xs
xsm
sm
md
lg

AOTGA เปิด ‘ศูนย์มัลติโมดอล’ ขนส่งผ่านศุลกากรจุดเดียว ลั่นพร้อมชิง’บริการภาคพื้น-คาร์โก้’สุวรรณภูมิหวังรายได้ทะลุ 6 พันล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



AOTGA เปิด ‘ศูนย์มัลติโมดอล’ สุวรรณภูมิ ขนส่งสินค้าทุกรูปแบบผ่านด่านศุลกากรจบในจุดเดียวแห่งแรกของไทย เป้า 4-5 หมื่นตัน ปีแรกหวังรายได้ 80 ล้านบาท ลั่นพร้อมชิง “บริการภาคพื้น-คาร์โก้” สุวรรณภูมิรายที่ 3 หวังดันรายได้รวมทะลุ 6 พันล้านบาท

วันที่ 5 กันยายน 2567 บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA ซึ่งเป็นบริษัทลูก ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) และกรมศุลกากร ร่วมกันเปิดตัว ‘ศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า’ หรือ ‘Multimodal Transportation Center’ (มัลติโมดอล ทรานสปอร์ตเทชัน เซ็นเตอร์) ศูนย์บริการขนส่งสินค้าผ่านแดนครบวงจรรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ พร้อมดำเนินพิธีการศุลกากรได้เบ็ดเสร็จในที่เดียว ณ เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (โซน 3) เป็นครั้งแรกในไทย โดยจับมือกับ 3 บริษัทใหญ่ ได้แก่ บริษัท เฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (FedEx), บริษัท ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ( DHL) และ บริษัท เอเชีย กราวด์ เซอร์วิส จำกัด (AGS) สามารถรองรับปริมาณการขนส่งได้กว่า 50,000 ตันต่อปี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยสู่การเป็น Aviation Hub ของภูมิภาค  

นายสิริวัฒน์ โตวชิรกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (บพท.) หรือ AOTGA (ออทก้า) ผู้ให้บริการภาคพื้นท่าอากาศยาน และบริการคลังสินค้าในท่าอากาศยาน (Cargo Terminal) เปิดเผยว่า จากที่กรมศุลกากรได้อนุญาตให้ ทอท.เป็นผู้จัดตั้งศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า และ ทอท.ได้มอบหมายให้ AOTGA ในฐานะบริษัทลูก เป็นผู้ดำเนินการศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้านั้น วันนี้ AOTGA ได้เปิดตัว ‘ศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า’ หรือ ‘Multimodal Transportation Center’ ณ เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (โซน 3) อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในไทย โดยมีจุดเด่นผนวกรูปแบบการขนส่งทุกประเภท ทั้งทางบก ราง น้ำ อากาศ การรวมตู้สินค้า และการเก็บรักษา พร้อมดำเนินพิธีการทางศุลกากรเบ็ดเสร็จในจุดเดียว สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ หนุนการเติบโตของ E-Commerce ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอย่างแท้จริง นับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน


AOTGA ใช้งบลงทุนกว่า 150 ล้านบาท ในการปรับปรุงพื้นที่กว่า 4,872 ตารางเมตร และติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ และแบ่งพื้นที่ให้บริการ 2 ส่วน ได้แก่ 1. Fixed Area ขนาด 2,368 ตารางเมตร พื้นที่สำหรับผู้ประกอบการขนส่งภาคเอกชนที่เป็นผู้ร่วมประกอบกิจการศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า ทั้ง 3 ราย และ 2. Public Area ขนาด 1,184 ตารางเมตร เป็นส่วนที่ AOTGA ให้บริการเอง

ทั้งนี้ ตั้งเป้าให้บริการกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนส่งทั้งในและต่างประเทศที่เป็นตัวแทนในการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) และผู้ประกอบการของเร่งด่วน (Express Consignment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นจากการมุ่งเน้นใช้ประเทศไทยเป็น HUB ในกลุ่มประเทศ CLMV และโฟกัสไปยังกลุ่มสินค้า E-Commerce จากปัจจัยเกื้อหนุนด้านการบิน และเครือข่ายการบินที่เชื่อมโยงสู่ทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะทวีปยุโรป

นอกจากนี้ AOTGA ยังได้นำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาให้บริการในศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า เช่น ระบบติดตามทางศุลกากรจากด่านศุลกากรมายังศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้าด้วยระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ (E-lock System) และระบบควบคุมสินค้าคงคลัง (E-Inventory)


@ตั้งเป้าปีแรกสินค้า 4-5 หมื่นตัน สร้างรายได้ 80 ล้านบาท

นายสิริวัฒน์กล่าวว่า ศูนย์มัลติโมดอล ในส่วนพื้นที่ Public Area ที่ AOTGA ดำเนินการเองนั้นเบื้องต้นมี Freight Forwarder เป็นลูกค้าแล้วประมาณ 10 ราย โดยคาดการณ์ในปี 2568 จะมีปริมาณขนส่งที่ 40,000-50,000 ตัน มีรายได้จากโครงการนี้ประมาณ 80 ล้านบาท ทั้งจากค่าบริการ และจากค่าธรรมเนียมใช้พื้นที่คาดว่าจะคุ้มทุนในปีที่ 7-8

ทั้งนี้ หากรวมกับส่วน Fixed Area ที่เอกชน 3 รายให้บริการคาดว่าจะมีปริมาณขนส่งมากกว่า 1 แสนตัน จะประเมินผลในช่วง 6 เดือนแรก เพราะจะมีการทำโปรโมชันเพื่อจูงใจลูกค้า เอเยนต์ต่างๆ ให้เข้ามาใช้บริการ และนำข้อมูลมาพิจารณาว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้างหรือจำเป็นต้องขยายพื้นที่เพิ่มหรือไม่ เชื่อมั่นว่าหากลูกค้าได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำลง จะมาใช้บริการมากขึ้น


@พร้อมชิง “บริการภาคพื้น-คาร์โก้” สุวรรณภูมิ คาดดันรายได้โตเท่าตัว

นายสิริวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัท AOTGA ให้บริการภาคพื้น และคลังสินค้า ที่สนามบินภูเก็ต ดอนเมือง และบริการทำความสะอาดสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท. โดยคาดการณ์ปี 2567 มีรายได้รวมที่ 3,000 ล้านบาท (บริการภาคพื้น ประมาณ 2,500 ล้านบาท ทำความสะอาด 400-500 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีรายได้รวมประมาณ 2,700 ล้านบาท กำไรประมาณ 500 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 10-15% ส่วนปี 2568 คาดการณ์รายได้รวมอยู่ที่ 3,800 ล้านบาท (บริการภาคพื้นประมาณ 3,400 ล้านบาท ทำความสะอาด 400-500 ล้านบาท) เนื่องจากเที่ยวบินเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสนามบินภูเก็ตที่เป็นฐานใหญ่ของบริษัท จะเข้าช่วงไฮซีซันเดือน ต.ค.67-ม.ค. 68)

ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าประมูลผู้ให้บริการภาคพื้นดิน สนามบินสุวรรณภูมิรายที่ 3 ซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ในการให้บริการที่สนามบินภูเก็ต และหากได้รับคัดเลือกจะมีการลงทุนจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทจะเข้าร่วมประมูลให้บริการคลังสินค้า (คาร์โก้) ที่สุวรรณภูมิด้วย รอ ทอท.เปิดประมูล ซึ่งหากได้ 2 กิจกรรมนี้จะทำให้รายได้เติบโตก้าวกระโดดไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านบาทต่อปี แน่นอน


ด้านนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร กล่าวว่า การจัดตั้ง ‘ศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า’ ณ เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (โซน 3) นี้ จัดตั้งขึ้นตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 115/2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งนับเป็นความร่วมมือที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่จะช่วยสนับสนุนกระบวนการนำเข้าและส่งออกสินค้าให้ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร ทำให้ Ecosystem มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมศุลกากรมีความยินดีให้การสนับสนุนภาคเอกชนและตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค


เดิมภายในสนามบินมีกิจกรรมการนำเข้า ส่งออก แต่ศูนย์มัลติโมดอลนี้จะรวมกิจกรรมให้บริการ ทั้งนำเข้า ส่งออก การผ่านแดน การเก็บรักษา รวมบรรจุ แยกบรรจุ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบขนส่ง สินค้ามาจากรถ เครื่องบิน หรือเรือ สามารถมารวมหรือแยกและผ่านแดน และจัดส่งต่อไปได้ในขนส่งทุกโหมด เป็นบริการแบบพรีเมียม ที่นอกจากจะเพิ่มรายได้แล้ว จะทำให้สุวรรณภูมิเป็นฮับในการกระจายสินค้าของภูมิภาคได้

“หลังโควิด การขนส่งทางอากาศเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และปรับเปลี่ยน ขนาดพัสดุมีหีบห่อเล็กลง สามารถรวมสินค้าได้ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ต่างคนต่างไป ทั้งที่เป้าหมายเดียวกัน ซึ่งกรมศุลกากรมีหน้าที่อำนวยความสะดวก หากมีข้อเสนอจากเอกชนและสามารถดำเนินการได้จะสนับสนุนเต็มที่ ตราบใดที่สามารถควบคุมสินค้าได้ตามระเบียบและมีความปลอดภัย”
กำลังโหลดความคิดเห็น