xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟโชว์ความคืบหน้า 5 โครงการหนุนกรมประมงจัดการปลาหมอคางดำ จับมือกรมราชทัณฑ์ทำน้ำปลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การปฏิบัติการของหลายภาคส่วนโดยเฉพาะกรมประมงยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันกำจัด และลดจำนวนปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ของประเทศไทยให้หมดไป ในส่วนของภาคเอกชนอย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)​ หรือ​ ซีพีเอฟ โชว์ผลการดำเนินงาน 5 โครงการสนับสนุนกรมประมงมีความคืบหน้า ที่ผ่านมารับซื้อเพื่อผลิตปลาป่นแล้ว 1,500,000 กิโลกรัม สนับสนุนประมงจังหวัดจัดกิจกรรมการจับปลาใน 17 จังหวัด ร่วมกับสถาบันการศึกษาพัฒนาแปรรูปอาหารและหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ ล่าสุด ซีพีเอฟได้ขยายความร่วมมือกับกรมประมงและกรมราชทัณฑ์ คิกออฟโครงการจับปลาหมอคางดำทำน้ำปลา พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ต้องขังใช้เป็นทักษะอาชีพด้วย โดยนำร่องที่เรือนจำกลางสมุทรสงครามเป็นแห่งแรก


ตามที่บริษัทได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกร และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากปลาหมอคางดำ จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ ซีพีเอฟได้เดินหน้า 5 โครงการจัดการปัญหาปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนและร่วมมือกำจัดออกจากแหล่งน้ำทุกแห่ง ตามแนวทางของนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ที่มุ่งนำศักยภาพมาสนับสนุนกรมประมงในการดำเนินมาตรการเพื่อจัดการปลาหมอคางดำอย่างบูรณาการ ซึ่งที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการในทุกมาตรการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัญหาคลี่คลายอย่างรวดเร็ว โครงการแรก รับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อผลิตปลาป่น จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงงานศิริแสงอารำพี ในจังหวัดสมุทรสาคร รับซื้อปลาหมอคางดำในการผลิตปลาป่นจากในสมุทรสาคร และพื้นที่อื่นๆ ในสมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี สามารถรับซื้อปลาหมอคางดำรวมทั้งสิ้นแล้ว 1,500,000 กิโลกรัมและยังรับซื้อต่อเนื่อง


โครงการที่ 2 ร่วมสนับสนุนกรมประมงกำจัดลูกปลาหมอคางดำ โดยสนับสนุนปลานักล่าเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว ซึ่งตอนนี้บริษัทส่งมอบปลากะพงขาวขนาด 4-5 นิ้วแล้ว 70,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ระยอง และจันทบุรี และในเดือนกันยายนนี้ ซีพีเอฟส่งมอบปลานักล่าอีก 19,000 ตัวเพื่อนำไปปล่อยลงสู่แหล่งในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ สมุทรปราการ ระยอง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา การสนับสนุนปลานักล่าจะดำเนินการตามแนวทางของกรมประมง เพื่อให้การกำจัดลูกปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด


โครงการที่ 3 เร่งกำจัดปลาออกจากแหล่งน้ำ โดยร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำ หรือ “ลงแขกลงคลอง” โดยบริษัทให้การสนับสนุนทั้งเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ทั้งอวน แห กากชา ตลอดจน อาหาร และน้ำดื่มสำหรับผู้ร่วมกิจกรรม ซึ่งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา บริษัทร่วมมือกับกรมประมงลงพื้นที่ปฏิบัติการไล่ล่าปลาหมอคางดำแล้วร่วม 40 ครั้งใน 17 จังหวัด สามารถจับปลาออกจากแหล่งน้ำได้รวม 27,000 กิโลกรัม กิจกรรมจับปลามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนและหน่วยงานอื่น ๆ มาร่วมช่วยจับปลาในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง


สำหรับโครงการที่ 4 และโครงการที่ 5 ซึ่งเป็นการสนับสนุนและร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ เร่งหาแนวทางการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ รวมถึงการวิจัยหานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ช่วยควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำ ขณะนี้ บริษัทได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ส่งเสริมให้ประชาชนนำนวัตกรรม “กล้าเชื้อปลาร้า” ช่วยลดระยะเวลาในการหมักปลาได้มากกว่า 50% ไม่ต้องรอนาน 1-2 ปี และร่วมสนับสนุนสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)​ เตรียมนำเทคโนโลยี eDNA มาใช้สำรวจจำนวนประชากรปลาในแหล่งน้ำช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมประชากรปลาในระยะยาว


นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังขยายความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุนถังพลาสติกใช้แล้วจากโรงงานอาหารสัตว์กว่า 200 ใบเพื่อให้สำนักงานพัฒนาที่ดินใช้เป็นถังบรรจุน้ำหมักชีวภาพในโครงการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกร ของการยางแห่งประเทศไทย การสนับสนุนโรงเรียนทำน้ำหมักชีวภาพสำหรับโครงการปลูกผักอินทรีย์ เป็นต้น


ซีพีเอฟยังเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางที่มีศักยภาพในการจัดการปัญหาปลาหมอคางดำอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และช่วยสร้างสมดุลคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น