ไทยเบฟ เปิด Passtion 2030 ต่อยอดธุรกิจเสริมความแข็งแกร่ง ตอกย้ำผู้นำอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร ปักหมุดหมายการเติบโตใน 5 ปีนี้ เพื่อ ”สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน“ ล่าสุดเผยรายได้ 9 เดือนแรกปีนี้โต 0.5% แตะ 217,055 ล้านบาท กำไรโตอีก 2.2% หรือกว่า 38,595 ล้านบาท จากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มนอนแอล จากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีความท้าทายด้านการดำเนินงานและต้นทุน อันเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง และการบริหารอัตรากำไรและความเสี่ยงอย่างมีวินัย ทำให้เรามีผลการดำเนินงานดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เช่นเดียวกับในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยไทยเบฟมีรายได้จากการขายรวมถึง 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยได้รับแรงหนุนจากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อันเป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
“และในวันนี้เรากำลังมองไปข้างหน้า โดยนำจุดแข็งทางการแข่งขันและขีดความสามารถหลักของเรามาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างมูลค่าให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ตามแผนงาน PASSION 2030 โดยมุ่งต่อยอดการดำเนินงานของกลุ่มในการเสริมความแข็งแกร่งสถานะผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร พร้อมทั้งวางเป้าหมายและแผนการเติบโตในช่วงห้าปีข้างหน้าเพื่อ ‘สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน’ (Enabling Sustainable Growth)” นายฐาปน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลักของไทยเบฟ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย
1.ธุรกิจสุรา ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้ 92,788 ล้านบาท ลดลง 0.9% และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 1.3% สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายรวมที่ลดลง 2.7% เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งปีนี้มุ่งสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งในฐานะผู้นำให้มีความมั่นคงมากขึ้นทั้งในตลาดสุราขาวและสุราสี ล่าสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้รุกตลาดพรีเมี่ยม ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ PRAKAN (ปราการ) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ระดับพรีเมียมแบรนด์แรกของประเทศไทย เข้ามาเสริมทัพในการขับเคลื่อนสุราพรีเมี่ยมองไทยสู่เวทีระดับโลก
2.ธุรกิจเบียร์ 9 เดือนแรก มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 10.2 % ตามรายได้โตขึ้น 0.6% คิดเป็นมูลค่า 93,793 ล้านบาท อันเป็นผลจากการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง และการผลิตมีที่ประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 2.9% ก็ตาม
สำหรับธุรกิจเบียร์ในประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นอันดับหนึ่งของตลาด ภายใต้ 6 กลยุทธ์สำคัญ คือ 1.เสริมแกร่งความเป็นผู้นำ 2.ยกระดับกลุ่มผลิตภัณฑ์ 3.พัฒนาความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน 4.ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลง 5.การลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล และ6.ส่งเสริมความยั่งยืน ส่วนธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม มุ่งสร้างความแข็งแกร่งของตำแหน่งผู้นำผ่านการขยายเครือข่ายการกระจายสินค้า โดยเฉพาะพื้นที่นอกเมือง โดยเน้นสร้างความแข็งแกร่งใน 3 ด้าน คือ ความเป็นเลิศด้านการค้า, ประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน และการเำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล
3.ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้จากการขาย 15,553 ล้านบาท โตขึ้น 4.9% ตามปริมาณขายที่โตขึ้น 5.3% มาจากกิจกรรมส่งเสริมตราสินค้าที่ประสบความสำเร็จ และการขยายการกระจายสินค้าให้กว้างขวาง โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 1,817 ล้านบาท โตขึ้น 2.5% จากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง แม้จะมีการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นก็ตาม ซึ่งธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยังคงดำเนินการภายใต้แนวคิด “เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่อนาคตยุคดิจิทัล”ภายใต้กลยุทธ์หลัก 3 ประการ คือ 1.ตราสินค้าและการเข้าถึง เช่น ชาเขียวโออิชิ นำเสนอความเป็นญี่ปุ่น, น้ำดื่มคริสตัล ตอกย้ำความเป็นผู้ชูจุดยืนน้ำดื่มคุณภาพ และเครื่องดื่มอัดลมเอส ยกระดับตราสินค้า เจาะกลุ่มเจน Z 2.ความเป็นเลิศด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน และ3.ความยั่งยืน
4.ธุรกิจอาหาร ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท โตขึ้น 5.1 % กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 0.6% หรือทำได้ 1,438 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น.