภาคพื้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ภาคีอื่นของการประชุมนี้ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา กัมพูชา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี Programme Management Office of Prakerja กระทรวงการประสานงานด้านเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สมาคมการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาผู้ใหญ่แห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกใต้ และรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ afeconference@eef.or.th
กำลังโหลดความคิดเห็น