xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 33.79 ติดตามผลการประชุม BOJ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.70 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.67-33.81 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรกเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงแถวโซนแนวต้าน 33.80 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งออกมาขยายตัว +2.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ +3.0% นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลักฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) ซึ่งได้แรงหนุนจากการปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB อีกทั้งรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 รวมถึง อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) รีบาวนด์แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน หลังรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยงบประมาณฉบับแรก ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างที่ผู้เล่นในตลาดได้กังวล นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ยังได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้จุดสูงสุดก่อนหน้าอีกครั้ง ซึ่งช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะเป็นการประชุมหลังการเมืองญี่ปุ่นเผชิญความไม่แน่นอนอีกครั้ง หลังพรรค LDP และพรรคพันธมิตร Komeito ได้เสียการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ จนอาจมีผลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ BOJ ได้ ทำให้แม้ว่าในการประชุม BOJ ครั้งนี้ เรามองว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ตามเดิม ทว่า เราจะจับตาอย่างใกล้ชิดต่อการส่งสัญญาณของ BOJ เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน ภายใต้ความเสี่ยงการเมืองญี่ปุ่น

ส่วนในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) เดือนตุลาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อยูโรโซน เดือนตุลาคม รวมถึงถ้อยแถลงจากบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เช่น ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ PCE เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Amazon, Apple และ Intel ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways โดยเงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านแถว 33.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่แถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์) เพราะถึงแม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง หรือบรรดานักลงทุนต่างชาติจะยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ทว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินบาทกฝอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้ในช่วงนี้ เงินบาทอาจพอมีโซนแนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 33.65 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวรับถัดไปแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ เรามองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เพราะหาก BOJ มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจน ว่าพร้อมทยอยเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย โดยไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์การเมืองญี่ปุ่น อาจเป็นปัจจัยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ขณะที่ หาก BOJ ย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย พร้อมแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นมีจังหวะอ่อนค่าลงต่อได้เช่นกัน ซึ่งในช่วงนี้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) พอสมควร โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินบาท และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง หรือชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้
กำลังโหลดความคิดเห็น