สนค.จัดประชาพิจารณ์ร่างแผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ. 2568-70 ที่ประกอบด้วย 5 แผนหลัก การพัฒนาการค้าของ SME การพัฒนาและยกระดับการส่งออก การค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร การค้าสินค้าอุตสาหกรรม และการค้าธุรกิจบริการ หลังผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน ยกร่างแผนเสร็จ เผยเมื่อได้แผนฉบับสมบูรณ์จะนำเสนอ “พิชัย” ก่อนส่งไปสภาพัฒน์พิจารณากลั่นกรอง และนำเสนอ ครม.พิจารณาเป็นแผนขับเคลื่อนต่อไป
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า สนค.ได้จัดการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ร่างแผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ. 2568-2570 ซึ่งประกอบด้วย 5 แผนหลัก ได้แก่ การพัฒนาการค้าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) การพัฒนาและยกระดับการส่งออกของไทย การค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การค้าสินค้าอุตสาหกรรม และการค้าธุรกิจบริการ หลังจากที่ สนค.ได้จัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จนสามารถทำแผนปฏิบัติการในแต่ละเรื่องได้สำเร็จ และนำมาสู่การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ทิศทางการพัฒนาการค้าของประเทศภายใต้ร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าว
สำหรับแผนปฏิบัติการเรื่องที่ 1 การพัฒนาการค้าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมโอกาสทางการค้าภายในประเทศ 2. การสร้างโอกาสการส่งออก 3. การพัฒนาความสามารถของธุรกิจ SME ทั้งทักษะการดำเนินธุรกิจ และการปรับตัวต่อการค้าโลกในปัจจุบัน และ 4. การพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ
2. การพัฒนาและยกระดับการส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมสินค้าและธุรกิจบริการที่ตอบสนองต่อเมกะเทรนด์ พัฒนาสินค้าโปรดักต์แชมเปี้ยนในระดับจังหวัด ท้องถิ่น ให้เป็นสินค้าส่งออก ตลอดจนกระจายตลาดส่งออกของไทยไปยังตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging market) มากขึ้น 2. ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งออก และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 3. สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานสินค้า และ 4. คุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ สร้างความเข้มแข็งและเป็นธรรมทางการค้า
3. การค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมการจัดการปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตรและโครงสร้างพื้นฐาน 2. การส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาทักษะผู้ประกอบการสินค้าเกษตร 3. การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มและการค้าสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 4. การส่งเสริมระบบตลาดสินค้าเกษตร เพื่อบริหารจัดการปริมาณและราคาสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และ 5. การอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์การเกษตร เพื่อกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และคงคุณภาพของสินค้าไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การค้าสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. การยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 2. การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน 3. การเร่งเสริมทักษะแรงงานให้สอดรับกับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และ 4. การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
5. การค้าธุรกิจบริการ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจบริการ 2. การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนเพื่อส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจบริการ 3. การพัฒนาคนในการขับเคลื่อนภาคบริการแห่งอนาคต และ 4. การส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบริการ
“หลังจากนี้ สนค.จะทำงานในขั้นตอนต่อไป เพื่อให้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติออกมาสมบูรณ์ และจะนำเสนอต่อนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนส่งไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณากลั่นกรอง และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามลำดับ และนำมาใช้เป็นแผนขับเคลื่อนการค้าของประเทศต่อไป” นายพูนพงษ์กล่าว