ทอท.ตั้งสอบวินัยร้ายแรง 4 พนักงาน 'สนามบินภูเก็ต' หลัง กก.สอบข้อเท็จจริงชี้มูลความผิด ปมจ้างพิมพ์สติกเกอร์เฉลิมพระเกียรติฯ ผิดระเบียบ “กีรติ” ยันไม่มีตัดตอน ไม่ยื้อ โทษสูงสุดไล่ออก ย้ำต้องดูรอบคอบ ด้านคนในหวั่นซ้ำรอย สอบแค่เป็นพิธีลดกระแส ชี้เคยมีตัวอย่างทุจริตให้ออกแล้ว สุดท้ายรับกลับมาทำงานอีก
จากที่ นสพ.ผู้จัดการรายวันได้นำเสนอข่าวกรณี ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ทุจริตประมูลจัดจ้างพิมพ์สติกเกอร์ซีทรู (See Through Sticker) เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมติดตั้ง ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้ชี้มูลความผิดพนักงานระดับบริหารจำนวน 4 คนที่เข้าข่ายกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และต่อมาได้มีคำสั่งโยกย้ายพนักงานทั้ง 4 ราย ให้เข้ามาปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ กอญ.มอบหมายแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2567
ตามขั้นตอน ทอท.จะดำเนินการตั้งคณะกรรมการลงโทษทางวินัยต่อผู้กระทำผิดและดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบ ทอท.ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การพ้นสภาพวินัย การดำเนินการทางวินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์ของพนักงาน พ.ศ. 2554 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งโทษสูงสุดคือไล่ออก
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2567 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยว่า ตนเพิ่งได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยมีนายเจนวิทย์ มุสิกรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานบัญชีและการเงิน) ทอท.เป็นประธาน สาเหตุที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงล่าช้าเพราะมีขั้นตอนและต้องผ่านคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ทอท.ด้วย
ทั้งนี้ ในคำสั่งได้กำหนดระยะเวลาสอบสวนวินัยร้ายแรงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งเรื่องนี้มีผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ชี้มูลความผิดไว้ชัดเจนแล้วเชื่อว่าจะไม่ล่าช้า และบทลงโทษสูงสุดคือ ไล่ออก โดยในการพิจารณาสอบวินัยร้ายแรงนั้น จะดูความผิดของแต่ละคน ทั้งเชิงนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพราะการตัดสินลงโทษ สูงสุดไล่ออกนั้น จะมีผลต่อประวัติชีวิตการทำงานของบุคคลนั้น
นอกจากดูความผิดทางพัสดุแล้ว ต้องดูมูลเหตุในการทำผิดด้วย จงใจทุจริตแค่ไหนอย่างไร มีการรับเงินหรือไม่ ดังนั้น ก็ต้องดูว่าการทำผิดของคนนั้นอยู่ในขั้นไหนและต้องลงโทษแค่ไหน เพราะบทลงโทษมีตั้งแต่ตัดเงินเดือน ให้ออก ไล่ออก เช่น คงไม่ใช่ว่าสอบข้อเท็จจริงบอกว่าผิดแล้วต้องไล่ออกทุกคน และเมื่อตัดสินว่าผิด ให้ไล่ออกแล้ว ยังจะต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการทางอาญาต่อด้วย
นายกีรติกล่าวว่า กรณีที่บริษัทเอกชนได้เข้าติดสติกเกอร์ซีทรูแล้วนั้น แต่ ทอท.ยังไม่มีการจ่ายค่าดำเนินการให้เอกชนแต่อย่างใด เนื่องจากคณะกรรมการตรวจรับพบว่าเอกชนไม่ได้ดำเนินการตามทีโออาร์ และเป็นการดำเนินการผิดขั้นตอน ไม่มีสัญญาจ้าง ซึ่งในส่วนของเอกชนหากเห็นว่าได้รับความเสียหาย เป็นสิทธิ์ของเอกชนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายได้
“เรื่องนี้ ทอท.จะต้องดำเนินการให้โปร่งใส ถูกต้อง ไม่มีการตัดตอน หรือเตะถ่วงแต่อย่างใด ส่วนตัวยืนยันไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ และในฐานะกอญ.ต้องนำเรื่องรายงานต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ยืนยันด้วยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะแม้สนามบินภูเก็ตจะดำเนินการภายใต้ ทอท. แต่ในฐานะกอญ.ได้มอบอำนาจขาดให้ผู้บริหารสนามบินภูเก็ตไปแล้ว” นายกีรติกล่าว
รายงานข่าวจาก ทอท.เปิดเผยว่า กรรมการผู้อำนายการใหญ่ ทอท.ได้ลงนามในหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง กรณีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สนามบินภูเก็ตทุจริตจัดจ้างพิมพ์สติกเกอร์ซีทรูเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2567 หรือปล่อยให้ล่วงเลยมาเกือบ 1 เดือน หลังจากที่มีการสรุปผลสอบข้อเท็จจริง และชี้มูลความผิดพนักงานระดับบริหารจำนวน 4 คนไปตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567
การทุจริตดังกล่าว พนักงาน ทอท.ต่างเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำให้องค์กร เสียภาพลักษณ์อย่างมาก และต้องการให้มีการสอบสวนและลงโทษอย่างจริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมาหลายกรณีทุจริตที่มีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ทอท.เกี่ยวข้อง มีการสอบสวนผิดวินัยร้ายแรง เช่น กรณีอดีตพนักงานระดับบริหารสนามบินดอนเมืองมีการต่อสัญญารถชัตเติลบัสรับส่งโดยไม่เปิดประมูล ซึ่งผิดระเบียบ โดยผลสอบวินัยร้ายแรงสรุปผลให้ออก แต่ปรากฏว่าปัจจุบันพนักงานที่ถูกออกดังกล่าวสามารถกลับเข้ามาทำงาน ทอท.ได้อีก และล่าสุดได้เลื่อนระดับขึ้น ตามมติบอร์ด ทอท.เมื่อเดือน ส.ค. 2567 อีกด้วย