xs
xsm
sm
md
lg

กทม. เข้มลดฝุ่น PM2.5 ดีเดย์ 9 เขตมลพิษต่ำ 1 พ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กทม.จับมือภาคีเครือข่ายเดินหน้ามาตรการลดฝุ่น PM2.5 โดยการประกาศเขตควบคุมฝุ่น 9 เขต ห้ามรถบรรทุก 6 ล้อเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน 22 พื้นที่เขตมลพิษต่ำเป็นครั้งแรก


วานนี้ (29 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สสวท. แถลงความร่วมมือในการลดฝุ่นละออง PM2.5 ภายหลังประชุมมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568

ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย พร้อมร่วมเดินหน้ามาตรการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มักจะประสบปัญหาฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคมของทุกปี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า “กรุงเทพมหานคร พยายามหาอำนาจทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมลพิษ ซึ่ง กทม. สามารถใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีเกิดเหตุหรือใกล้จะเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้สามารถกำจัดต้นตอของสาธารณภัยได้”


ในปีนี้ กทม.ร่วมกับเครือข่าย กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ประกอบด้วย

1.มาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) และแนวทางการดำเนินงานภายใต้ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้พื้นที่บังคับใช้ จำนวน 9 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตคลองสาน เขตสาทร เขตปทุมวัน เขตบางรัก และแนวถนนต่าง ๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง โดยเมื่อค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น อัตราการระบายอากาศ และทิศทางลมมาจากตะวันออก ล่วงหน้า 2 วัน จะออกประกาศดังกล่าว โดยจะประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และกำหนดระยะเวลาห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศ

โดยจะมีการกำหนดเปิดลงทะเบียนบัญชีสีเขียว ตั้งแต่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไป สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่เข้ากระบวนการบำรุงรักษารถ ประกอบด้วย เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรองอากาศ และการติดตั้งตัวกรองอนุภาคไอเสียดีเซล (DPF) ได้รับการยกเว้นมาตรการในเขตมลพิษต่ำฯ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีสีเขียวกับข้อมูลจากกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนอีกด้วย ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนนำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว เข้าพื้นที่ในการช่วงที่มีการประกาศพื้นที่ Low Emission Zone ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2203 2951

“มาตรการดังกล่าวเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับรถบรรทุกส่วนใหญ่ให้ปรับปรุงตนเอง เพื่อลดมลพิษให้กับกรุงเทพมหานครทั้งในเวลาปกติและเมื่อเกิดภาวะวิกฤติฝุ่นหนาแน่น และ กทม.มั่นใจในเทคโนโลยีว่าจะช่วยตรวจจับผู้ฝ่าฝืนนำมาดำเนินคดีได้ ซึ่งคาดว่ามาตรการนี้จะเป็นมาตรการเชิงบวกเพื่อให้คุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครดีขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

2.โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น ปี 2568 ซึ่งต่อยอดดำเนินโครงการเป็นปีที่ 2 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 - มกราคม 2568 โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ โดยปีนี้ตั้งเป้ารถเข้าร่วมโครงการไว้ 500,000 คัน

3.มาตรการ Work From Home เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ต่อเนื่อง 2 วัน

4.การให้บริการยืมรถอัดฟาง เพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร โดยปรับลดเงื่อนไขการยืมรถอัดฟางในส่วนของผู้ยืม และการยกเว้นค้ำประกัน

5.โครงการนักสืบฝุ่น โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. และสนับสนุนการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

6.การจัดทำห้องปลอดฝุ่นและธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และป้องกันสุขภาพอนามัยของนักเรียนและบุคลากร

7.การเปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้


กำลังโหลดความคิดเห็น