การบินไทยยิ่นไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุน 14,733 ล้านหุ้น คาดเคาะราคาสุดท้ายปลาย ต.ค.-ต้น พ.ย. 67 พร้อมเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูฯ คาดกลับเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาส 2 ปี 2568 ลุย ขยายฝูงบินเติบโตปีละ 4%
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) เปิดเผยว่า วันที่ 30 ก.ย. 2567 บริษัทยื่นข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น รวมกับหุ้นที่เหลือจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมเป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้ (Voluntary Conversion) ไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนและพนักงานของการบินไทยตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ ราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่เป็นราคาสุดท้ายคาดว่าจะสรุปได้ในปลายเดือน ต.ค. หรือต้น พ.ย. 2567 โดยในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้จะมีช่วงราคาเสนอขายจากที่ปรึกษาการเงินอิสระ (IFA) จากนั้นจะให้ผู้ถือหุ้นเดิมเป็นกลุ่มแรกจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ถัดมาเปิดให้พนักงานจองซื้อภายในเดือน พ.ย. และหากยังเหลือจะนำไปเสนอขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรใหม่ไม่น้อยกว่า 5 ราย ที่มีทั้งสายการบิน และนักลงทุนสถาบัน
ทั้งนี้ การบินไทยจะขายหุ้นเพิ่มทุน 9,822 ล้านหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิม พนักงาน และนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ในราคาสูงกว่า 2.5452 บาท/หุ้น โดยกำลังประเมินมูลค่าหุ้นจากหลายๆ ที่ปรึกษาการเงินที่จะมาจาก 4 ส่วน ได้แก่ ที่ปรึกษาของการบินไทย, IFA ที่ประเมินมูลค่าหุ้นให้กับเจ้าหนี้ที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพิ่มเติม, ที่ปรึกษาการเงินจากภาครัฐ และการประเมินมูลค่าหุ้นจาก PP ที่เรากำลังพูดคุย ตอนนี้ก็อยู่กระบวนการทั้ง 4 ที่ปรึกษาเพื่อจะหาตัวเลขที่เป็น Fair Value เพื่อให้ผู้บริหารแผนตัดสินใจว่าจะใช้ราคาหุ้นตัวไหน จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในราคาเดียว
ขณะเดียวกัน บริษัทก็ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อขอลดทุน ศาลล้มละลายได้นัดวันที่ 8 พ.ย. 67 โดยจะล้างขาดทุนสะสมเพื่อบริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นใหม่ได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจะทำให้หุ้นการบินไทยน่าสนใจมากขึ้น
ทั้งนี้ กระบวนการการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับทุกกลุ่มจะเสร็จสิ้นภายใน 31 ธ.ค. 67 จากนั้นบริษัทจะเตรียมยื่นออกจากแผนฟื้นฟูฯ ที่จะใช้งบการเงินปี 67 ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัทจะต้องยื่นงบการเงินงวดปีอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือน ก.พ. 68 จากนั้นต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นใหม่หลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น คาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือน เม.ย. 68 หรือไม่เกินกลางเดือนเม.ย. 68 เพื่อแต่งตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่ เป็นเงื่อนไขหนึ่งของความสำเร็จแผนฟื้นฟูกิจการ
บริษัทคาดว่าจะยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูฯ ในเดือน พ.ค. 68 เชื่อว่าศาลจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหรือ 1 เดือนครึ่งในการพิจารณา ไม่น่าจะเกินเดือน มิ.ย. 68 และคาดว่าหุ้น THAI จะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่งภายใน มิ.ย. 68
"จากการพูดคุยเจ้าหนี้ ภาครัฐ รวมถึงกระแสสังคมไทย ผมพยายามรับกระแส คำตอบรับหลายๆ ภาคส่วน ก็ยังไม่มีใครที่จะให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ข้อดี ข้อด้อยข้อเสีย ผมว่าไม่คุ้มกับการที่เราจะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะเราได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว 4 ปีจากการเข้าแผนว่าบริษัทสามารถขับเคลื่อน มีความคล่องตัวมากกว่า มุมมองธุรกิจมากกว่า พนักงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง การทำงานทำได้เร็วขึ้น กล้าตัดสินใจมากขึ้น ผมว่าไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ" นายชายกล่าว
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด รวมถึงปรับการบริหารจัดการองค์กรให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ มุ่งให้เกิดผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาทเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 การมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่กรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท และไม่ผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตามส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท ขั้นต่อไปจึงเป็นการเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุน
ประกอบด้วย การแปลงหนี้เป็นทุนและการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ลงทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งต้องแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งจะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยปรับให้โครงสร้างทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก และสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และนำหุ้นของการบินไทยกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 ซึ่งการบินไทยยังต้องผูกพันตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป โดยจะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จนครบถ้วนตามแผนฯ
ด้านนางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กำหนดให้ในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ บริษัทฯ ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน เพื่อรองรับ 1) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 คิดเป็นมูลค่า 12,827,461,287 บาท โดยการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 5,039,896,007 หุ้น
ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด โดยการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น
2) การใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) ซึ่งเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ สามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น และ
3) การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นทุน ซึ่งเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ สามารถใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้โดย ความสมัครใจ ในจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของยอดดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้
ในส่วนของการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน การบินไทยจะเสนอขายโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น ให้แก่บุคคลตามที่แผนฯ กำหนด โดยแบ่งลำดับการจัดสรรเป็น 3 ลำดับ ดังนี้ 1) ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ 2) พนักงานของการบินไทย และ 3) บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งจะจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัดในกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการเสนอขายให้ แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและพนักงาน โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควร แต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น
“และเพื่อความสำเร็จของการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฯ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาหุ้นของการบินไทยภายหลังจากวันที่กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุนที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ขายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยหลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขาย ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะให้เจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายสามารถขายหุ้นในส่วนดังกล่าวของตนได้จำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่ถูกห้ามขาย ซึ่งอ้างอิงเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ” นางเฉิดโฉมกล่าว
สำหรับการขายหุ้นเพิ่มทุนนั้น ตามแผนงาน บริษัทจะนำเงินจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไปใช้
1. จัดหาเครื่งบินเพื่อสนับสนุนการขยายเครือข่ายเส้นทางบินรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
2. ปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน (Retrofit) โดยมีแผนติดตั้งที่นั่งใหม่ Wi-Fi และสิ่งอำนวยความสะดวกมาตรฐานระดับโลกสำหรับการให้บริการบนเครื่องบิน เป็นต้น เพื่อพัฒนาการบริการบนเครื่องบิน (In-flight services)
3. พัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO Centers) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการแก่สายการบินอื่น ๆ และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน
4. เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนเครื่องบิน 77 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวกว้าง 57 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และมีเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 59 จุดบินใน 24 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 51 จุดบินในต่างประเทศ และ 8 จุดบินภายในประเทศ
ณ วันที่ 30 มิ.ย. 67 บริษัทมีหนี้สินรวม 310,956.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ตามแผนฟื้นฟูฯ 82,385.1 ล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่า (เช่าเครื่องบิน) รวม 101,232.7 ล้านบาท รวมถึงภาระผูกพันที่ต้องจ่ายในอนาคตตามสัญญาเช่าเครื่องบินที่อยู่ระหว่างการส่งมอบรวม 1,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาจัดหาเครื่องบินที่อยู่ระหว่างรอการรับมอบ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
@ขยายฝูงบินเติบโตปีละ 4%
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการบินไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมองแผนการเติบโตระยะยาวไปแล้ว จากการจัดหาฝูงบินระยะยาว โดยมองว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบอีก 20 ปีข้างหน้า ย้อนกลับไปในปี 61-62 การบินไทยมีเครื่องบิน 103 ลำ ณ วันนั้นเป็นเครื่องบินก็เก่า แต่บริษัทได้ขยายฝูงบินแผนระยะยาว 72 บริษัทจะมีเครื่องบิน 143 ลำ โดยจะโตจากปี 2019 (2562) ในอีก 10 ปี คือปี 2029 (2572) เติบโตเฉลียปีละ 4% กว่า ซึ่งไม่ได้เยอะเลยถ้าเทียบกับการเติบโตของอุตสาหกรรม และถ้าเราไม่โตจากปัจจุบันแสดงว่าเราถอยหลัง เพราะตลาดโตหมด สายการบินอื่นโตหมด แต่การบินไทยอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นอำนาจการแข่งขันของเราก็จะด้อยลง
"ถ้าการบินไทยอยู่กับที่ ทาง Finanical Projection เราไม่มีทางจะหากระแสเงินสดมาชำระให้กับเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู ถึงแม้เราจะออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว ยังมีภาระที่เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งการบินไทยจะต้องชำระหนี้ไปจนถึงปี 2036 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า รวมจำนวน 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้นถ้าอยู่ด้วยไซส์เดิม ก็จะไม่มีกระแสเงินสดจ่ายให้กับเจ้าหนี้ได้"