อีอีซี ลุยพัฒนา TOD รอบสถานีไฮสปีด 3 สนามบิน เดินหน้าโมเดลใช้ประโยชน์ที่ดิน 2 สถานี" ฉะเชิงเทราและพัทยา"เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ ลงทุนเกือบ 6.5 หมื่นล้านบาท เผยต้นปี 68 ออกNTP เริ่มสร้างสนามบินอู่ตะเภา และ EEC Capital City เฟสแรกเสร็จปี 72 รับ 12 ล้านคนต่อปี
วันที่ 6 ก.ย. 2567 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในจังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อเยี่ยมชมและติดตามการดำเนินงานโครงการสำคัญในพื้นที่อีอีซี การ พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่จะเสริมปัจจัยสำคัญสร้างความเชื่อมั่นในการเตรียมความพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูงในพื้นที่อีอีซีได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เข้าเยี่ยมชมที่ตั้งของศูนย์กลางโครงการศูนย์ธุรกิจและเมืองน่าอยู่ อีอีซี หรือ EEC Capital City บริเวณพื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี ซึ่งในอนาคตจะเป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะน่าอยู่มาตรฐานสากล ที่จะรองรับการลงทุนรวมประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท สร้างงานตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง มีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
สำหรับ การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่ประกอบด้วย 9 สถานี ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน หรือ TOD ที่จะสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ชุมชน และสังคม โดย อีอีซี ได้ดำเนินการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณรอบสถานี เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ เพื่อรองรับจำนวน 2 สถานี ในปี 2567
ได้แก่ การพัฒนา TOD บริเวณสถานีฉะเชิงเทรา พื้นที่ 321 ไร่ มีแนวคิดการพัฒนารวม 9 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 18,980 ล้านบาท แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน โครงการศูนย์สนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ระยะสั้น (5 ปี) โครงการศูนย์ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าชุมชน (OTOP) โครงการที่อยู่อาศัยชั้นดี อาคารสำนักงาน (home office) ระยะยาว (10 ปี) โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โรงแรมย่านการค้า เป็นต้น
และการพัฒนา TOD สถานีพัทยา พื้นที่ 280 ไร่ มีแนวคิดพัฒนารวม 7 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 46,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ระยะสั้น (1-5 ปี) โครงการศูนย์ขนส่งต่อเนื่อง (ITF) แบบ Mixed Use Complex ระยะยาว (6-10 ปี) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยย่านพาณิชยกรรมใหม่ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า (MICE) เป็นต้น โดย อีอีซี ได้รับฟังความคิดเห็นแนวทางการพัฒนา TOD เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนในพื้นที่และชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยกว่าร้อยละ 80 สนใจเข้าร่วมโครงการ และขณะนี้อยู่ระหว่างรอเสนอ คณะกรรมการ กพอ. เพื่อเห็นชอบ (ร่าง) แผนผังการใช้ประโยชนที่ดิน บริเวณรอบสถานีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ดังกล่าว และคาดว่าจะเสนอ ครม. ตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าในส่วนงานของภาครัฐ การส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ส่วนแรกให้กับภาคเอกชน (UTA) พื้นที่ประมาณ 3,550 ไร่ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ การเตรียมการเพื่อให้บริการทางเดินอากาศ โดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่สำหรับก่อสร้างอาคารหอบังคับการบินสูง 59 เมตร และอาคารระบบสื่อสาร ระบบช่วยเดินอากาศ ติดตามอากาศยาน (CNS) ปัจจุบันงานออกแบบแล้วเสร็จ
งานก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ทางขับ โดยกองทัพเรือ อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้าง และที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2568 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2571
ด้านงานระบบสาธารณูปโภคภายในสนามบินฯ งานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ดำเนินการแล้ว 26.48% โดยงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ก่อสร้างแล้ว 95.13% และเริ่มทดสอบระบบ งานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย ในส่วนการผลิตน้ำประปา ดำเนินการตามแผนแล้ว 100% งานระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ก่อสร้างคลังน้ำมันได้ตามแผน ความก้าวหน้าภาพรวม 50.84%
ในส่วนงานภาคเอกชน (UTA) คาดว่าจะสามารถแจ้งเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ได้ภายในต้นปี 2568 นี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างงานสำคัญ ๆ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรอง และศูนย์ธุรกิจการค้า เป็นต้น ซึ่งคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572 เฟสแกรองระบผู้โดยสารที่ 12 ล้านคนต่อปี
โดยการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะก้าวสู่ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค เป็นสนามบินนานาชาติที่ได้มาตรฐานโลก รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ภาคธุรกิจ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจ และเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี
โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ (EEC Capital City : EECiti) ปัจจุบันคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบการจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ บนพื้นที่ประมาณ 5,795 ไร่ สำหรับการพัฒนาระยะแรก และอยู่ระหว่างเสนอ ครม. เห็นชอบเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยอีอีซีมีแนวทางจะขอขยายเขตส่งเสริมฯ ดังกล่าว ให้ครบพื้นที่ประมาณ 14,619 ไร่ เพื่อให้รองรับการลงทุนในคลัสเตอร์ธุรกิจอุตสาหกรรม และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่สำคัญภายในโครงการ อาทิ ธุรกิจการแพทย์แม่นยำและการแพทย์อนาคต ธุรกิจ BCG ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยวและกีฬา เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งศูนย์การศึกษา วิจัย พัฒนาระดับนานาชาติ ศูนย์บริการทางการเงินแห่งอนาคต เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับคนทุกกลุ่ม นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะเข้ามาผสมผสานการบริหารจัดการในเมือง มีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและน้ำที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างเมืองน่าอยู่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีระดับมาตรฐานโลก ให้แก่คนอยู่อาศัยและพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืน
ความก้าวหน้าดำเนินงานขณะนี้ อีอีซี มีแผนจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากโครงการฯ ในพื้นที่ระยะแรกดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 นี้ รวมทั้งการพัฒนาเมือง EEC Capital City จะเร่งขับเคลื่อนในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ที่ประสานกับ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อบริการจัดการน้ำให้รองรับเพียงพอภายในโครงการฯ ประสานกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เพื่อการศึกษาออกแบบ ก่อสร้างโครงข่ายถนนทั้งภายนอก และเชื่อมต่อภายในโครงการฯ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เอกชนเข้าลงทุนพัฒนาพื้นที่ธุรกิจเป้าหมายในโครงการต่อไป โดยอีอีซี มีแนวทางจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนา ในรูปแบบ PPP เพื่อลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ในช่วงปลายปี 2568 และคาดว่าจะสามารถเริ่มเข้าปรับพื้นที่ ก่อสร้าง ภายในปี 2569 รวมทั้งได้มีแนวคิดที่จะตั้ง บริษัท พัฒนาเมือง ในลักษณะ EEC Holding เพื่อร่วมบริหารจัดการและพัฒนา EEC Capital City โดยคาดว่าการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด จะสามารถเปิดดำเนินการในช่วงแรก ได้ภายในปี 2572 ซึ่งจะสอดคล้องกับระยะเวลาที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ จะก่อสร้างแล้วเสร็จ