xs
xsm
sm
md
lg

กำไรแบงก์ 9 เดือน 11 แห่งยอดรวม 1.92 แสนล้าน โต 4.4% สำรองยังแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รายงานผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ประจำงวด 9 เดือนปี 2567 และงวดไตรมาส 3 ปี 2567 รวม 11 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท เอสซีบีเอ็กซ์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) แอล เอล ไฟแนนซ์แชียล กรุ๊ป (LHFG) และธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) แจ้งกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2567 มีจำนวนรวม 64,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 60,453 ล้านบาท และหากรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิรวม 192,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 184,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในรอบ 9 เดือน ธนาคารกสิกรไทยมีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 38,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนรองลงมาได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ มีกำไรสุทธิ 32,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารกรุงไทยมีกำไรสุทธิ 33,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.40% และบริษัทเอสซีบี เอกซ์ มีกำไรสุทธิ 32,526 ล้านบาท ลดลง 0.80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเป็นการขยายตัวที่ไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-shaped Economy โดยมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก และได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดภาระค่าใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้ให้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและภาคการส่งออกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของค่าเงินบาท โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ส่วนใหญ่ยังคงเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวจึงทำให้ฟื้นตัวได้ช้า ส่วนภาคครัวเรือนยังได้รับแรงกดดันจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยที่กระทบในบางพื้นที่

ทั้งนี้ ธนาคารเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินทรัพย์ รักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 184.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 181.3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิไทย (KBANK) เปิดเผยว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 ปี 2567 ยังมีภาพการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และการใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการลงทุนและการบริโภคของครัวเรือนที่มีแรงกดดันจากด้านต้นทุน ภาระหนี้สิน รวมถึงกระแสรายได้ที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2567 แม้เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถประคองแนวโน้มการขยายตัวได้ แต่ต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมและความผันผวนของค่าเงินบาท ตลอดจนแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสัญญาณการฟื้นตัวช้าของการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ธนาคารยังคงติดตามคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น และพิจารณาดำเนินการตั้งสำรองอย่างเพียงพอตามหลักความระมัดระวัง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ 150.72% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 20.58%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง มุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพและเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน
กำลังโหลดความคิดเห็น