“บีทีเอส”เผยผู้โดยสารสีเขียวพุ่งเกือบ 1 ล้านคนแต่ยังไม่เท่าช่วงก่อนโควิด เดินหน้าเจรจากทม.-KT ชำระหนี้อีก 3 หมื่นล้านบาท ส่วนก้อนแรก 1.18 หมื่นล้านกทม.ยันจ่ายก่อน180 วัน ชี้รัฐทำระบบตั๋วร่วมต้องไม่กระทบผู้ถือบัตรปัจจุบันกว่า 20 ล้านใบ
วันที่ 7 ต.ค. 67 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้มีการหารือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่าจะชำระหนี้ก้อนแรก ฆฯค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - วงเวียนใหญ่ - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง (หนี้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564) และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต (หนี้ช่วงเดือนเมษายน 2560 ถึง พฤษภาคม 2564) จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท ตามที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาได้ก่อนกำหนด 180 วัน โดยมีขั้นตอนที่สภากทม. ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ
ทั้งนี้หนี้ค่าเดินรถ แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกถือว่าชัดเจนแล้วหลังศาลปกครองมีคำพิพากษา ส่วนหนี้ ส่วนที่ 2 คือ หนี้ค่าเดินรถที่มีฟ้องอยู่ในคดีศาลปกครอง จากมิ.ย.2564-ต.ค.2565 และที่ยังไม่ได้ฟ้อง จากพ.ย.2565 - ปัจจุบัน รวมเงินต้น และดอกเบี้ยแล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาทนั้น จะมีการตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่าง กทม.บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และบีทีเอส เพื่อเจรจาแนวทางการชำระหนี้อย่างไร
และ ส่วนที่ 3 คือ หนี้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ระบุว่า เนื่องจาก สัญญาเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ ยังไม่เคยเข้าสภากทม. เพื่อพิจารณา จะต้องดำเนินการเรื่องนี้ก่อน
“กทม.มีความชัดเจนเรื่องที่จะชำระหนี้ให้บีทีเอส ถือเป็นเรื่องที่ดี ว่าปัญหาที่ผ่านมาจะได้รับการแก้ไขและปัญหาในอนาคตจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งบีทีเอสมีสัญญาจ้างเดินรถไปจนถึงปี 2585 “
@พร้อมร่วมค่าโดยสาร 20 บาท ชี้ทำระบบตั๋วร่วมต้องไม่กระทบผู้ถือบัตรเดิม
ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมจะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ...ในปี 2568 และจะมีการเดินหน้านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่จะครอบคลุมมาถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วยนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นั้น บีทีเอสยินดีให้ความร่วมมือ และได้รับเชิญจากกทม.ให้เข้าร่วม ประเด็นอยู่ที่ผู้ประกอบการต้องอยู่ได้ด้วย และผู้โดยสารต้องได้รับความสะดวกในการใช้บริการซึ่งเข้าใจว่า เมื่อมีพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯจะทำให้รัฐมีอำนาจทางกฎหมายในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งทราบว่าจะมีการตั้งกองทุนขึ้นเพื่อช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลง
ส่วนการใช้ตั๋วร่วมที่เป็นการปฎิบัตินั้น ล่าสุดบีทีเอสได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ซึ่งเป็นประเด็นทางเทคนิค เนื่องจากปัจจุบัน บีทีเอสมีผการออกบัตรแรบบิท ไปกว่า 20 ล้านใบ ดังนั้นการบริหารจัดการต้องไม่ให้กระทบต่อผู้ถือบัตรเดิม ซึ่งการบริหารตั๋วร่วมสุดท้ายก็ต้องมี Account Based ที่มีการลงทะเบียนกับรัฐ โดยได้เสนอแนวทางว่า น่าจะใช้ระบบ Cloud ID โดยมีผู้ดูแลกลาง โดยยังคงใช้บัตรใบเดิมที่มีได้เหมือนเดิมเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากกับผู้โดยสาร
ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยกว่า 8 แสนเที่ยวคนต่อวัน และมีผู้โดยสารสูงสุดที่กว่า 9 แสนกว่าเที่ยวคน ขณะที่ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 สายสีเขียว ที่ยังไม่มีส่วนต่อขยาย 2 เคยมีผู้โดยสารมากกว่า 1 ล้านเที่ยวคนต่อวัน ดังนั้นหากเปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดในระดับหนึ่ง ซึ่งสาเหตุ ที่ทำให้ผู้โดยสารยังไม่กลับไปเท่าเดิมได้ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนที่ยังไม่กลับมา และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังโควิด เป็นต้น แต่ในภาพรวมผู้โดยสารของสีเขียวในปี 2567 จะดีขึ้นกว่าปี 2566 แน่นนอน