xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยเดินแผนฟื้นฟูขั้นสุดท้ายแปลงหนี้-เพิ่มทุน หวังคลังหนุนเป็นเอกชน พลิกฟื้นธุรกิจทวงมาร์เกตแชร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การบินไทยเดินแผนฟื้นฟูขั้นสุดท้าย แปลงหนี้เป็นทุนและขายหุ้นเพิ่มทุน ดันกลับเข้าเทรดใน Q2/68 วาง 5 กลยุทธ์ สู่การเติบโตครั้งใหม่พร้อมประกาศทิศทาง “Fly for The New Pride” ลุ้นคลังหนุนเป็นเอกชนไม่ดึงกลับ รสก.ตั้งเป้าทวงคืนมาร์เกตแชร์อันดับ 1

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแผนฟื้นฟูกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่ ก.ค. 2566 ถึงมิ.ย. 2567 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 การบินไทยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเป้าหมายให้ส่วนของผู้ถือหุ้นให้กลายเป็นบวก ซึ่ง ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท


การแปลงหนี้เป็นทุน คือแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ กำหนดราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (PP) ตามลำดับ ซึ่งที่ปรึกษาการเงินอิสระ (IFA) จะทำราคาประเมินเบื้องต้นออกมากลางเดือน ต.ค. โดยต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น

“หลังการปรับโครงสร้างทุน คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่สัดส่วนหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ โดยกระบวนการปรับโครงสร้างทุนจะเสร็จสิ้นภายในปี 67 ก่อนจะแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ คาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อออกจากการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นกลับเข้าเทรดในไตรมาส 2/68”

โดยหลังปรับโครงสร้างทุน คลังและกองทุนวายุภักษ์จะถือหุ้นราว 45% โดยนอกจากการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว คลังยังมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งหากภาครัฐต้องการดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจมีหนทางเดียวคือเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หลังเข้าเทรดแล้ว

สำหรับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้กับหุ้นกู้ ต้องประเมินความคุ้มค่าที่จะแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท ซึ่งกำหนดไว้เมื่อปี 64 ตอนนั้นสภาพบริษัทมันแย่มาก มันแทบจะล้มละลาย ตอนนี้สภาพมันต่างกันมาก ราคาขายหุ้นเพิ่มทุนก็ควรจะเป็นราคายุติธรรม เป็น Fair Value ซึ่งราคาขายหุ้น น่าจะดีกว่านี้

กว่า 3 ปีที่ผ่านมาการบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด จนได้รับผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์มีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย ปรับลดขนาดองค์กร โดยลดจำนวนพนักงานลง เหลือ 14,000 คนในปี 2565 การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มไทยสมายล์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ปรับกลยุทธ์ฝูงบินและเส้นทางการบินเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างกำไรในทุกเส้นทางบิน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงาน การปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการคัดเลือกและประเมินบุคลากรที่โปร่งใส


@ชง รมว.คลัง ตัดสินดึงกลับมาเป็น รัฐวิสาหกิจหรือไม่

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง หนึ่งในผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย กล่าวว่า ตามแผนปรับโครงสร้างทุน คลังจะถือหุ้นต่ำกว่า 51% เมื่อดูตามโครงสร้างแล้วคงเป็นไปได้น้อยที่การบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ในแง่ของนโยบายของรัฐบาล คงต้องจะพิจารณาถึงผลประกอบการในช่วงที่การบินไทยบริหารแบบเอกชนเต็มตัวพลิกฟื้นธุรกิจกลับมามีกำไร และออกจากแผนฟื้นฟูได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถแข่งขันกับสายการบินคู่แข่งได้ ดังนั้น สคร.จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะนำการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่หลังจากคลังใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน 100% แล้ว โดยจะหารือกับ รมว.คลังอีกครั้ง


นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการบินไทย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวชี้วัดต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ ASK หรือ Available Seat Kilometers ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร, Aircraft utilization หรืออัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน, และ Cabin factor หรืออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ที่ล้วนแล้วแต่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของการบินไทยในการกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ในปี 2566 มีผู้โดยสารรวมประมาณ 13.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนในปี 2565 และมีรายได้รวมสูงถึง 165,491.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 105,212.3 ล้านบาทในปี 2565 และในปี 2567 บริษัท คาดมีรายได้จากผู้โดยสาร 1.8 แสนล้านบาท เท่ากับรายได้จากผู้โดยสารในปี 2562 หรือก่อนโควิด โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีรายได้ 9 หมื่นล้านบาท

@วาง 5 กลยุทธ์ สู่การเติบโตครั้งใหม่

นายชายกล่าวว่า กลยุทธ์สำคัญสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ของการบินไทย ประกอบด้วย
•การเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุม: โดยมุ่งเน้นการเชื่อมต่อเที่ยวบินที่ราบรื่น และตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารทั่วโลก

•การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสาร: โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเดินทาง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์

•การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน: เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร

•การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่: เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ และลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว

•การมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม: เพื่อสร้างคุณค่าอันยั่งยืนให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ การบินไทยจะดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว รับมือกับความท้าทาย และปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต” นายชายกล่าว


โดยวางเป้าหมายในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) โดยเป็นผู้นำตลาดในประเทศ จากปี 56 เคยมี ส่วนแบ่ง 42% ขณะนั้นมีฝูงบิน 100 ลำ ต่อมาในปี 62 ส่วนแบ่งลดลงเหลือ 37% ทั้งที่มีเครื่องบิน 103 ลำ และในช่วงเข้าแผนฟื้นฟู บริษัทได้ปรับโครงสร้างฝูงบินลดจำนวนเหลือ 70 ลำในปี 2566 ทำให้ส่วนแบ่งลดลงมาที่ 27%

ในระหว่างนี้การบินไทยจะจัดหาเครื่องบินนำมาใช้ชั่วคราวก่อน ได้แก่ โบอิ้ง B777-300ER และแอร์บัส A330-300 ซึ่งหากผู้ผลิตเครื่องบินไม่สามารถส่งมอบได้ตามแผน บริษัทก็จะชะลอการปลดระวางเครื่องบินเก่า และตามแผนภายในปี 2572 บริษัทจะจัดหาเครื่องบินเข้ามาเป็น 143 ลำ ทั้งลำตัวกว้าง 91 ลำ ลำตัวแคบ 52 ลำ จากนั้นเพิ่มเป็น 150 ลำในปี 2576 ในจำนวนนี้ 118 ลำ แบ่งเป็นลำตัวกว้าง 66 ลำ ลำตัวแคบ 52 ลำ

ซึ่งคาดว่าส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น และจะกลับมามีส่วนแบ่งเทียบเท่าปี 2556 ซึ่งปกติสายการบินเจ้าบ้านควรจะมีส่วนแบ่งราว 40-50%ปัจจุบัน การบินไทยมีจำนวนเครื่องบิน 77 ลำ อายุเฉลี่ย 9.3 ปี มีจุดบิน 62 จุดใน 27 ประเทศ มีเที่ยวบิน 803 เที่ยวบิน/สัปดาห์

ขณะเดียวกัน การบินไทยจะมุ่งเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเครือข่าย (Network Airline) ที่จะสามารถสร้างรายได้ผู้โดยสารต่อหน่วย (yield) และการเชื่อมต่อเครื่องข่ายเส้นทางได้แข็งแกร่ง โดยจะขยายเครื่องข่ายเส้นทางบินระยะสั้นเพื่อสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางหลักเชื่อมต่อเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเพิ่มสัดส่วนช่องทางการขายโดยตรงเองมากขึ้น และลดช่องทางการขายผ่านเอเย่นต์แบบออฟไลน์


@ขายหุ้นเพิ่มทุนใน ธ.ค. 67

นางสาวเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า แผนฟื้นฟูฯ กำหนดให้บริษัทต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนรองรับการแปลงหนี้ของเจ้าหนี้ 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยกระทรวงการคลัง (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4) จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100%

ในขณะที่เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้าง 24.50% ของมูลหนี้ โดยเจ้าหนี้สถาบันการเงิน (กลุ่ม 5-6) และผู้ถือหุ้นกู้สามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นเพิ่มทุนได้เพิ่มตามความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น แต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4, 5, 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นเพิ่มทุนโดยความสมัครใจเต็มทั้งจำนวน ไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้ขณะที่ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนขายหุ้นจนกว่าจะครบ 1 ปีนับจากวันที่หุ้น THAI กลับเข้าเทรด แต่จะให้สิทธิแบ่งขายได้ไม่เกิน 25% หลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2567 คาดว่าจะออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรมช่วงกลางเดือนต.ค. ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนช่วงเดือน พ.ย. 2567 และเสนอขายช่วงเดือน ธ.ค. 2567

หลังเพิ่มทุนการถือหุ้นของคลังจะปรับลงมาเป็น 32.9-41.4% จากเดิม 47.9% ธนาคารออมสิน 3.8-5.0% จากเดิม 2.1% กองทุนวายุภักษ์ 2.7-4.0% จากเดิม 7.6% ผู้ถือหุ้นเดิมอื่นๆ ลดลงเป็น 6.5-8.4% จาก 42.4% ส่วนเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูจะเข้าถือหุ้น 24.5-38.4% และส่วนผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงาน และ PP ที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ จะมีสัดส่วน 12.4-19.7%
กำลังโหลดความคิดเห็น