xs
xsm
sm
md
lg

SCGP หลุดเป้ารายได้ปีนี้ 1.5 แสนล้าน D/E พุ่งหั่นงบลงทุนปี 68 เหลือ 1.3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



SCGP พลาดเป้ารายได้ปี 2567 ไม่ถึง  150,000 ล้านบาท หลังรายได้จากการขายงวด 9 เดือนแรกปีนี้ทำได้ 101,553 ล้านบาท และมีกำไร 3,756 ล้านบาท พร้อมอัดงบลงทุนปีหน้า 13,000 ล้านบาท ลดลงจากปีนี้ที่ใช้งบลงทุน 30,000 ล้านบาท เหตุ D/E พุ่ง 3.1 เท่าเต็มเพดาน 

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการบริษัทในไตรมาส 4/2567 คาดว่ามีรายได้ทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2567 ที่มีรายได้จากการขาย 33,371ล้านบาท และกำไรสุทธิ 578 ล้านบาท เนื่องจากตลาดบรรจุภัณฑ์ในปลายปีนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากช่วงไฮซีซันการท่องเที่ยว ทำให้วอลุ่มการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค.-พ.ย. แต่ช่วงธ.ค.คาดว่าปรับลดลง ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ทรงตัว ส่งผลให้ทั้งปี 2567 รายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 150,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในปี 2568 บริษัทมั่นใจมีผลประกอบการเติบโตดีขึ้นกว่าปีนี้ แม้ว่าปีนี้จะไม่บรรลุเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้ 150,000 ล้านบาท แต่รายได้รวมทั้งปี 2567 ยังเติบโตกว่าปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 129,398 ล้านบาท

“ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคจะเพิ่มการสต๊อกสินค้าเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ภาคการบริการและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และความต้องการสินค้าคงทนจะเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมรับเทศกาล ขณะที่เศรษฐกิจของจีนคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนราคากระดาษรีไซเคิลมีแนวโน้มลดลงจากราคาที่ปรับย่อลงในช่วงไตรมาสก่อน SCGP จึงยังคงมุ่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และโซลูชันที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค”


สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการขาย 101,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของทุกสายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของภาคการส่งออก และการฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าคงทน มี EBITDA เท่ากับ 13,282 ล้านบาท ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวด 3,756 ล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

งวดไตรมาส 3 ปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการขาย 33,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการขายเยื่อเคมีละลายได้ (Dissolving Pulp) ที่เพิ่มขึ้น และมี EBITDA เท่ากับ 3,496 ล้านบาท ลดลง 17 %จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับกำไรสำหรับงวด 578 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 56 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล และความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจึงส่งผลต่อสินค้าส่งออก เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเยื่อเคมีละลายได้ (Dissolving Pulp)


นายวิชาญกล่าวถึงงบลงทุนในปี 2568 ว่าบริษัทตั้งงบลงทุนปี2568อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นGrowth CAPEX เพื่อขยายสร้างการเติบโตธุรกิจราว 8,000-10,000 ล้านบาทและที่เหลืออีก 3,000-5,000 ล้านบาท ใช้ในการซ่อมบำรุง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ESG นวัตกรรมและอื่นๆ ซึ่งงบลงทุนในปี 2568 ต่ำกว่าปีนี้ที่ใช้งบลงทุนไปถึง 30,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากอัตราหนี้สินต่อทุนพุ่งอยู่ที่ D/E 3.1เท่า เต็มเพดานที่บริษัทตั้งไว้ไม่เกิน 3เท่า

ส่วนความคืบหน้าการควบรวมกิจการ (Merger and Partnership: M&P) นั้น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาควบรวมหรือซื้อกิจการโรงงานผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ คาดว่ามีความชัดเจนในปีหน้า

“ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ภาพรวมเศรษฐกิจมีความท้าทายเพิ่มขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทและสกุลเงินอื่น ๆ ในอาเซียน การเกิดอุทกภัยในไทยและเวียดนาม ที่ส่งผลต่อศักยภาพการส่งออกและการจัดเตรียมสต๊อกสินค้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้บริษัทส่งออกบรรจุภัณฑ์ไปจีนลดลงเหลือ 6%จากปกติส่งออกจีน 7-8% โดยบริษัทได้ปรับพอร์ตหันไปส่งออกยังตลาดสหรัฐฯ และตะวันออกกลาง”

นอกจากนี้ บริษัทวางเป้าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 3,000 ล้านบาท เป็น 10,000 ล้านบาทภายในปี 2573 ซึ่งล่าสุด บริษัทได้ร่วมมือกับ Once Medical Company Limited พัฒนาโซลูชันเข็มฉีดยา และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพสูงอื่นๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการผลิตของ VEM Thailand และขยายเครือข่ายลูกค้าให้แข็งแกร่งและครอบคลุมยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น