xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอ หวั่น 4 ภัยพิบัติรุนแรง เตือน!! “เราจะอยู่ในโลกที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


   ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ
ทีดีอาร์ไอ จัดสัมมนาปรับประเทศไทยให้อยู่รอดในยุคโลกเดือด “ดร.สมเกียรติ” เตือน “เราจะอยู่ในโลกที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน” ห่วงภาวะโลกรวนทำไทยประสบ 4 ภัยพิบัติ ท่วมแรง-แล้งหนัก-ร้อนจัด-ทะเลกัดเซาะ ระบุไทยได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เสนอ 4 ปรับเพื่อรับมือ-สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” ที่สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ โดยมีการนำเสนอผลการศึกษา และทิศทางด้านนโยบายและมาตรการในการเตรียมปรับประเทศไทยให้ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศผ่าน 5 หัวข้อ ประกอบด้วย 1. ปรับประเทศไทย…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ 2. ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง 3. สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ 4. รับมือภัยพิบัติ…จัดการวิกฤตภัยธรรมชาติ และ 5. การเงิน-ประกันภัย…ปรับอย่างไรรับโลกรวน?

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย...ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ” ว่า ทุกคนบนโลกนี้จะต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในโลกที่จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยคาดว่าอุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้นระหว่าง 2.7-3.1 องศาเซลเซียส ในปีค.ศ. 2100 หากประเทศต่างๆ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามความตกลงปารีสที่ได้ประกาศไว้ แต่หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม อุณหภูมิของโลกอาจสูงถึง 4-5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นในระดับ “โลกเดือด”

“พวกเราทุกคนจะอยู่ในโลกใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะโลกร้อนขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้น หลายประเทศต้องประสบภัยพิบัติ คนถึง 32 ล้านคนได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยภูมิอากาศในปัจจุบัน ในอนาคตจะเกิดความแห้งแล้งจนอาจเกิดความรุนแรงจากการแย่งน้ำกัน ทั้งนี้ประเทศไทยจะเสี่ยงจาก 4 ภัยอันตราย คือ ระดับน้ำทะเลสูงและการกัดเซาะชายฝั่ง การเกิดอุกทกภัย ความแห้งแล้งในระดับที่รุนแรง และการที่หลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมาก ” ดร.สมเกียรติ ระบุ

ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ภาวะโลกรวนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยผลกระทบหลัก คือ การสูญเสียผลผลิตภาคการเกษตร สูญเสียผลิตภาพแรงงาน และสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ดังนั้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ประเทศไทยจะต้องเตรียมการ 4 เรื่องที่สำคัญคือ หนึ่ง การสร้างงานใหม่ทดแทนงานกลางแจ้ง ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นงานเกษตรกรรม การก่อสร้าง การขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง สอง การปรับปรุงสภาพของเมือง เพื่อลดความร้อนและความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย ตลอดจนการรับมือกับน้ำทะเลสูงขึ้นในเมืองริมชายฝั่ง สาม การพัฒนาระบบจัดการภัยธรรมชาติที่มีประสิทธิผลซึ่งสามารถป้องกันและลดความเสียหาย และ สี่ การเตรียมเงินทุนเพื่อการปรับตัว โดยทั้งหมดนี้จะต้องคำนึงถึงคนกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษด้วย

“เมื่อเราอยู่ในโลกที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เราจะไม่สามารถคิดแบบเดิม ดังนั้นเราควรใช้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ควรทำมานาน เช่น ปรับนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเช่น ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงระบบพยากรณ์อากาศและปรับแบบแผนในการใช้ที่ดิน ที่สำคัญคือปรับระบบบริหารประเทศ ซึ่งต้องกระจายอำนาจ และทำงานแบบบูรณาการในการแก้ปัญหา และลงทุนในการพัฒนาความสามารถในการปรับตัวของคนไทย ซึ่งหากประเทศไทยสามารถปรับตัวได้สำเร็จ เราจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นซึ่งปรับตัวได้ดีไม่เท่า ทั้งในด้านการผลิตอาหารซึ่งใช้น้ำน้อยแต่สามารถเพิ่มผลิตผลได้ การสร้างซัพพลายเชนของสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความยืดหยุ่นและปล่อยคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการพัฒนาท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ซึ่งยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น” ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุ

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
๐ โลกรวนทำไทยเสี่ยงสูญเสียผลผลิตการเกษตรมากเป็นอันดับ 3 หนุนปรับตัวภายใต้แนวคิด “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” พร้อมอัพเกรดระบบส่งเสริมเกษตร-สร้างงานนอกภาคเกษตร รองรับเกษตรรายเล็กกลุ่มเปราะบาง

ด้าน ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “เร่งภาคการผลิตปรับตัว...รับมือโลกรวน” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ไทยสูญเสียผลผลิตภาคการเกษตรมากเป็นอันดับ 3 จาก 48 ประเทศ ดังนั้นภาคเกษตรจะต้องปรับตัว โดยยึดแนวคิด “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” ซึ่งจะเป็นการปรับตัวเพื่อสร้างความยืดหยุ่น ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตัวอย่างของการปรับตัวตามแนวคิดนี้ในระดับเกษตรกร คือ การกระจายการผลิตโดยปลูกพืชหลากหลายชนิดแบบเกษตรสวนผสม การปรับปฏิทินเพาะปลูกให้สอดคล้องกับภูมิอากาศ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการเพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีแบบต่าง ๆ เช่น การใช้น้ำหยด ขณะที่ในระดับนโยบาย ต้องสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนแล้ง-ทนน้ำท่วมได้ มีผลผลิตสูงขึ้น และสามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพที่จะทำให้สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ ซึ่งประโยชน์ของเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ นอกจากจะช่วยลดความเสียหายจากภาวะโลกร้อนได้แล้ว ยังมีโอกาสเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพ

ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า เกษตรกรไทยมีความจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาให้ไปสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพรวมทั้งเกษตรกรรายใหญ่ หรือรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่สามารถจัดการเชิงธุรกิจได้ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่เก่งด้านการตลาด และภาควิชาการ ส่วนเกษตรกรรายเล็กที่ยังเปราะบาง มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวหารายได้นอกภาคเกษตร ดังนั้นนโยบายที่สำคัญจะต้องมีการจ้างงานนอกภาคเกษตรรองรับ รวมทั้งเร่งฝึกทักษะใหม่ ๆ ส่วนการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรนั้น จะต้องจูงใจให้เกษตรกรใช้นวัตกรรมเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ

“ระบบการส่งเสริมเกษตรจะต้องเลิกทำแบบเสื้อโหล โดยต้องคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างของเกษตรกรและสภาพภูมิประเทศ มีวิธีการปรับตัวควบคู่กันหลายวิธี ซึ่งจะต้องอาศัยการคิดระบบส่งเสริมแบบ 4 ประสาน คือ เกษตรกร เอกชน วิชาการ และรัฐ ขณะเดียวกันควรลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับระบบข้อมูลเกษตรและลงทุนปรับปรุงระบบพยากรณ์อากาศ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร” ดร.นิพนธ์ ระบุ

ดร.นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ
๐ เสนอภาคอุตสาหกรรมตั้งรับภัยพิบัติ จัดโซนนิ่ง หนุนย้ายโรงงานออกนอกพื้นที่เสี่ยง แนะ EEC แก้ปมขาดน้ำด้วยน้ำรีไซเคิล–ขึ้นราคาน้ำดิบ ด้านภาคท่องเที่ยว ควรใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ ไม่อิงฤดูกาล

ดร.นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกันว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงทั้งภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางอย่างในอยุธยาและปทุมธานีจะเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ดังนั้นจึงควรลดความเสี่ยงด้วยการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรม โดยกำหนดโซนนิ่งอุตสาหกรรม ห้ามตั้งโรงงานใหม่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตออกจากพื้นที่เสี่ยง พร้อมทั้งสนับสนุนกระจายการลงทุนและการพัฒนาไปยังพื้นที่นอกเขตภาคกลาง และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งพื้นที่หลังจะมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการ และอาจส่งผลให้โรงงานประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการผลิต ดังนั้นพื้นที่ EEC จำเป็นต้องเพิ่มการใช้น้ำรีไซเคิล และทยอยปรับขึ้นราคาค่าน้ำดิบให้เหมาะสม โดยคิดราคาที่สะท้อนต้นทุน เพื่อให้เกิดการประหยัดน้ำ

ดร.นพรุจ กล่าวด้วยว่า ภาคท่องเที่ยวถือเป็นอีกภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับ 1 จาก 48 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นและเกิดคลื่นความร้อน นอกจากนี้ยังจะมีการเสื่อมสภาพของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งพื้นที่ชายหาดและแนวปะการังของไทยจะลดลงอย่างมากในอนาคต ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ใน 2 รูปแบบ โดยปรับเวลาท่องเที่ยว ขยายกิจกรรมสู่ช่วงเวลากลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด และปรับกิจกรรมท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลลดลง เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการใช้ศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพื้นที่ และมุ่งสร้างตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจไมซ์ (MICE) หรือ การท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะขององค์กรต่างๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ตลอดปี

 ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์
๐ เตือนเมืองใหญ่ของไทยขาดความพร้อมรับมือภัยความร้อน-ท่วม-น้ำทะเลกัดเซาะ เสนอ เร่งวางแผนพร้อมลงทุนระยะยาว เน้นทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมปรับเมืองให้ยืดหยุ่น มุ่งตั้งรับความเสี่ยง - สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ กล่าวในหัวข้อ “สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ” ว่า เมืองเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของประชากร และเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้หลายเมืองทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับเมืองในประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองหลักอย่างกทม. ซึ่งมักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังและมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก ส่วนปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะนั้น ในเขตบางขุนเทียนถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนผืนดินหายไปถึง 2,735 ไร่ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงนี้ยังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลด้วย โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 1 แสนไร่ แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ได้ผล

ดร.สุเมธ กล่าวว่า หลายเมืองในประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการตั้งรับปรับตัวกับภัยเหล่านี้ เพราะขาดการวางแผนระยะยาวที่คำนึงถึงความเสี่ยงในอนาคต รวมทั้งขาดการประเมินโครงการที่ใช้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน อีกทั้งการลงทุนในการตั้งรับปรับตัวยังไม่มากพอ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาการปรับตัวของเมืองต่างๆ ในต่างประเทศ พบว่ามีแนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้กับเมืองในประเทศไทยได้ โดยหัวใจสำคัญคือ การวางแผน ประเมิน และลงทุนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป และให้ความสำคัญกับมาตรการที่สร้างผลประโยชน์ร่วมด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

“มาตรการที่ต้องมีในอนาคตจะต้องไม่ได้มุ่งจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติเท่านั้น แต่ควรมุ่งสร้างผลประโยชน์เชิงเศษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชิงวิศวกรรม การก่อสร้างที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ การเพิ่มสัดส่วนการใช้โครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบนิเวศ เช่น พื้นที่สีเขียว และมุ่งสร้าง “เมืองฟองน้ำ” ที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำท่วม โดยใช้บางพื้นที่ช่วยดูดซับและเก็บน้ำฝน รวมทั้งการกำหนดแนวถอยร่นและโยกย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บนพื้นฐานของความเข้าใจบริบทเฉพาะของเมือง กลุ่มเปราะบางในเมือง และความสามารถของเมืองในการตั้งรับปรับตัว” ดร.สุเมธระบุ

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ
๐ 3 ปัจจัยทำไทยท่วมซ้ำซาก จัดการน้ำรวมศูนย์แต่แยกส่วน-ขาดการป้องกันก่อนเกิดเหตุ -ลงทุนลดเสี่ยงน้อย ชู “หาดใหญ่โมเดล” ต้นแบบกลไกจัดการที่ดี พร้อมเปิด 4 ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติจริง แนะออก กม. เปิดทางตั้งผู้ว่าฯซูเปอร์ซีอีโอ-ผู้บัญชาการลุ่มน้ำพื้นที่เสี่ยงสูง

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “รับมือภัยพิบัติ…จัดการวิกฤตภัยธรรมชาติ” ว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยในช่วงปี 2543-2562 เกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศถึง 146 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 138 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 2.8 แสนล้านบาท โดยภัยธรรมชาติมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะเหตุอุทกภัยซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 2 พันคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 ล้านล้านบาท ขณะที่เหตุน้ำท่วมล่าสุดในพื้นที่ภาคเหนือ คาดการณ์ว่ามีความเสียหายสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาท

ดร.เสาวรัจ ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก จนก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลมี 3 สาเหตุ 1.การบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์แต่แยกส่วน 2.ขาดการป้องกันและเตรียมพร้อมที่ดีก่อนเกิดเหตุ โดยเฉพาะระบบเตือนสาธารณภัยของไทย และ 3.ขาดการวางแผนและจัดลำดับการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ทั้งที่การลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้ามีความคุ้มค่าสูง มีผลตอบแทน 9 เท่า ทั้งนี้ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ได้ คือการที่ท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐมีขีดความสามารถที่จำกัดในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติ รวมทั้งขาดการบูรณาการในการทำงาน และการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามไทยสามารถนำบทเรียนความสำเร็จของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น มาใช้ในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศได้

นายณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ
ด้านนายณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในประเทศไทยเองก็มีพื้นที่ที่มีแนวปฏิบัติที่ดีเช่นกัน ซึ่งก็คือ “หาดใหญ่โมเดล” โดยพื้นที่หาดใหญ่มีความเสี่ยงสูง และในอดีตถูกน้ำท่วมใหญ่ทุก 10 ปี ปัจจุบันหาดใหญ่มีกลไกบริหารความเสี่ยง และสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาเพียงพอที่ประชาชนจะสามารถขนย้ายสิ่งของมีค่า และอพยพไปในที่ปลอดภัยเพื่อลดความสูญเสียได้ ปัจจัยที่ทำให้หาดใหญ่โมเดลประสบความสำเร็จ คือการที่มีศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ และมีชุดปฏิบัติการที่เป็นข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ทำการประเมินสถานกาณ์ และจัดทำระเบียบวิธีการเตือนภัยในระดับต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เดินหน้าสู่การปฏิบัติจริงนั้น ดร.เสาวรัจ และนายณัฐสิฏ มีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ตั้งศูนย์วิชาการภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยง เช่นจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ในการจัดการรับมือความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยสนับสนุนทรัพยากรให้แก่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคด้วยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.) 2. เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคของหน่วยงานรัฐส่วนกลาง โดยขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) 3. ยกระดับการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงาน โดยให้อำนาจตามกฎหมายและอำนาจให้คุณให้โทษร่วมกับการสร้างความพร้อมรับผิดรับชอบของหน่วยงานในพื้นที่ โดยเร่งออกพ.ร.บ.ยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้มีความทันสมัย เริ่มใช้กับจังหวัดและลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้มี “ผู้ว่าซูเปอร์ซีอีโอ” และผู้บัญชาการลุ่มน้ำ เพื่อให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และ 4. แก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม โดยระงับการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติมไป พร้อมกับการทยอยแก้ไขปัญหาจากการใช้ที่ดินผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต

ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ
๐ ไทย “ติดกับดักมองสั้น” วางแผนประเมินความเสี่ยงรับภัยโลกรวนในแผนการคลัง การเงิน-ธุรกิจไม่เพียงพอ หากไม่เร่งปรับตัว จะเสี่ยงถูกลดอันดับเครดิตประเทศ เสนอดึงทุกภาคส่วนร่วมลงขันลงทุน สร้างนวัตกรรมประกันภัย พร้อมตั้งกองทุนปรับตัวฯ สู้โลกรวน

ขณะที่ ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “การเงิน-ประกันภัยปรับอย่างไรรับโลกรวน” ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากไทยไม่เร่งปรับตัวเพื่อรับมือ ภายในปี 2050 อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการถูกลดอันดับเครดิตของประเทศลงถึง 2 ระดับ หรือจาก BBB+ เหลือ BBB- ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในโครงการปรับตัวต่างๆ เช่น สร้างระบบเตือนภัยและปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ยืดหยุ่น โดยโครงการเหล่านี้สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 4 เท่าของเงินลงทุน แต่ที่ผ่านมาไทยติด “กับดักมองสั้น” ทำให้ขาดการวางแผนและประเมินความเสี่ยงระยะยาว ตลอดจนยังขาดการรวมความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้าไปในแผนการเงินและธุรกิจ รวมถึงปัญหางบประมาณจำกัด ทำให้การลงทุนด้านการปรับตัวไม่ได้รับความสำคัญเมื่อเทียบกับโครงการที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการลดก๊าซเรือนกระจก

ดร.ชาริกา เสนอว่า เพื่อก้าวข้ามกับดักเหล่านี้ รัฐบาลและภาคเอกชนควรบูรณาการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับการวางแผนการคลังและการเงินอย่างจริงจัง พร้อมกับสร้างระบบการเงินแบบลงขัน (blended financing) ที่ผสานเงินทุนจากหลายภาคส่วน และจัดตั้งกองทุนปรับตัว (Adaptation Fund) ที่มีรายได้จากภาษี เช่น ภาษีคาร์บอน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่จำเป็นและสำคัญต่อการปรับตัว ขณะเดียวกันจะต้องสร้างนวัตกรรมประกันภัยพิบัติ ที่มีคุณสมบัติให้ทุกคนเข้าถึงได้ สามารถจ่ายเงินชดเชยทันการณ์ และส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม เช่น ระบบประกันภัยแบบประกันดัชนี ซึ่งมีจุดเด่นที่หากค่าดัชนีถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ประกันก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ทันทีไม่ต้องไปตรวจความเสียหาย เช่นประเทศเคนยาที่มีการประกันภัยแล้งปศุสัตว์ หากดัชนีภัยแล้งถึงเกณฑ์ เกษตรกรจะได้เงินประกันซื้ออาหารเลี้ยงสัตว์ โดยทุก 1 ดอลลาร์ของค่าประกัน ลดการตายของสัตว์ได้ 25 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือการเงินอื่นๆ ทั้งการออกพันธบัตรภัยพิบัติ ที่เป็นตราสารหนี้เชื่อมโยงกับการประกันภัย จะช่วยให้ประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วและลดความเสี่ยงภาระการคลังระยะยาวในกรณีเกิดภัยพิบัติด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น