วัฒนธรรมบ้างานของคนญี่ปุ่นทำแผนผลักดันภาคเอกชนยอมรับการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันของรัฐบาลขายไม่ออก ผู้เชี่ยวชาญชี้บริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่ใช้แนวทางนี้ไม่ใช่บริษัทญี่ปุ่นดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ เจแปน ขณะที่ข้อเสนอหยุดงานสัปดาห์ละ 3 วันของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างพานาโซนิกกลับมีพนักงานเลือกใช้สิทธิ์นี้เพียง 150 คน จากทั้งหมด 63,000 คน
เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ริเริ่มแคมเปญปฏิรูปสไตล์การทำงานที่มุ่งส่งเสริมตารางการทำงานที่ยืดหยุ่น ชั่วโมงการทำงานสั้นลง และจำกัดการทำงานล่วงเวลา เพื่อส่งเสริมแผนการริเริ่มนี้ กระทรวงแรงงานยังเริ่มให้การอุดหนุนและบริการให้คำปรึกษาฟรี
ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนความพยายามร่วมกันมากขึ้น หลังจากรัฐบาลเริ่มสนับสนุนสัปดาห์การทำงานที่สั้นลงในปี 2021 เมื่อรัฐสภาโหวตรับรองแนวคิดนี้ แต่มาตรการนี้ไม่ได้มีการบังคับและได้รับการตอบรับน้อยมาก
ทิม เคร็ก ที่ใช้เวลากว่า 20 ปีในการสอนและการวิจัยในวิทยาลัยธุรกิจชั้นนำหลายแห่งในญี่ปุ่น ชี้ว่า ที่มาของชั่วโมงการทำงานยาวนานของญี่ปุ่นคือวัฒนธรรมและสังคม ซึ่งเป็นตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก
จากข้อมูลของกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการ มีบริษัทในญี่ปุ่นเพียง 8% ที่อนุญาตให้พนักงานหยุดสัปดาห์ละ 3 วันขึ้นไป
เคร็กที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมดั้งเดิมยอดนิยมของญี่ปุ่น อธิบายว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับงานเนื่องจากมองว่า งานเป็นส่วนที่ดีของชีวิต แต่สำทับว่า ความกดดันทางสังคมมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน
ตัวอย่างเช่น พนักงานที่กลับบ้านเร็วจะถูกเพื่อนร่วมงานมองด้วยสายตาตำหนิหรือต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อชดเชย ซึ่งไม่ทำให้รู้สึกดีเลยทั้งสองแบบ
มาร์ติน ชูลซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายของฟูจิตสึ ระบุว่า ที่ทำงานเป็นสถานที่ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้โต้ตอบทางสังคมมากที่สุด ที่ที่พนักงานมักขลุกอยู่นานกว่าเวลางานเพื่อช่วยทีม และร่วมสังสรรค์หลังเลิกงานจนดึกดื่นค่อนคืน
ชูลซ์สำทับกับซีเอ็นบีซีว่า การเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเกือบจะเหมือนการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ซึ่งมักส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงเวลาในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเสมอไป
เดือนตุลาคมปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่เอกสารปกขาวประจำปีว่าด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไปและความเชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้าและคาโรชิ (karoshi) หรือการทำงานหนักจนตาย ซึ่งระบุว่า ปี 2022 มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากภาวะคาโรชิ 2,968 คน เพิ่มขึ้นจาก 1,935 คนในปี 2021
รายงานดังกล่าวชี้ว่า ผู้ชาย 10.1% และผู้หญิง 4.2% ทำงานสัปดาห์ละเกิน 60 ชั่วโมง และเชื่อมโยงชั่วโมงการทำงานยาวนานนี้กับคาโรชิ
ฮิโรชิ โอโนะ ศาสตราจารย์ด้านทรัพยากรมนุษย์ของมหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ บอกว่า อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่แนวทางการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันจะแพร่หลายในญี่ปุ่น
โอโนะยังตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่ใช้แนวทางการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันไม่ใช่บริษัทญี่ปุ่นดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ เจแปน
ขณะเดียวกัน เมื่อปี 2022 พานาโซนิก หนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เสนอตัวเลือกการทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน แต่ปรากฏว่า มีพนักงานที่มีสิทธิ์เพียง 150 คน จากทั้งหมด 63,000 คนที่เลือกตัวเลือกนี้
บริษัทโบรกเกอร์ เอสเอ็มบีซี เสนอตัวเลือกการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันนับจากปี 2022 แต่จำกัดสำหรับพนักงานอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ต้องดูแลครอบครัวหรือพัฒนาอาชีพ รวมทั้งยังต้องทำงานมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี
แม้อัตราการยอมรับต่ำ แต่ชูลซ์จากฟูจิตสึบอกว่า แผนการริเริ่มของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนในแง่ความยืดหยุ่นโดยรวม และเสริมว่า รัฐบาลผลักดันให้บรัษัทต่างๆ พยายามมากขึ้นในการสร้างสมดุลชีวิตกับการทำงานที่ไม่อนุญาตการทำงานล่วงเวลาไม่มีที่สิ้นสุดอีกต่อไป
นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังบอกกับซีเอ็นบีซีว่า คาโรชิไม่ใช่ปรากฏการณ์พิเศษเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ตัวอย่างเช่นในปี 2019 พนักงานในสวีเดนกว่า 770 คนเสียชีวิตจากความเครียดในการทำงาน
โอโนะทิ้งท้ายว่า สิ่งเดียวที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นคือ กระทรวงแรงงานรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคาโรชิอย่างจริงจัง