xs
xsm
sm
md
lg

BCPG ชี้ Q3 ปีนี้ปริมาณผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ชดเชยโรงไฟฟ้าพลังลมในไทย-โซลาร์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บีซีพีจีเผยไตรมาส 3/67 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 318.7 กิกะวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ช่วยชดเชยปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทย และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เปิดเผยว่า ภาพรวมปริมาณการผลิตไฟฟ้าของบริษัทในไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 318.7 กิกะวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 300.5 กิกะวัตต์-ชั่วโมง เนื่องจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้น จากปรากฏการณ์ลานีญา และปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย สามารถชดเชยปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นที่บริษัทได้จำหน่ายกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2567

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 พบว่าปริมาณการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าพลังลมในประเทศไทย สามารถชดเชยปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น

นายนิวัติกล่าวว่า ปริมาณการผลิตไฟฟ้าในแต่ละประเทศแบ่งเป็น ประเทศไทย ในไตรมาส 3/2567 มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักจากการปรับปรุงประสิทธิภาพแผงโซลาร์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยบางส่วน และปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ 3 โครงการ รวมกำลังการผลิตตามสัญญา 8 เมกะวัตต์ ที่กลุ่มบริษัทได้เข้าดำเนินการซื้อกิจการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทยลดลง เนื่องจากความเร็วลมที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยลดลง จากปัจจัยฤดูกาลตามปกติ ในขณะที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากกำลังลมที่เพิ่มขึ้น


ส่วนในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 กลุ่มบริษัทประสบความสำเร็จในการจำหน่ายกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 9 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 116.8 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 89.7 เมกะวัตต์) รวมถึงบริษัทย่อยในญี่ปุ่นซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการบริหารจัดการสินทรัพย์และการให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา เป็นผลให้ไตรมาส 3/2567 ไม่มีผลการดำเนินงานของธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น

สปป.ลาว ในไตรมาส 3/2567 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวเพิ่มขึ้น จากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล

ด้านส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม สหรัฐฯ พบว่าในไตรมาส 3/2567 กลุ่มบริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ทั้งสิ้น 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 857 เมกะวัตต์ โดยปริมาณการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนถือหุ้นของโรงไฟฟ้าก๊าซฯในประเทศสหรัฐรวมประมาณ 1,670 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการรับรู้ผลดำเนินงานเต็มไตรมาสของโรงไฟฟ้า Liberty และ Patriot จำนวน 426 เมกะวัตต์ โดยมีการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคม 2566 และการรับรู้ผลดำเนินงานส่วนเพิ่ม 280 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้า CCE โดยมีการเข้าถือหุ้นเพิ่มในเดือนตุลาคม 2566 ทั้งนี้เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนถือหุ้นของโรงไฟฟ้าก๊าซฯในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการจัดการแผนซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพในไตรมาสก่อน ส่งผลให้เปิดดำเนินการได้ตามแผนซ่อมบำรุง

อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือ ในไตรมาส 3/2567 ปริมาณใช้ถังเก็บน้ำมันและการใช้ท่ออยู่ที่ 689 และ 313.4 ล้านลิตร โดยปริมาณการใช้ถังเก็บน้ำมันลดลงเล็กน้อย จากช่วงไตรมาส 3/2566 ในขณะที่ปริมาณการใช้ท่อเพิ่มขึ้น จากการใช้ถ่ายขนน้ำมันของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 ปริมาณการใช้ถังน้ำมันลดลง ในขณะที่ปริมาณการใช้ท่อเพิ่มขึ้น จากการให้บริการขนถ่ายน้ำมันของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น